xs
xsm
sm
md
lg

‘มาตรา 112’ และรัฐธรรมนูญมาตรา 8

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ไม่มีใครคัดค้านหรอกหากจะเป็นการรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ แต่หากจะรณรงค์ให้ยกเลิกไปเลยนั้น ก็ต้องมาถกกันด้วยเหตุด้วยผลเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันก่อน

ในฐานะที่ผมเคยเป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการอื่นในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาศึกษาความเป็นมาจุดแข็ง จุดอ่อน ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้มามากต่อมาก ก็อยากจะนำข้อมูลบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ

และเป็นตัวบทกฎหมายที่ดำเนินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 8 มาตราแรกในหมวดพระมหากษัตริย์

มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้


ถ้าจะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็จะเป็นอันไร้ความหมาย เพราะเท่ากับเขียนไว้ลอยๆ ไม่มีบทลงโทษ

หรือว่าผู้รณรงค์บางส่วนเห็นควรยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ด้วย???

ใครจะร่วมลงชื่อในการรณรงค์อะไรก็ควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ คนบางคนเสนอไปไกลกว่ายกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เลยเถิดไปถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เฉพาะบางคนนั้นถึงกับแสดงความชื่นชมพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีมาตรา 6 ระบุให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยคดีที่พระมหากษัตริย์ถูกกล่าวหา

โปรดสังเกตคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 8 วรรคแรกนี้ให้ดี !

มาตรา 8 นี้ ด้านหนึ่ง เป็นมาตรฐานสากล ในฐานะบทบัญญัติคุ้มครองการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยทั่วไป มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นด้วย อีกด้านหนึ่ง เป็นมาตรฐานเฉพาะของประเทศไทยที่มีที่มาจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีบทบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนพระองค์ด้วย

นี่คือลักษณะเฉพาะลักษณะพิเศษของประเทศไทย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และฉบับก่อนๆ ทุกที่ทุกมาตราที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉยๆ มีอยู่ที่เดียวมาตราเดียวคือมาตรา 8 วรรคแรกนี้เท่านั้นที่ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่เขียนเกิน เขียนผิด แต่เป็นความจงใจ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 17 – 18 ฉบับที่มีมา ทั้งถาวร และชั่วคราว จงใจใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในมาตรานี้ที่เดียวทั้งนั้น

จะมียกเว้นฉบับเดียวก็คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2515 ที่ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนกันในทุกมาตรา

ที่ “เกือบไป” ก็คือรัฐธรรมนูญ 2534 ในวาระที่ 1 – 2 ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนกันในทุกมาตรา

มาแก้ไขได้หวุดหวิดในวาระที่ 3 ให้ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” เฉพาะในมาตรา 8


การถกเถียงในช่วงเวลานั้น แม้จะเป็นการภายใน ก็ทำให้ได้รับรู้หลักการเฉพาะของรัฐธรรมนูญไทยที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้สูงส่ง คุ้มครองพระองค์ทั้งฐานะผู้ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่ง และทั้งในฐานะส่วนพระองค์

หลักการสากลนั้นกฎหมายสูงสุดของทุกประเทศคุ้มครองประมุขแห่งรัฐว่าจะถูกฟ้องร้องมิได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี ประธานประเทศ หรือตำแหน่งชื่ออื่นๆ จะมียกเว้นไม่คุ้มครองก็แต่ใน 2 เงื่อนไข

หนึ่ง - คือเมื่อพ้นตำแหน่งออกไปแล้ว หรือเมื่อกระทำการใดไปในฐานะส่วนตัว

สอง – คือเมื่อประเทศนั้นลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสละสิทธิ์การคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ

แต่หลักการเฉพาะของประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอดนั้น ให้ความคุ้มครองพระองค์เพิ่มขึ้นในฐานะ “ส่วนพระองค์” ด้วย

จำภาษาวิชาการที่นักวิชาการท่านมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ มาพูดต่อเสียหน่อยว่า....

ไม่เฉพาะคุ้มครองแต่สถานะ The King หรือ The Crown เท่านั้น แต่คุ้มครองไปถึงสถานะ The Person of the King หรือ The Person of the Crown ด้วย!

หลักการเฉพาะนี้อย่าว่าแต่เราๆ ท่านๆ ที่ไม่เคยรู้เลยครับ แม้ในแวดวงนักกฎหมายระดับปรมาจารย์ และบุคคลที่รับใช้ใกล้ชิดราชบัลลังก์ ยังลืมเลือนไปในช่วงปี 2534 ขณะมีการร่างรัฐธรรมนูญ

ถกเถียงกันแต่ว่าสมควรเขียนกฎหมายให้เป็น “พระมหากษัตริย์” ให้เหมือนกันหมด ไม่ต้องมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” เพราะรกรุงรัง และฟังแล้วเหมือนคำว่า “นักองค์...” ของประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งของประเทศไทย

คนที่ออกแรงคัดค้านอย่างหนักในช่วงนั้นให้คงใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในมาตรา 8 เข้าใจว่ามีหลายคน เป็นการคัดค้านและเคลื่อนไหวทำความเข้าใจกับผู้หลักผู้ใหญ่เป็นการภายใน

เท่าที่ผมทราบก็มีดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น 2 กำลังสำคัญ ทราบมาว่าทั้งสองได้กราบเรียนทำความเข้าใจกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านอย่างไม่เป็นทางการ

รวมทั้งท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น!

และที่สุดความรู้ความเข้าใจที่อาจจะเลือนไปบ้างตามกาลเวลาก็ได้รับการส่งผ่านไปยังท่านโอสถ โกศิน ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคนั้น

คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” จึงยังคงอยู่ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2534 ได้อย่างหวุดหวิดในวาระที่ 3!

เป็นคำคำเดียวที่มีความหมายยิ่งใหญ่!!

ระหว่างการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในพระราชสถานะเดียว คือ ในพระราชสถานะประมุขแห่งรัฐ กับการคุ้มครองอีกพระราชสถานะหนึ่ง คือ รวมในพระราชสถานะส่วนพระองค์ด้วย มีความแตกต่างกันมาก

ลักษณะพิเศษของประเทศไทยตรงนี้มีที่มาจากลักษณะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว

มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่รักษาไว้??
กำลังโหลดความคิดเห็น