xs
xsm
sm
md
lg

น้ำเมาทำแสบเหยียบย่ำกม.ยิ่งคุมยิ่งอัดโฆษณาล้นสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -ศูนย์วิจัยปัญหาสุราเผยบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบ 1 ปี ธุรกิจเหล้าแหกกฎหมายเพียบทั้งหนังสือพิมพ์-ทีวี-ป้ายโฆษณากลางแจ้ง กระหน่ำโฆษณาเพิ่มสูงกว่ายังไม่มีกฎหมายคุม หนังสือพิมพ์ สิงห์ลงโฆษณามากสุด ขณะที่ทีวีอัดสปอตทั้งโฆษณาตรง-แฝง แถมลอบยิงโฆษณาก่อน 4 ทุ่ม ตราผลิตภัณฑ์สูงกว่าเดิม 10 เท่า ตราบริษัทพุ่งขึ้น 15 เท่า ด้านสธ.เชิญบ.เหล้า แจงความผิด แต่บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ยันโฆษณาได้ไม่ผิดกฎหมาย

วานนี้ (23 ก.พ.) ที่ ร.ร.เอเชีย เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แถลง “ผลติดตามเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวาระครบรอบ 1 ปี ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” โดยร.ท.หญิงจุฑาภรณ์ แก้วมุงคุณ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า ศวส. ได้ติดตามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์ 5 ช่อง และหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ ตลอดปี 2551 ซึ่งในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์พบมีการโฆษณาในปี 2551 จำนวน 827 ครั้ง คิดเป็นเดือนละ 69 ครั้ง โดยช่วงก่อนบังคับใช้กฎหมายมีโฆษณาเหล้าเฉลี่ย  37.5 ครั้งต่อเดือน เป็นโฆษณาที่เห็นภาพขวด 27 ครั้ง แต่หลังบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 81.2 ครั้งต่อเดือน มีโฆษณาผิดกฎหมายเห็นภาพขวด 72 ครั้ง
ส่วนการเฝ้าระวังทางโทรทัศน์ 5 ช่อง พบว่า มีการโฆษณาทางตรงในลักษณะยิงสปอตโฆษณาที่เห็นภาพขวดผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 36 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาในลักษณะแฝงให้เห็นภาพขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรากฏในรายการต่างๆ เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รวมทั้งสิ้นถึง 202 ครั้ง ซึ่งการโฆษณาทั้งแบบตรงและแฝงเหล่านี้ล้วนผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ต่อครั้งที่กระทำการโฆษณา   ดังนั้นหากมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดธุรกิจสุราจะต้องเสียเงินจำนวนมาก  ร.ท.หญิงจุฑาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ก่อนมีพ.ร.บ.ฉบับนี้ ธุรกิจสุราให้ความร่วมมือกับมติครม. 29 ก.ค. 2546 ที่ห้ามไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการให้ปรากฏภาพขวดผลิตภัณฑ์ ภาพตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และ ภาพตราสัญลักษณ์บริษัท ทางวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างเวลา 05.00-.22.00 น.  แต่การเฝ้าระวังพบปี 2551 มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบให้เห็นตราผลิตภัณฑ์และตราบริษัทก่อนเวลาดังกล่าว จำนวน 42 และ 122 ครั้งต่อสัปดาห์ตามลำดับ ขณะที่ในปี 2550 มีเพียง 4.5 และ 8.3 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น การโฆษณาตราผลิตภัณฑ์ในช่วงก่อนตีห้าถึงสี่ทุ่มเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า และ โฆษณาตราบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กและเยาวชนดูโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก
“มีงานวิจัยสำรวจพบว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลสัมพันธ์กับความอยากลองดื่มของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หมายความว่า กลุ่มเด็กที่จดจำโฆษณาได้ จะทำให้อยากลองดื่มมากกว่ากลุ่มที่จำไม่ได้ 4 เท่า จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนดกฎกระทรวงตามมาตรา 32 ให้สามารถควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์และวิทยุไม่ให้โฆษณาในช่วงเวลาตีห้าถึงสี่ทุ่มเช่นเดิม” ร.ท.หญิงจุฑาภรณ์
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผจก.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ผลสำรวจการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางป้ายกลางแจ้ง บนถนนสายหลัก อาทิ  รามคำแหง   ลาดพร้าว เกษตร-นวมินทร์ พลโยธิน วันที่ 12-16  ก.พ. 2552 พบ สถานบันเทิงและร้านค้า ร้านอาหาร รวม 236 ร้าน พบป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น  509 กรณี  มีการกระทำผิด 378 กรณี หรือ ร้อยละ 74.26
  นอกจากนี้ยังพบการนำตราสินค้าบนขวดมาเผยแพร่ถึง 21 ยี่ห้อ บริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.บริษัท สิงห์คอเปอเรชั่น จำกัด /บุญรอดฯ  เห็นตราเบียร์สิงห์/ลีโอ ถึง  95 กรณี  หรือร้อยละ  25.13  2.บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เห็นตราเบนมอร์ จอห์นนี่วอคเกอร์ ฯ 83 กรณี  หรือร้อยละ  21.95  3.บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย)  เห็นตราฮันเดรดไพเพอร์ส   ชีวาส 50 กรณี  หรือ ร้อยละ 13.22  รูปแบบสื่อโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายมากที่สุด คือ ป้ายตู้ไฟมาก ร้อยละ 52.91 ตามด้วย ธงราว ธงญี่ปุ่น ร้อยละ 21.16 แบนเนอร์ 13.22
รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เพื่อให้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความศักดิ์สิทธิ์ เครือข่ายฯ จึงขอเสนอดังนี้  1.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจจับดำเนินคดีโดยเคร่งครัด และรวดเร็ว การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเห็นภาพขวดผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบเต็มหรือบางส่วนของขวด หรือบรรจุภัณฑ์ ต้องหมดไปจากทุกสื่อโฆษณา 2.คณะกรรมการรนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ต้องกำหนดกฎกระทรวงตามมาตรา 32 ให้มีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ต่ำไปกว่ามาตรการเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์และวิทยุในช่วงเวลาตีห้าถึงสี่ทุ่ม และ 3.ขอเรียกร้องให้เร่งตั้งคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เชิญบริษัท ผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 9 บริษัท มาชี้แจงความผิด ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา  32 เรื่องการห้ามโฆษณา เป็นครั้งสุดท้าย แต่มีเพียง 3 บริษัท ที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมการชี้แจงรับฟังด้วยความเข้าใจ มีเพียงบริษัทขายเบียร์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งที่ยืนยันว่า บริษัทสามารถโฆษณาได้ และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย โดยอ้างว่ายังไม่มีออกกฎกระทรวงมารองรับ ส่วนอีก 6 บริษัท กระทรวงจะชี้แจงด้วยจดหมาย และแจ้งว่าหลังจากนี้หากมีการละเมิดทางกฎหมายอีกก็จะมีการจับปรับทันที
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จะหารือ กับ นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การกำหนดวันดีเดย์ จับปรับ การละเมิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการอื่นที่ไม่จำเป็นต้องรอการตีความทางกฎหมาย  เช่น การห้ามจำหน่ายและดื่มสุรา ในสถานที่ราชการ วัด สถานศึกษา.
กำลังโหลดความคิดเห็น