xs
xsm
sm
md
lg

ครูอารมณ์ มีชัย กับสภาวะการศึกษาไทยเมื่อเธอจากไป

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ครูอารมณ์ มีชัย จะละสังขารสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 นี้

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพเธอ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ผมดีใจที่ได้ไปเยี่ยมไข้เธอเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ณ โรงพยาบาลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ เมื่อญาติเธอบอกว่า ถ้าผมจะคอยไปพร้อมกับสุเทพ วงศ์คำแหง ตามนัดเวลาบ่ายสองโมงวันพฤหัสบดี รุ่งขึ้นอีกวัน เกรงว่าเธอจะสิ้นสติไม่สามารถสนทนาหรือรับทราบการมาเยี่ยมได้

โรคร้ายที่คุกคามเธอมาอย่างหนักเป็นเวลานานกำลังสำแดงฤทธิ์อย่างเต็มที่ เธอไม่สามารถรับยาหรืออาหารได้อีกแล้ว

ผมเสียใจที่รับปากว่าจะรับเธอไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนเก่าที่เธอคิดถึงอีกสองคน จนแล้วจนรอดก็นัดกันไม่สำเร็จ ผมไม่โทษบุคคล แต่โทษสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตปัจจุบันที่ทำให้บุคคลเสียเวลากับสิ่งอื่น ซึ่งผมเห็นว่ามีความสำคัญน้อยกว่าความเป็นคน

ในวันนั้น ครูอารมณ์ของผมยังมีสติอยู่ ถึงแม้เธอจะมีความเจ็บปวดทรมานเห็นได้ชัด เธอสามารถดื่มนมถ้วยเล็กๆ ได้ และโต้ตอบคำถามของผมได้หมด

ญาติของเธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายเดือน ASTV ได้มาทำรายการสัมภาษณ์เธอ และนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูปมาสวดมนต์อำนวยพรให้เธอ เธอมีความสุขมาก และแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจผู้ที่จะอยู่ข้างหลังรวมทั้ง ASTV และพันธมิตรฯ อย่างเต็มที่ ทำให้พิธีกรทั้งชายหญิงกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เกิดความเคารพและแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งกับความเข้มแข็งกล้าหาญและรักชาติของครูอารมณ์

ลูกชายครูอารมณ์บอกผมว่า คำตอบคำสุดท้ายที่หมอถาม ว่าเธอยังห่วงและอยากฝากฝังอะไรหรือไม่ ครูอารมณ์บอกว่าฝากประชาชน ประชาธิปไตย และพันธมิตรฯ

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ดูเทปบันทึกการสัมภาษณ์บางส่วนของเธอ คุณค่าและบทเรียนจากคำสัมภาษณ์นั้นลึกซึ้งมหาศาล กระทรวงศึกษาธิการควรจะนำไปแจกจ่ายทุกโรงเรียนให้นักเรียนตั้งแต่ประถมตอนปลายถึงมัธยมปลายและบรรดาครูได้พากันฟัง

ผมไม่รู้จักกระทรวงศึกษาธิการของประเทศเวียดนามดี แต่ผมเชื่อว่าเทปรายการแบบนี้เขาจะต้องไม่พลาดที่จะนำเสนอให้โรงเรียนนำไปศึกษาแน่ๆ

ผมรู้จักกระทรวงศึกษาธิการไทยดี ผมเชื่อว่า คนในกระทรวงตั้งแต่รัฐมนตรีลงมา ไม่มีหน้าไหนจะกล้าหรือมีความสำนึกใกล้เคียงกับผู้นำการศึกษาเวียดนามเลย เพราะมัวแต่จะพากันเกรงผิดๆ ว่า เป็นเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง และไม่เป็นกลาง

ก่อนจะพูดถึงสภาวะการศึกษาไทยในวันที่ครูอารมณ์ มีชัย จากไปเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยความเคารพในอาชีพและความเป็นครู ผมขอร้องกระทรวงศึกษาธิการอย่าไปแก้คำว่า “บรมครู” เป็น “บรมอาจารย์” อย่างเด็ดขาด เพราะคำว่าบรมครูนั้น หมายถึงพระพุทธเจ้า

ผมต้องโทษกระทรวงศึกษาฯ ที่ภายใน 10 ปีหลังจากที่ครูอารมณ์ จากไป คำว่า “ครู” จะหมดไปจากสารบบหรือปทานุกรมของโรงเรียนและสังคมไทย

ผมมีความรู้สึกรุนแรงในความแตกต่างระหว่างครูกับอาจารย์ และผมไม่เห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาฯ วัดความก้าวหน้าด้วยกายยกฐานันดร “ครู” ให้เป็น “อาจารย์” จนหมด

ในปี 2545 ผมได้เขียนบทความเรื่อง ช่ว..ย..ด้ว..ย รัฐบาลกำลังจะฆ่าครู (ผจก. 9 ม.ค. 45) เมื่อ พ.ศ. 2498 ผมเขียนเรื่องสั้นในหนังสือของจุฬาฯ เป็นที่ฮือฮาและพิมพ์ต่อกันซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นก็คือเรื่อง “ไอ้แหงน หรือไกลจากรั้วสีชมพู” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ฉันเพิ่งค้นพบความแตกต่างระหว่างครูกับอาจารย์ ครูนั้นเฆี่ยนก้นเราได้ทุกเมื่อ แต่ครูไม่เคยเฆี่ยนหัวใจของเราเลย ในขณะที่อาจารย์จะไม่เฆี่ยนแต่ขยี้หัวใจของเราได้ตลอดเวลา”

ผมเป็นนักเรียนบ้านนอก จบ ม.6 จาก “หนองคายวิทยาคาร” โรงเรียนเดียวกับพลเอกสุจินดา คราประยูร จนกระทั่งผมจบ ม. 6 มาเข้าโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ หนองคายวิทยาคารไม่เคยมีอาจารย์สักคน มีแต่ครูเต็มไปหมด แต่ละคนเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู จนกระทั่งศิษย์เก่าของหนองคายวิทยาคารไม่มีความรู้สึกน้อยหน้ากว่าโรงเรียนใดๆ ในประเทศไทย

การสร้างฐานันดรใหม่ให้ครูนั้นผมเห็นว่าเสียหายมาก ถ้าจะให้เล่าในวันนี้ฉบับเดียวคงจะไม่จบ เอาแต่เพียงภาพรวมๆ และคำบรรยายแบบถอดรหัสคือใช้ภาษาชาวบ้านๆ ก่อนก็แล้วกันว่า “ทุกวันนี้ทรัพยากรหรืองบประมาณทางการศึกษามิได้ทุ่มลงไปที่โรงเรียนและชั้นเรียนหรือนักเรียน หรือครูน้อยที่สอนอยู่ในชั้นเรียน แต่หนักไปทางสร้างตึกเรียน โต๊ะ เก้าอี้ และพัฒนาอาชีพหรือตำแหน่งของอาจารย์ระดับต่างๆ ยิ่งอาจารย์มีระดับสูงมากขึ้นเท่าใด การศึกษาและเรียนรู้ของนักเรียนก็ตกต่ำลงเท่านั้น”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้บริหารการศึกษา (นายครู) มากที่สุดในโลก เมื่อนับบุคลากรการศึกษาที่มิได้ทำการสอนของไทยเทียบกับประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย 5 ประเทศรวมกันคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ของเรามีมากกว่าเขาเป็น 2 เท่า

ผู้บริหารการศึกษาคือผู้ที่นั่งอยู่ในกระทรวงและสำนักงาน ตลอดจนผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเกือบทั้ง 100% ไม่ได้ทำการสอนแต่ทำการบริหาร

กล่าวอย่างรุนแรง บุคคลเหล่านี้ คือ กาฝากทางการศึกษา แต่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่รัฐมนตรีและกระทรวงจะต้องประคบประหงมเอาใจ เพราะเป็นหลักประกันของความสงบและเป็นฐานเสียง

ผู้ที่ไร้ความหมายที่สุดในระบบการศึกษาไทยคือ พ่อ-แม่ นักเรียน และครูน้อย ตามลำดับ

การขยายโอกาสทางการศึกษาไทย คือการสร้างอาคาร-ตึกเรียนและป้ายหินอ่อน กับการขยายและเลื่อนตำแหน่งของอาจารย์ผู้บริหาร กับทั้งเป็นการสกัดกั้นมิให้นักเรียนที่อยู่ในอำเภอและตำบลชั้นนอกเข้าถึงโรงเรียนประจำจังหวัดและมหาวิทยาลัยดีๆได้ ต่างกับสมัยผมที่เด็กบ้านนอกมักจะได้ดีกว่าเด็กในตัวจังหวัด

ความได้เปรียบของการศึกษาไทยอยู่ที่ความใหญ่และความใกล้ของโรงเรียน และโรงเรียนเป็นตัวป้อนบุคลากรเข้าสู่ความเสียเปรียบในระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสส่วนกลางมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ต่างจังหวัด ชุมชน และประเทศอ่อนแอ

วิธีแก้ไขอย่างย่อๆ ก็คือ (1) ลดขนาดของบุคลากรที่มิได้สอนลงปีละ 10% จนเหลือไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับจำนวนครูในชั้นเรียน (2) สร้างผู้บริหารโรงเรียนพันธุ์ใหม่ โดยคัดเลือกจากครูดีเด่นหรือผู้บริหารมืออาชีพอายุไม่เกิน 30 ปี และเมื่ออายุครบ 48 ปี ให้กลับไปสอนในชั้นเรียนทั้งหมด (3) สร้างองค์กรครูที่เป็นองค์กรวิชาชีพอย่างแท้จริง อยู่ได้โดยค่าสมาชิกและงบประมาณสมทบจากรัฐบาล และระเบียบที่จะให้ครูลามาปฏิบัติงานในองค์กรได้ เหมือนข้าราชการลาไปทำงานต่างประเทศ (4) แก้ความจนและสร้างความมั่งคั่งทั้งในฐานะการเงินและวิชาความรู้จากภายใน มิใช่แบมือขอจากข้างนอก (5) ทุ่มเททรัพยากรไปที่นักเรียน ชั้นเรียน และชุมชน

สภาวะของการศึกษาไทยในวันที่ครูอารมณ์จากไป ก็คือสภาวะของการศึกษาที่ไร้คุณภาพ ขาดความยุติธรรมและทั่วถึง ขาดความสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของพ่อ-แม่ นักเรียนและสังคมเป็นแหล่งเพาะนักการเมืองและพลเมืองที่เป็นทาสของอำนาจและเงิน ต่างจากแบบที่เป็นประชาธิปไตยในทัศนะของครูอารมณ์ มีชัยทุกประการ

แต่สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นที่อยู่ภายใต้กฎของความเป็นอนิจจังทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์และความใฝ่ฝันของครูอารมณ์ย่อมเป็นไปได้ถ้าหากมีคนอย่างครูอารมณ์มากขึ้น หรือมีคนได้ยินครูอารมณ์มากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมืองและคนแก่หูตึงในกระทรวงศึกษาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น