xs
xsm
sm
md
lg

รณรงค์ “สนามกีฬาปลอดเหล้า-บุหรี่” ติดป้ายห้ามรอบสนามทั่ว ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ก.ท่องเที่ยวฯ จับมือ สสส.-สคล.-มูลนิธิ เพื่อนเยาวชนฯ รณรงค์ “สนามกีฬาปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่” พร้อมติดป้าย ห้ามขาย ห้ามดื่ม รอบสนามแข่งทั่วประเทศ หวังคุมพฤติกรรมแฟนบอล ขณะที่ “เครือข่ายเยาวชน” สะท้อนข้อมูล กองเชียร์ ซดเหล้า-สูบบุหรี่ เกลื่อนสนาม ระบุ หาบเร่ แผงลอย ขายหน้างานโดยไม่มีใบอนุญาต แถม บ.เบียร์ แห่ตั้งบูท ขายของ

       วันนี้ (28 เม.ย.)  ที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวรณรงค์ “สนามกีฬาปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่” พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดโลโก้และคำขวัญ“สนามกีฬา ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่”  จัดโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

            นางธนิฏฐา  กล่าวว่า  ด้วยสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยอยู่ในปริมาณ     ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวสร้างปัจจัยเสี่ยงแก่ประชาชนและสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงาน และนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 บังคับใช้ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เริ่มมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการกำจัดพื้นที่ในการจำหน่ายและการดื่ม อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การตื่นตัวของประชาชนเพื่อเข้าชมกีฬาโดยเฉพาะกีฬา ฟุตบอลทุกรายการ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก และจากบทเรียนที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้เข้าชมและเชียร์ มีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สร้างความวุ่นวาย รำคาญ ต่อผู้ชม และหนีไม่พ้นการทะเลาะวิวาท

            “ทางกระทรวง ยินดีสนับสนุนมาตรการทางกฎหมาย คือ ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสนามฟุตบอล และห้ามดื่มขณะชมฟุตบอล โดยได้ติดป้ายเตือนความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 27 และ 31 ที่กำหนดห้ามขายห้ามดื่มในสถานที่ราชการและสนามกีฬาของราชการ  ฝ่าฝืนมีความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็เห็นด้วยกับมาตรการนี้มาโดยตลอด  อย่างไรก็ตาม อยากจะเชิญชวนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนิน กิจกรรมร่วมกันให้สนามกีฬา ทั่วประเทศปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และเชิญชวนให้คนไทยหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี และร่วมเชียร์กีฬา ที่ชื่นชอบ สร้างวัฒนธรรม ในการเชียร์” นางธนิฏฐา กล่าว

                นายคำรณ  ชูเดชา  ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ปัญหาการทะเลาะวิวาทรุนแรง ทำลายกีฬาฟุตบอลตามที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรสร้างบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลให้เป็นเหมือนครอบครัว เป็นกีฬาเพื่อความสามัคคี เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้มีการรณรงค์ห้ามจำหน่ายเหล้า เบียร์ รอบสนามและในสนาม รวมทั้งห้ามดื่มในสนามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการฝ่าฝืนอยู่บ้าง ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการหนุนเสริม เช่น ห้ามขาย ห้ามดื่ม รวมไปถึงสนามของเอกชนด้วย ก็เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งมาตรการนี้ไม่ได้เป็นมาตรการที่สุดโต่ง แต่ถือปฏิบัติในหลายประเทศที่เป็นมหาอำนาจลูกหนังโลก เช่น อิตาลี รัสเซีย และ บราซิล ซึ่งการห้ามขายไม่ได้จำกัดเฉพาะบริเวณรอบสนามแข่งเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงพื้นที่สาธารณะอื่นๆ และครอบคลุมเวลาก่อนการแข่งขันและ หลังการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยยังยั้งพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทของกองเชียร์ได้ นอกจากนี้ ควรห้ามผู้ที่มีอาการมึนเมา ครองสติไม่ได้เข้าสนามฟุตบอล และควรเพิ่มระบบตรวจอาวุธ เพิ่มเจ้าหน้าที่ รวมถึงติดกล้องวงจรปิด เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมของแฟนบอล

               ด้าน นางสาวสุมาลี   เกตรัตนัง  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลจำนวน 19 สนาม แบ่งเป็น สนามไทยพรีเมียร์ลีก 14 สนาม และสนามดิวิชัน 1 จำนวน 5 สนาม รวมทั้งหมดที่สำรวจ 39 ครั้ง ระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.2554  พบว่า  ผู้จัดงานส่วนใหญ่ยังรับสปอนเซอร์จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นๆ โดยการโฆษณาแฝง จัดโปรโมชัน กิจกรรม หลอกล่อเยาวชน ตั้งซุ้มขายเบียร์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งนี้บริเวณด้านหน้าสนามแข่ง ยังพบว่า มีร้านค้าแผงลอย การหาบเร่ขายเหล้า เบียร์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตขาย รวมถึงบางสนามยังพบว่ามีการตั้งโต๊ะดื่มเหล้า เบียร์ และสูบบุหรี่ อย่างเป็นทางการระหว่างรอการแข่งขัน และประชาชนบางส่วนยังนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในลักษณะของขวดน้ำ  หรือขวดเครื่องดื่มอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่เข้มงวดในการควบคุมหรือห้ามปรามตรงจุดนี้

             สำหรับกิจกรรมการประกวด โลโก้ และคำขวัญ “สนามกีฬาปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่”  โดยป้ายและโลโก้ที่ได้รับเลือกนี้จะนำไปติดที่บริเวณสนามฟุตบอลของทางราชการทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล  ประเภทคำขวัญ  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่  น.ส.นิธิภรณ์   สุดสูง  จ.นครพนม คำขวัญ “ปลอดเหล้าปลอดบุหรี่  ยกศักดิ์ศรีสนามกีฬา”  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายกำพล วงค์อนันต์ จ.นครปฐม  คำขวัญ “ไร้บุหรี่  ปลอดสุรา สนามกีฬายุคใหม่” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  นายวรายุทธ   โพธิ์ลา  กทม. คำขวัญ “สนามกีฬาคนเก่ง  คนกล้า บุหรี่สุรา say no”   สำหรับประเภทโลโก้  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายภูวเดช  พรมเกษา  จ.ปทุมธานี  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายสมชาย นิลแก้ว  จ.ปทุมธานี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  นายกิตติบดี  บัวหลวงงาม  กทม.

 

 
กำลังโหลดความคิดเห็น