บอร์ดโลจิสติกส์ อนุมัติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า หลังพบความต้องการใช้รถไฟฟ้าในประเทศมีจำนวนสุงถึง 324 คัน หากมีการขยายเส้นทางในสายสีม่วง สีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวเข้ม และเขียวอ่อน อาจต้องใช้รถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 คัน และด้วยปริมาณรถไฟฟ้าที่ต้องการมากขึ้นนี้เอง ทำให้หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าควรมีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศแทนการนำเข้า
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังผลักดันการลงทุนสร้างระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
"ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง"
แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เป็นผลสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ที่ จ.เชียงใหม่ ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดการประชุมในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง โดยมีผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก 7 บริษัท เข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ CNR Changchun Railway Vehicles, Siemens (Thailand), Mitsui & Co (Thailand), K&O Association, Alstom Transport, Sumitomo Cooperation Thailand และ Bombadier Transportation Signal (Thailand) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, รฟม., สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น และผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
รายงานข่าวจาก รฟม.แจ้งว่า ไทยมีความต้องการใช้รถไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 324 คัน หากมีการขยายเส้นทางในสายสีม่วง สีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวเข้มและเขียวอ่อน แต่หากคิดรวมทุกโครงการของ รฟม.และรถไฟชานเมืองแล้วต้องใช้รถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 คัน และด้วยปริมาณรถไฟฟ้าที่ต้องการมากขึ้นนี้เองทำให้หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าควรมีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศแทนการนำเข้า ซึ่งหากตั้งโรงประกอบรถไฟฟ้าในประเทศจะสามารถใช้อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ทำให้ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ อีกทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในภูมิภาค และสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แผนการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าควรเร่งดำเนินการ ไม่เช่นนั้นอาจสูญเสียโอกาส เนื่องจากเวียดนามเองกำลังสร้างรถไฟฟ้าระหว่างเมืองโฮจิมินซิตี้และฮานอย อีกทั้งยังส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ทางด้านผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็เชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพมากพอที่จะตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้า ทั้งทางด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้น และส่วนสนับสนุนอื่นๆ จากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ที่สำคัญในภูมิภาค
แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้ผลิตยังมีความกังวล คือ ความชัดเจนของนโยบายการจัดซื้อรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ แผนและระยะเวลาในการก่อสร้าง รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถรับประกันได้จะช่วยสร้างความมั่นใจของให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้มีผลประชุมหารือเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ข้อสรุปว่า ควรเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำหนดกลไกการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการลงนามในสัญญากู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190