xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ครัวเรือนพุ่งสุดรอบ 5 ปี มีหนี้ 1.4 แสนบาทต่อบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เศรษฐกิจแย่ ทำสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่ง 28% สูงสุดในรอบ 5 ปี หากคิดเฉลี่ยเป็นรายครัวเรือนจะมีหนี้ครอบครัวละ 1.4 แสนบาท เหตุคนชักหน้าไม่ถึงหลัง ชี้คนมีรายได้ต่ำ มีโอกาสพังก่อน เพราะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก ต้องพึ่งแหล่งเงินนอกระบบ มีความเสี่ยงถูกโขกดอกเลือดสาด จับตาหนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ หลังเศรษฐกิจไม่เห็นทางฟื้นตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,202 ราย ระหว่าง 18-23 ก.พ.2552 ว่า ขนาดหนี้ครัวเรือนรวมในเดือนก.พ. มีทั้งสิ้น 2,624,181 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 143,476 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนส.ค.2551 ที่มี 135,166 บาท ถึงครัวเรือนละ 8,000 บาท และมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 27.88% มากที่สุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2547 ที่มีสัดส่วนหนี้ที่ 29.87%

ทั้งนี้ ประชาชน 58.4% ระบุว่ามีหนี้เพิ่มจาก 6 เดือนก่อนที่มี 45.7% ที่สำคัญประชาชนกว่า 66.8% ระบุว่ามีปัญหาในการชำระหนี้แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนก่อนที่มีเพียง 64.5% โดยวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมถูกนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 46.54% เพื่อสุขภาพ 21.47% ค่าพาหนะ 17.57% ลงทุน 8.04% และค่าที่อยู่อาศัย 6.15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ 45.59% หนี้นอกระบบ 29.12% และหนี้ทั้งในและนอกระบบ 25.29% แต่แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น 59.85% ขณะที่หนี้ในระบบเพิ่มเพียง 57.43%

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชน 59.76% ระบุว่ามีหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ แต่มีหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้เพียง 19.70% และที่เหลือมีหนี้พอๆ กับรายได้”นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนหนี้ 28% ต่อจีดีพี ยังไม่ใช่เรื่องอันตราย ยังไม่เป็นปัญหาระดับชาติ แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะขนาดเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มแย่ จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2551 ติดลบ 4.3% มีคนตกงาน 700,000 คน หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มถึง 8,000 บาท และถ้าจีดีพีติดลบถึงไตรมาส 3 และคนตกงานเพิ่มเป็น 1.2-1.3 ล้านคนอย่างที่คาด เกรงว่าหนี้ต่อจีดีพีจะเพิ่มถึง 29-30% จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.-ก.ค. ที่คนจะใช้เงินมากช่วงเปิดภาคเรียน และมีปัญหาคนตกงานมากขึ้น อีกทั้งปัญหาหนี้ครั้งนี้ มีสัญญาณน่ากลัวกว่าปี 2547 เพราะตอนนี้คนชักหน้าไม่ถึงหลังจึงต้องกู้เพื่อใช้จ่าย ต่างจาก 5 ปีก่อนที่คนกู้เพื่อใช้ลงทุน ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า กลุ่มที่เผชิญปัญหาหนี้สินมากสุด คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท เพราะมีหนี้สูงกว่ารายได้ และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบน้อย ทำให้ส่วนใหญ่ต้องหันไปกู้นอกระบบ ผ่านนายทุน คนรู้จัก โรงรับจำนำ ซึ่งถูกเก็บดอกเบี้ยสูง และเสี่ยงจะถูกตามทวงหนี้โหด อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนมองว่า การก่อหนี้อนาคตลดลงและมีรายได้เพิ่ม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจก่อน ประชาชนมองในเชิงบวกเช่นกัน แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริงหนี้ยังเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกระบบอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจยังตกต่ำ คนมีรายได้ลด และสินค้าแพงขึ้น

ส่วนผลสำรวจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คนยังมีความเชื่อมั่นน้อย 39.5% น้อยที่สุด 13.9% เท่าเดิม 22.6% มาก 23.2% ไม่เชื่อมั่นเลย 0.6% และพบว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ทำให้คนใช้จ่ายมากขึ้นโดย 50.3% จะใช้จ่ายเท่าเดิม ใช้จ่ายเพิ่มเพียง 31.6% และน้อยลง 17.4% ส่วนความพอใจต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อย รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วย โดยเฉพาะมาตรการแจกเงิน 2,000 บาท ที่คนเข้าถึงคนเพียง 30.9% แต่ไม่ได้รับ 69.1% ในจำนวนนี้คนที่ได้รับเงินยังเห็นว่า ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายน้อยเพียง 53.4% เท่าเดิม 24.2% มาก 22.1%

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลต้องเร่งดูแล คือ การหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้มีรายได้ต่ำ ผ่านโครงการธนาคารประชาชน กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดการก่อหนี้นอกระบบ เพราะประชาชนจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยแพง และเสี่ยงมีปัญหาสังคมเพิ่มตามมา ขณะเดียวกันจะต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายเม็ดเงิน สร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงเดินหน้าโครงการเมกะ โปรเจค์ การค้าชายแดน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มคนจะใช้จ่ายลดลง เพราะของแพง กังวลปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้มีการออมเงินเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น