ASTV ผู้จัดการายวัน - รัฐบาลเวียดนามได้แสดงท่าทีสนใจระบบรถไฟความเร็วสูงของค่ายยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ TGV ของฝรั่งเศส รองนายกรัฐมนตรีฮว่างจุงหาย (Hoang Trung Hai) ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาและสรุปรายงานของบริษัทที่ปรึกษา และนำเสนอต่อรัฐบาลภายในเดือน มี.ค.นี้
เวียดนามได้ตัดสินใจสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อบริการขนส่ง ระหว่างกรุงฮานอยเมืองหลวงกับนครโฮจิมินห์ นครใหญ่ที่สุดและยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศในภาคใต้ และมีแนวโน้มว่าจะเลือกใช้ระบบชินกันเซน (Shinkansen) ของญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้หยิบยื่นให้การช่วยเหลือเพื่อให้โครงการลุล่วง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันกันดีว่าบริษัทจากฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ให้ความสนใจและติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิดตลอดมา แม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการสำรวจศึกษาก็ตาม
“โครงการนี้จะต้องช่วยเกื้อหนุนระบบขนส่งและการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวียดนาม” หนังสือพิมพ์ฮานอยไทมส์อ้างคำกล่าวของนายจุงหาย เมื่อวันพฤหัสบดี (19 ก.พ.)
สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มอาลสตอม (Alstom) ซึ่งเป็นผู้พัฒนารถไฟความเร็วสูง TGV (train ? grande vitesse) ได้เคยเสนอแผนการลงทุนสำรวจศึกษาต่อรัฐบาลเวียดนามมาแล้ว และยังได้หยิบยื่นความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบรถไฟที่ใช้ในปัจจุบันอีกด้วย
กลุ่มบริษัทรถไฟจากฝรั่งเศสอีกแห่งหนึ่งได้เสนอเข้าลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงฮานอย และยังคงติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ อย่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้มูลค่าก่อสร้างได้บานปลายจากประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อแรกเริ่มเป็น 57,000 ล้านดอลลาร์
บริษัทที่ปรึกษาที่จัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้เวียดนามเลือกใช้ระบบชินกันเซนที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศนั้น ด้วยเหตุผลมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในเวียดนามมากกว่า TGV กับ ICE (Intercity Express Train) ของเยอรมนี
รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจรถไฟเวียดนาม ที่เป็นเจ้าของโครงการนี้กับคณะกรรมการจากส่วนกลางอีกชุดหนึ่งให้ศึกษาเปรียบเทียบสามระบบอย่างละเอียดและเลือกระบบที่เหมาะสมที่สุดกับประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีเช่นกันว่า กลุ่มซีเมนส์เอจี (Siemens AG) แห่งเยอรมนีซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบรถไฟฟ้า ICE 3 ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้เสนอตัวเข้าลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายที่ 3 ในนครโฮจิมินห์โดยได้พยายามระดมทุนจากรัฐบาลเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย เพื่อช่วยเวียดนามให้การแก้ปัญหาการจราจรสามารถบรรลุผล
อาลสตอมกับซีเมนส์ได้พ่ายแพ้กลุ่มทุนจากญี่ปุ่นในการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายแรกในโฮจิมินห์ซึ่งมีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทุ่มให้การช่วยเหลือแก่บริษัทเอกชนอย่างเต็มที่ รถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินสายแรกของเวียดนามมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์ จึงก่อสร้างด้วยเงินทุนจากญี่ปุ่นกว่า 90%
ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษานั้น รถไฟฟ้าหัวกระสุนเวียดนามจะมีระยะทางทั้งหมด 1,550 กิโลเมตร
บริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ก่อสร้างสองช่วงแรกจากปลายทางและต้นทางพร้อมๆ กัน ซึ่งรวมเป็นระยะทางกว่า 800 กม. ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดราว 10 ปี หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างช่วงกลางของเส้นทางไปบรรจบกันทั้งสองข้าง