xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 6.7 แสน ล.พัฒนาโลจิสติกส์ หวังลดต้นทุนการผลิต-ฟื้นฟูศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลไฟเขียวแผนลงทุนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 5ปี วงเงิน 6.76 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลาง หวังลดต้นทุน-เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว หลังจากโลจิสติกไทยถูกสิงคโปร์-มาเลย์ทิ้งห่าง “กอร์ปศักดิ์”สั่งก. อุต-คมนาคม ศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 2/2552 หรือ ระบบโลจิสติกส์วานนี้(25 ก.พ.) เป็นครั้งแรกในรัฐบาลผสมซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล

นายกอร์ปศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯได้รับทราบประมาณการกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นการพัฒนาโลจิสติกส์ 5ปี ( 2552- 2556 ) ประมาณ 676,065 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ ซึ่งแผนการลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้กรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลาง

กรอบวงเงินลงทุนดังกล่าว จำแนกตาม 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต วงเงิน 2197 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ 672377 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ 198 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การปรับปรุงอำนวยความสะดวกการค้า 934 ล้านบาท และยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังและข้อมูลด้านโลจิสติกส์ 354 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ คือ การแก้ไขปัญหาระยะสั้นของธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะการหดตัวของภาคการส่งออกในปัจจุบัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมมาตรการรองรับแก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในเรื่องสภาพคล่อง การรักษาสถานภาพการจ้างงาน และการฝึกอบรมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การก่อสร้างทางคู่ เส้นทางสายตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา –ศรีราชา –แหลมฉบัง การจัดหาหัวรถจักร 7 คัน และแคร่บรรทุกสินค้า 308 คันการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนและจัดตั้งระบบ NSW เป็นต้น

เร่งรัดโครงการลงทุนใหม่ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ในเส้นทางที่มีการขนส่งหนาแน่น การบูรณะ บำรุงเส้นทางเดินรถไฟ ก่อสร้าง ICD พัฒนาทาเทียบเรือชายฝั่ง พัฒนาโครงข่ายทางหลวงและ มอร์เตอร์เวย์ และพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นต้น การปรับปรุงด้านการบริหารจัดการ กฎระเบียบ บุคลากรและระบบข้อมูลโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการลงทุนใหม่นั้น จะต้องพิจารณาตามลำดับความสำคัญของโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และการสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที และ ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ

สั่งก.อุตฯ-คมนาคมศึกษาการพัฒนาอุตฯรถไฟฟ้า

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมฯได้พิจารณาสรุปผลการหารือรายละเอียดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินตามติ ครม.วันที่ 27 พ.ค.2551 ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ

“ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง”

รายงานข่าวแจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคมจึงขอนำรายละเอียดที่ทาง รฟม.สรุปไว้ไปศึกษาก่อนเสนอที่ประชุมอีกครั้ง

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทางคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มีความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและรฟม.ได้จัดการประชุมว่าด้วยเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก 7 บริษัท ได้แก่ CNR Changchun Railway Vehicles, Siemens (Thailand), Mitsui & Co (Thailand), K&O Association, Alstom Transport, Sumitomo Cooperation Thailand และ Bombadier Transportation Signal (Thailand) ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม รฟม. สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

รฟม.แจง ทั้งระบบใช้รถไฟ 1,000 คัน

รายงานข่าวแจ้งว่า รฟม. ชี้แจงว่า ปริมาณรถไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการขยายเส้นทางในสายสีม่วง สีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวเข้มและเขียวอ่อน อยู่ที่ 324 คัน แต่หากคิดรวมทุกโครงการของรฟม.และรถไฟชานเมืองแล้ว ต้องใช้รถไฟถึง 1,000 คัน และด้วยปริมาณรถไฟฟ้าที่ต้องการมากขึ้นนี้เองทำให้ หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าควรมีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศ แทนการนำเข้า ซึ่งหากมีการตั้งโรงประกอบในประเทศจะสามารถใช้อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนโดยโรงงานในประเทศได้ ทำให้ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ รฟม. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าแผนการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าควรเร่งดำเนินการ ไม่เช่นนั้นอาจสูญเสียโอกาส เนื่องจากเวียดนามเองกำลังสร้างรถไฟฟ้าระหว่างเมืองโฮจิมินซิตี้และฮานอย อีกทั้งยังส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ทางด้านผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็เชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพมากพอที่จะตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้าที่นี่ ทั้งทางด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้น และส่วนสนับสนุนอื่นๆ จากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และอิเล็กโทรนิกส์ที่สำคัญในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ผู้ผลิตต้องใช้ประกอบการตัดสินใจนั้น คือ เรื่องความชัดเจนของนโยบายการซื้อรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ แผนและระยะเวลาในการก่อสร้าง รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ หากรัฐบาลสามารถการันตีได้ จะช่วยสร้างความมั่นใจของให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น และนอกจากนี้หากเราพัฒนาขึ้นเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าในภูมิภาคได้ การพัฒนาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องก็จะตามมาเช่นกัน

เร่งผุดรถไฟฟ้า 4 สาย สั่งคลังหาช่องกู้เงิน

รายงานข่าว แจ้งด้วยว่า ผลการประชุมหารือเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีผลการหารือสรุปได้ ดังนี้ เห็นควรเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 2) โครงการรถไฟสาย สีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และ 4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวบลำโพง-บางซื่อ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กำหนดกลไกการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ ยังมอบหมายกระทรวงการคลังตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการ ลงนามในสัญญากู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

โลจิสติกส์สิงค์โปร์-มาเลย์ทิ้งห่างไทยหลายขุม

รายงานขาวแจ้งว่า ที่ประชุมยังรับทราบดัชนีโลจิสติกส์ ในปี 2550 ของธนาคารโลกซึ่งได้ประเมินใน 7ด้านพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก150ประเทศ โดยประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 1และ 27 โดยในปี 2550 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ต่อ GDP ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยุ่ในระดับ 9-11 โดยที่ประชุมเห็นว่าควรพิจารณาองค์ประกอบต้นทุนโลจิสติกส์ในรายละเอียดและเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เพื่อให้ทราบว่าต้นทุนส่วนใดของไทยที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น