xs
xsm
sm
md
lg

เขมรเหิมคิดฮุบบ่อก๊าซ-น้ำมัน อ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล90%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทร.เผยกัมพูชาขอทรัพยากรเขตทับซ้อนทางทะเล 90% "อดีตผบ.ทร." ระบุ เขตแดนบกไม่มีผลกระทบทางทะเล ชี้เป็นเรื่องการเมือง ด้านนักวิชาการอัดเขมรขีดเส้นเลื่อนลอย หนุนคงกำลังทหารไว้ เพื่อได้เปรียบเจรจา บก-ทะเล ขณะที่ทบ.ระบุ"ฮุนเซน" ลดความแข็งกร้าว แต่เสริมทหารปืนใหญ่ ด้านไทยยังตรึงอยู่ หอการค้าระบุ กาสิโนเขมร รุกล้ำที่หวังเคลมแผ่นดินไทย เผยมีคุณหญิง-นสพ.ยักษ์ใหญ่เจ้าเป็นของ แฉเงินสะพัด รมต.ก็ใช้บริการ

วันที่ 16 ก.พ. ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารพญาไทพลาซ่า พล.ร.ต.วีรศักดิ์ จันหนู รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้ กล่าวระหว่างประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางบก –ทางทะเล ระหว่างไทย –กัมพูชา ว่า ปัญหาที่ยังตกลงไม่ได้เกิดจากการอ้างสิทธิของสองฝ่ายออกไปฝ่ายละ 200 ไมล์ทะเลจากไหล่ทวีปในองศาที่ต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน แบ่งเป็นสองส่วนคือ เกาะกูดตอนล่าง ที่ไทยยึดถือตามสนธิสัญญา ฟรังโก – สยาม ว่าเกาะกูดอยู่ในฝั่งไทย ในขณะที่ กัมพูชาใช้เส้นแนวเล็งจากเขตแดนที่ 73 ผ่านยอดเขาสูงของเกาะกูดตรงออกไปในทะเล ซึ่งกินพื้นที่พัฒนาร่วมคือ JDA ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนที่สองคืออ่าวไทยตอนกลางและตอนล่าง ที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2515 ในขณะที่ไทยประกาศในปี 2516

พล.ร.ต.วีรศักดิ์ กล่าวว่า จนกระทั่ง ปี 2543 สองฝ่ายได้เคยทำ เอ็มโอยูร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่เป็นสองตอนในการแก้ไขปัญหา คือพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ กำหนดให้การทำการแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ลงมากำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน โดยมีการตั้งกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทยกัมพูชา มี รมว.การต่างประเทศเป็นประธานฝ่ายไทย พร้อมตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ในการจัดทำพื้นที่ร่วม และ การเจรจาแบ่งเขตทางทะเลพื้นที่ ตอนบนเหนือละติจูด 11 องศาเหนือด้วย

“ช่วงปี 48 บริษัทเชพรอน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยและกัมพูชาให้สำรวจพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ได้ประเมินมูลค่าก๊าซธรรมชาติไว้ 3.5 ล้านล้านบาท และ น้ำมัน 1.5 ล้านล้านบาท โดยกองทัพเรือยังต้องดูแลความปลอดภัย 2ฐานขุดเจาะนางนวล นี้อยู่ ทำให้กัมพูชาเริ่มพูดจากับเรายากขึ้น”

รองผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการขุดเจาะสำรวจ ท่าทีของกัมพูชาดีมาก และ คุยกันรู้เรื่องแต่เมื่อมีการสำรวจรู้ถึงผลประโยชน์แล้ว ท่าทีก็เปลี่ยนไปและคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งในการเจรจาตอนแรกไทยเห็นว่าบริเวณนั้นอยู่ในเขตของไทย แต่เมื่อเกิดเขตทับซ้อนขึ้นจึงต้องมีการเจรจา ก็เลยเสนอว่าต้องแบ่งให้ไทย 60 กัมพูชา 40 แต่กัมพูชาต่อรองให้เหลือ 50 :50 ซึ่งไทยก็นิ่งเฉยเพราะช่วงนั้นกัมพูชามีปัญหาภายในเกี่ยวกับเขมรแดง พอถึงช่วงนี้แหล่งพลังงานของไทยเริ่มร่อยหรอจึงเริ่มคิดที่จะมีการเจรจาอีกครั้งเพื่อหาพลังงานทดแทน จึงได้เริ่มคุยกับกัมพูชาใหม่ แต่ปรากฏว่ากัมพูชาอ้างเรื่องสิทธิในทะเล และขอแบ่ง 90% ให้ไทยแค่ 10 % อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาในช่วงนี้คิดว่านายกฯ ของไทยอาจจะเจรจามาที่ 50:50 ซึ่งหากกัมพูชายอมน่าจะแบ่งผลประโยชน์กันได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเขตแดนบนบกมีผลกับหลักเขตทางทะเลด้วย

ทางด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงษ์ อดีต ผบ.ทร. และ ประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า มีความเข้าใจผิดว่าหากเกิดขยับหลักเขตบนบกแล้วจะกระทบต่อเส้นเขตแดนทางทะเล ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ เนื่องจากการลากเขตทางกัมพูชาจะลากจากเกาะกูดไปยังหลักเขตที่ 73 โดยยอมให้พื้นที่บนบกของเกาะกูดเป็นของไทย แต่ในทางทะเลเขากลับให้เป็นของเขา เพราะฉะนั้น หลักเขตที่ 73 จึงเป็นคนละส่วนในการที่จะเปลี่ยนแปลงเขตแดนทางทะเล แต่ไม่ทราบว่าที่ผ่านมามีความเชื่อมโยงกันอย่างไรให้เป็นเรื่องการเมือง

ทางด้านนายสมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า การที่เขาลากเส้นไหล่ทวีปโดยไม่ได้ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้โดยอำเภอใจ ในอนุสัญญาไหล่ทวีปนั้น ถือว่าเกะกูดเป็นพื้นที่มีคนอยู่ย่อมมีน่านน้ำและอาณาเขต เราจึงได้เอามาคิดและบวกเวลาลากเส้นฐานของไทย ซึ่งทรัพยากรในทะเลที่เราควรได้รับ น่าจะเป็น 90% การทำเอ็มโอยูกับกัมพูชานั้น ถือเป็นพระมหากรุณาสูงสุดแล้ว เราอะลุ้มอะหล่วยมากแล้ว เขาน่าจะได้แค่ 10 % ขณะนี้ดีแล้วที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะทรัพยากรที่อยู่ในทะเลยังเป็นของไทยอยู่ ซึ่งรัฐต้องเจรจาด้วยความอ่อนโยน ไม่ใช่แข็งกร้าว แต่เราจะอยู่ในฐานะรอมชอมก็ต่อเมื่อเรามีกองกำลังทหารอยู่ อย่าถอนกำลังออกไป

พ.อ.ศิริศักดิ์ ศิริบรรสพ ผอ.กองกิจการชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวว่า หลังเกิดเหตุที่เขาพระวิหาร กองทัพได้มีการใช้กลไกในระดับต่างๆ ในการเจรจาแก้ปัญหา ส่วนกำลังทหารที่ใช้จากเดิมประจำการในระดับกองพัน แต่ได้เพิ่มเติมกำลังเป็นระดับกองพล ส่วนกัมพูชานั้น ล่าสุดได้ทราบว่ามีการส่งกำลังลงไปในพื้นที่เช่นกัน จากหน่วยกองพลทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ 3 กองพลน้อย ทั้งนี้ก็เพราะเขาไม่ไว้ใจเรา หากการเจรจายังไม่ยุติ และ ไทยยังไม่ถอนกำลัง ทั้งนี้ฝั่งกัมพูชาได้มีปรับพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่มีการสร้างถนนบ้านโกมุย ที่เดิมกว้างแค่ 7 เมตร เป็นดินลูกรัง ก็เทเป็นถนนคอนกรีต เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่งบำรุงเข้าพื้นที่ ใช้งบประมาณจากกองทุนในมูลนิธิบายน ซึงมีนางฮุนมาเน็ต ลูกสาว สมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังท่าทีของผู้นำกัมพูชาลดความแข็งกร้าวลง โดยยืนยันที่จะเจรจาโดยใช้สันติวิธี ในการเจรจาระดับ เจบีซี ก็มีความคืบหน้าในประเด็นเทคนิคหลายจุด ในฝ่ายไทยยังยืนยันในการใช้กลไกของ จีบีซี และ อาร์บีซีในการแก้ไขปัญหา

นายประเสริฐ โสตถิพัฒนาพงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาและคิดว่าน่าจะอยู่ในเขตไทยคือบริเวณคาสิโนปอยเปต ซึ่งพื้นที่จะโค้งเข้ามาในฝั่งไทย หลายกิโลเมตรชื่อ ฮอลิเดย์ คาสิโน และ ฮอลิเดย์ ปอยเปต ลึกเข้าไปยังมีอีกหลายบ่อน รวมแล้วมี 10 บ่อนเป็นของกัมพูชา 5 บ่อน และ เป็นของนักการเมืองไทยและพ่อค้าน้ำมันทำไว้ โดย 1 บ่อนเป็นของคุณหญิง และ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไทย เศรษฐกิจตรงนี้สามารถสร้างรายได้ประมาณ 1 พันล้าน ต่อปี ต่อบ่อน ทำให้ไทยสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจพอสมควรเพราะคนไทยจะข้ามไปเล่นเป็นส่วนใหญ่ มีวัยรุ่น ไฮโซ มีห้องส่วนตัวไว้ให้อัพยา แม้กระทั่งนักการเมือง ถึงระดับรัฐมนตรีก็มีไปเล่น สร้างรายได้ให้บ่อนเหล่านี้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งแต่ละบ่อนจะต้องส่งส่วยให้รัฐบาล 5 แสนต่อเดือน

นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อเกิดประเด็นเขาพระวิหาร ทำให้ประชาชนตามแนวชายแดนของเขาหวาดกลัว ทำให้การค้าขายลดลง จากเดิมที่นำเข้าไป 2.2 หมื่นล้านต่อปี ก็ลดลงไปอย่างฮวบฮาบ ในขณะที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา 4 พันล้านต่อปี การนำเข้าของกัมพูชาในช่วงหลังได้รับการคุ้มครองจากการที่รัฐบาลไทยก่อนหน้านี้ไปทำ คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ทำให้มีการสวมสิทธิ์เข้ามามากมาย ซึ่งรัฐบาลนี้ได้มีมาตรการในการป้องกันอยู่ เพราะไทยจะสูญเสียทางเศรษฐกิจมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น