xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทยจากอาจารย์ป๋วยถึงครูอารมณ์

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

มีท่านผู้อ่านบางคนติงว่า ทำไมผมจึงต้องเอา อาจารย์ป๋วย มาอ้างเมื่อผมเขียนถึง Mr.Giles ซ้ำอ้างอีกว่า เมื่อครั้งรสช.ก็เอา อาจารย์ป๋วย มาอ้างทำนองเดียวกัน

ผมเข้าใจอุปาทานของท่านเหล่านั้น ที่ไม่ต้องการให้ผมเชิดชูความดีของ อาจารย์ป๋วย เพื่อจะสำรองเอาอาจารย์ไว้ใช้ในการเคลื่อนไหวอันขี้ขลาดและไม่บริสุทธิ์ของพวกตน อย่างที่มีคนเอา รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ กับอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา มาอ้างบ่อยๆนั่นแหละ

ผมยอมรับข้อสังเกตของท่านผู้อ่านนั้นอย่างเดียว คือ ความแตกต่างกันของภาษาอังกฤษและไทย การอ้างของผมคือการ refer หรือมี reference ในภาษาอังกฤษถึงอาจารย์ โดยการนำคำกล่าวของอาจารย์เอง หรือการที่มีคนอื่นพูดถึงอาจารย์มาอ้างเท่านั้น สำหรับคนที่ลำเอียงไม่สามารถทนฟังความดีของอาจารย์ป๋วยได้ อยากจะสรรเสริญความดีของใครว่าล้ำเลิศ (กว่าอาจารย์ป๋วย) อย่างไรก็เชิญ ผมไม่ว่า

ผมขอเตือนขบวนการสุนัขเสื้อแดงจะเป็นใครก็ตามว่า อย่าคิดเอาอาจารย์ไปใช้ เพราะอาจารย์จอน ลูกคนโตของอาจารย์บอกแล้วว่า “คุณพ่อไม่ชอบคอมมิวนิสต์” วันหลังผมจะเอาอาจารย์มาอ้างอีกว่าอาจารย์พูดกับผมเรื่องคอมมิวนิสต์ว่าอย่างไร นอกจากนั้นจอนว่า “คุณพ่อเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย” ผมขออธิบายเพิ่มเติมลักษณะของเสรีนิยมประชาธิปไตยว่าเป็นพวกเคารพเสรีภาพของตนเอง และไม่ไประรานเสรีภาพของคนอื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลมายุ่มย่ามครอบงำปกครองประชาชนเกินสมควร ในข้อหลังนี้ ผมมีข้อมูลอาจารย์วิเคราะห์ตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับที่ผมวิเคราะห์อาจารย์ วันหลังผมคงจะมีโอกาสเล่าสู่กันฟัง

แต่วันนี้ ผมอดเล่าไม่ได้ว่า มีหนังสือการเมืองสุดสัปดาห์ฉบับหนึ่ง นำคำพูดของสายลับสวะอังกฤษและขวาตกขอบของไทย มาใส่ร้ายผมกับอาจารย์ป๋วยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รับคำสั่งมาก่อการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไม่ยอมแก้ข่าวหรือลงข้อความที่ผมชี้แจง ลองเดาซิครับ หนังสือนั้นชื่ออะไร

หันกลับมาพูดถึงเรื่องการศึกษา อาจารย์ป๋วย กับผมเป็นห่วงเรื่องการศึกษามากที่สุด ได้แลกเปลี่ยนความเห็น ความคิดและความฝันกันเป็นประจำ เราทั้งคู่เป็นห่วง“ความอยู่กับที่หรือ Status Quo” หรือไม่ก็ “ความเติบโตที่มิใช่การเปลี่ยนแปลง” อันเป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทย

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 บทความเรื่อง ครูอารมณ์ มีชัย กับสภาวะการศึกษาไทยเมื่อเธอจากไป ผมสรุปว่า

“สภาวะของการศึกษาไทยในวันที่ครูอารมณ์จากไป ก็คือสภาวะของการศึกษาที่ไร้คุณภาพ ขาดความยุติธรรมและทั่วถึง ขาดความสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของพ่อ-แม่ นักเรียนและสังคม เป็นแหล่งเพาะนักการเมืองและพลเมืองที่เป็นทาสของอำนาจและเงิน ต่างจากแบบที่เป็นประชาธิปไตยในทัศนะของครูอารมณ์ มีชัยทุกประการ”

คำถามว่าสภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อใด หากไปถาม “ผู้ยิ่งใหญ่” ในวงการศึกษา ก็คงจะได้คำตอบที่แตกต่างกันจนหาข้อสรุปอันเป็นที่ยุติมิได้

สำหรับผม ในฐานะนักเรียน และพ่อของนักเรียนที่เกิดและเรียนทั้งในอเมริกาและอังกฤษ ผมเห็นว่าที่ไหนก็มีวิกฤตการศึกษาทั้งนั้น เพราะโลกและมนุษย์ตกอยู่ใต้กฎความเปลี่ยนแปลงของการเวลา แต่ผมเห็นว่าการศึกษาไทยตกต่ำมาเรื่อยๆ หลังจากผ่านจุดหักเหสำคัญที่ไทยเราเริ่มตามก้นอเมริกันและธนาคารโลกในทางที่ผิด นักการเมืองและการศึกษาของเราพากัน “ขี้ก้อนใหญ่กว่าช้าง” มากขึ้นทุกที และแต่ละที ผู้ที่ได้เปรียบคือเจ้านายและผู้บริหาร ผู้ที่เสียเปรียบคือนักเรียน ผู้ปกครอง และครูน้อย ที่ทำการสอน ความได้เปรียบเสียเปรียบในวันนี้มโหฬารมหาศาลยิ่งขึ้น จนผมไม่อยากจะบรรยาย

เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว ผมเคยให้สัมภาษณ์ พิภพ ธงไชย กับ ธรรมเกียรติ กันอริ ที่เพิ่งจบการศึกษามาเป็นนักข่าวใหม่ๆ ในปี 2500 ต้นๆ ผมพูดว่า

1. การจัดการศึกษาของเรา สอดคล้องกับสปิริตของ ระบบรวมศูนย์ ดี มีการได้เปรียบกันเป็นลำดับชั้น ไม่มีการยืดหยุ่นตามภูมิประเทศเหตุการณ์ มาตรฐานมีอยู่แบบเดียว แนวเดียว แหวกแนวไม่ได้

2. ถึงเมืองใหญ่จะมีการศึกษาหลายประเภท แต่ทางเลือกอย่างแท้จริงก็จำกัด เพราะหลักสูตรกระทรวงมีอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นร.ร.ราษฎร์หรือ ร.ร.หลวง ไม่มีทางเลือกว่าจะอยู่ร.ร.ใกล้บ้านหรือในภูมิลำเนา ไม่มีทางเลือก เพราะที่อยากเข้าก็เข้าไม่ได้ ที่เข้าได้ก็เผื่อเลือก ไม่มีทางเลือกเพราะอำนาจผู้ให้บริการมีมากกว่าอำนาจผู้ใช้บริการ เป็นธรรมดาของประเทศที่ไม่มีการปกครองตนเอง ไม่มีทางเลือกที่จะไม่เสียแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีทางเลือกที่จะหลง ร.ร.อนุบาลที่เห่อภาษาอังกฤษ หรือบ้าให้การบ้านนักเรียน ไม่มีทางเลือกที่จะไม่เข้าโรงงานผลิตพลเมืองระบบ “ขอรับกระผม” เป็นต้น นี่เป็นปัญหาพื้นๆ แต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง

3. ถามว่า ทิศทางของเราอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือ ไม่มี มิไยเราจะมีแผนพัฒนากี่กิโลในกระดาษ เราไม่มีทางจัดลำดับความต้องการของสังคมเราได้ นักเรียนกฎหมายมีเป็นหมื่น นักเรียนรัฐศาสตร์เป็นพัน ล้วนแต่อยากเป็นเจ้าคนนายคน คนไทยพอเรียนสูงหน่อยก็ร้อนที่อยู่ จบหกจบแปดอยู่หมู่บ้าน ตำบลหรืออำเภอบ้านเกิดไม่ได้ ยิ่งได้ปริญญายิ่งแย่ ทุกวันนี้ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ต้องสูญเสียทรัพยากรล้ำค่าคือคนไทย เพราะบังเอิญเขาได้รับการศึกษา ผมไม่ได้แนะว่าเราควรจำกัดโอกาสศึกษา แต่ความยุติธรรมและโอกาสในสังคมน่าจะตัดสินกันที่อื่น ไม่ใช่บนแผ่นกระดาษ หรือในโรงเรียน นายกฯ อังกฤษนายกฯ ญี่ปุ่นเขาจบแค่มัธยมเท่านั้น

4. จุดหมายของการเข้าเรียนคือการไขว่คว้าหาฐานันดร มิใช่เพื่อการศึกษา ดังนั้น การแข่งขันจึงเข้มข้น เปลืองทั้งแรงเปลืองทั้งเงิน ผมไม่เคยเห็นชาติไหนที่นักเรียนออกจากบ้านก่อนย่ำรุ่งและกลับหลังย่ำค่ำ เพราะกลัวไม่ทันรถ กลัวไม่ทันโรงเรียน กลัวสอบเข้าไม่ได้ อย่ามาหาว่าคนไทยขี้เกียจ เราขยันแต่เอาตัวไม่รอดต่างหาก เพราะระบบไม่ช่วยเราปล่อยให้เราแบกภาระตามยถากรรม

5. ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตอันยุ่งเหยิง ทำให้เราเป็นทาส ความสะดวกทุกอย่างรวมทั้งการศึกษา ต้องซื้อหามาด้วยราคาแพงเกินควร ใครสู้ด้วยเงินไม่ไหว ก็ต้องจ่ายด้วยกายและเวลาหรือความเหนื่อยยาก ต้องคอยรถเมล์ ต้องกลับบ้านค่ำ ต้องทำงานทั้งพ่อและแม่ เมื่อการเรียนในโรงเรียนเน้นการแข่งขันอันหมดเปลือง เวลาที่จะรับการศึกษานอกโรงเรียนก็น้อยไป ซ้ำบริการการศึกษานอกโรงเรียน เช่น ห้องสมุด สื่อสารมวลชน สมาคมอาชีพ สถาบันสันทนาการของเราแทบไม่มี หรือมีก็เลื่อนเปื้อน ผลที่สุดการเรียนรู้ของเยาวชนไทยก็เสื่อมทรามลงๆ เกิดอาการผิดสำแดง คือการยกพวกตีกันตั้งแต่มัธยมปลาย อาชีวศึกษา ขึ้นไป

ทั้งหมดนั้นเป็นความล้าหลังของการศึกษาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และเมื่อ 42 ปีที่แล้ว อาจารย์ป๋วย ตั้งความหวังไว้ว่า “พวกเราจะต้องวิ่งเร็วเป็นพิเศษจึงจะมีหวังทัน” เชิญอ่านจดหมายบางส่วนของอาจารย์

ความฝันของอาจารย์ป๋วยสลายไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ความฝันของครูอารมณ์หมดลงไปกับสังขารของเธอเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 นี้เอง

ท่านผู้อ่านที่เคารพ เอาฝ่าเท้าตรองดูเถิด การศึกษาของไทยวันนี้คงที่หรือเลวลง

สำหรับพวกเราที่ยังมีลมหายใจอยู่ ถ้าไม่ช่วยกันฝัน ไม่ช่วยกันเปลี่ยน เกิดมาอีกกี่สิบชาติ จึงจะเห็นการศึกษาที่พึงปรารถนาของไทยเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น