xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาถูกฝ่ายทหาร “บีบ”เรื่องนโยบายอิรัก

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama under the gun over Iraq
By Gareth Porter
13/11/2008

ว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเผชิญกับการรณรงค์ที่มีระดับกว้างขวาง ของพวกนายทหารตลอดจนผู้สนับสนุนทั้งที่อยู่ในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองและในสื่อมวลชน เพื่อให้เขายกเลิกแผนการที่จะถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักภายในเวลาเพียงแค่ 16 เดือน ทว่าจากการที่คณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ได้ยอมถอยแล้วในแนวรบเดียวกันนี้ จึงย่อมหมายความว่าโอบามาน่าจะไม่ต้องการ “ที่ทางสำหรับการเอี้ยวตัว” ตามที่พวกซึ่งพยายามกดดันเขาเสนอขึ้นมา เพื่อไว้ใช้เป็นข้ออ้างในการชะลอการเดินหน้าทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้กับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

วอชิงตัน – การผลักดันให้มีการแต่งตั้ง รอเบิร์ต เอ็ม. เกตส์ ป็นรัฐมนตรีกลาโหมของว่าที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามาให้ได้ ดูท่าจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการรณรงค์ที่มีขนาดกว้างขวางของพวกนายทหารตลอดจนผู้สนับสนุนพวกเขาทั้งในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองและในสื่อมวลชน เพื่อกดดันให้โอบามาต้องยอมยุติแผนการของเขา ที่จะให้ถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักภายในเวลาเพียงแค่ 16 เดือน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีแรงบีบคั้นทั้งที่เป็นนัยๆ และที่โต้งๆ โจ่งแจ้ง ให้เขาต้องยอมประนีประนอมผ่อนปรนในแผนการถอนทหารของเขานี้ แต่โอบามาก็น่าที่จะมองเลยข้ามเกตส์อย่างไม่แยแส และยังคงยืนหยัดปักหลักอยู่กับคำมั่นระหว่างการหาเสียงของเขาในเรื่องการถอนทหารจากอิรัก ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ทราบเรื่องดีและใกล้ชิดกับค่ายโอบามา

ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังโอบามาชนะการเลือกตั้ง แนวความคิดเรื่องให้เกตส์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมต่อไปในคณะรัฐบาลของโอบามา ก็ถูกปล่อยออกมาทางหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งรายงานเอาไว้ว่า “เวลานี้กำลังมีการโหมกระพือเรื่องๆ หนึ่งสู่สาธารชนโดยพวกคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์และพวกนักวิจารณ์ทางสื่อต่างๆ รวมทั้งได้รับการบอกกล่าวอย่างเงียบๆ จากบรรดาปากเสียงชั้นนำในรัฐสภาของพรรคการเมืองของมิสเตอร์โอบามาเอง เรื่องที่ว่านี้ก็คือ มิสเตอร์เกตส์ควรจะได้รับการขอร้องให้อยู่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการชั่วคราวในระยะเดือนแรกๆ ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่”

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลก็รายงานในฉบับวันอังคาร(11)ว่า ที่ปรึกษาของโอบามา 2 คนซึ่งมิได้มีการระบุชื่อ ได้บอกว่าโอบามา “กำลังเอนเอียง” ไปในทางที่จะขอให้เกตส์อยู่ในตำแหน่งต่อ ถึงแม้รายงานข่าวชิ้นนี้จะกล่าวด้วยว่ายังมีคู่แข่งขันอีกหลายๆ คนที่มีความหวังอยู่เช่นกัน วอลล์สตรีทเจอร์นัลบอกว่าเกตส์นั้นคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการกำหนดตารางเวลาใดๆ ก็ตามเพื่อการถอนทหารออกจากอิรัก ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคาดเดาเอาว่า หากมีการแต่งตั้งเกตส์ ก็“อาจหมายความว่ามิสเตอร์โอบามากำลังนำเอาคำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงของเขาที่ว่าจะถอนทหารแทบทั้งหมดออกจากอิรักภายในกลางปี 2010 เก็บใส่เข้าลิ้นชักไว้ก่อน”

อันที่จริงที่ปรึกษาของโอบามาบางคนได้ใช้กลยุทธ์ต่างๆ มาหลายเดือนแล้วเพื่อให้มีการแต่งตั้งเกตส์ เป็นต้นว่า อดีตรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ ริชาร์ด แดนซิก ได้เสนอแนวความคิดเรื่องให้เกตส์ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายน และอีกครั้งหนึ่งตอนต้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี แดนซิกบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันที่ 1 ตุลาคมว่า เขายังไม่ได้หารือกับโอบามาถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้หรอก

ส่วนทางด้านเหล่าที่ปรึกษาของโอบามาที่สนับสนุนแผนการถอนทหารออกจากอิรักของเขา ต่างก็คัดค้านการแต่งตั้งเกตส์ เนื่องจากการได้รัฐมนตรีกลาโหมที่ไม่ได้สนับสนุนอย่างเต็มเหนี่ยวต่อกรอบตารางเวลา 16 เดือนนี้ ย่อมจะทำให้เป็นไปได้ยากมาก หากไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย ที่โอบามาจะบังคับให้กองทัพต้องเดินหน้าปฏิบัติตามแผนการดังกล่าวนี้อย่างตลอดรอดฝั่ง

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับทีมงานรับมอบอำนาจของโอบามา บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสเมื่อวันอังคาร(11)ว่า โอกาสที่เกตส์จะได้รับแต่งตั้งจากโอบามานั้น “เวลานี้เหลืออยู่ราวๆ 10% เท่านั้น”

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า โอบามากำลังยืนหยัดมั่นเหนียวกับกำหนดเวลาถอนทหารภายใน 16 เดือนของเขา ถึงแม้ขณะนี้กำลังปรากฏแรงกดดันโหมซัดสาดใส่ตัวเขาให้เปลี่ยนใจ “ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้เลย” แหล่งข่าวรายนี้ยืนยันแต่ปฏิเสธที่จะพูดแจกแจงมากกว่านี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนยิ่ง

แรงต่อต้านคัดค้านคำมั่นสัญญาของโอบามาที่จะถอนทหารหน่วยสู้รบออกจากอิรักโดยวางเป็นกรอบตารางเวลา 16 เดือนนั้น มีอยู่อย่างกว้างขวางและลึกล้ำในบรรดาคนที่อยู่ในแวดวงด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรทางการเมืองของบุคคลเหล่านี้ พวกผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนไม่มีคลุมเครือเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับแผนการใดๆ ก็ตามที่ให้ถอนทหารออกจากอิรักอย่างรวดเร็ว ขณะที่สื่อมวลชนที่ติดตามเสนอประเด็นปัญหานี้ ก็กำลังรายงานข่าวชนิดที่อิงอยู่กับสมมุติฐานที่ว่า โอบามาจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการนี้ของเขา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกองทัพ

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์รายงานข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อวันจันทร์(10)ซึ่งกล่าวว่า พล.ร.อ.ไมเคิล มุลเลน ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ คัดค้านไม่เห็นด้วยที่โอบามาจะให้จัดทำแผนถอนทหารแบบเป็นตารางเวลา โดยบอกว่าเป็นการกระทำที่ “อันตราย” เขายืนยันเรียกร้องว่า “การลดกำลังทหารจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสภาพการณ์ในสมรภูมิ” ทั้งนี้ มุลเลนก็เฉกเช่นเดียวกับ พล.อ.เดวิด เพเทรอัส ซึ่งเวลานี้เป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และ พล.อ.เรย์ โอดิเอร์โน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรักคนใหม่ นั่นคือ กำลังถูกวาดภาพว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแถวนายทหารซึ่งคัดค้านตารางเวลาของโอบามา

ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวชิ้นนี้ของวอชิงตันโพสต์ ซึ่งได้แก่ อเล็ก แมคกิลลิส กับ สกอตต์ ไทสัน ได้อ้าง “ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมหลายราย” ที่ทำนายว่า “หากโอบามายอมใช้วิธีการที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ ซึ่งพวกที่ปรึกษาของเขากำลังเสนอแนะอยู่ อันจะทำให้แต่ละฝ่ายต่างสามารถปรับตัวได้เพิ่มมากขึ้น” ความสัมพันธ์ระหว่างโอบามากับพวกผู้นำทหารเหล่านี้ ก็จะสามารถดำเนินไป “อย่างราบรื่นและผลิดอกออกผล” แต่ถ้าโอบามา “บีบคั้นให้ต้องมีการถอนกำลังทหารเดือนละ 2 กองพลน้อย” ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็พยากรณ์ว่า “ความขัดแย้งกันจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

รายงานข่าวชิ้นนี้ได้อ้างคำพูดของ ปีเตอร์ ดี ฟีเวอร์ อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติในยุคคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นผู้วางแผนทางด้านยุทธศาสตร์ในนโยบาย “โหมเพิ่มกำลัง” ทหารอเมริกันในอิรัก โดยฟีเวอร์เตือนว่าตารางเวลาของโอบามาจะยิ่งเร่งให้เกิด “วิกฤตระหว่างพลเรือนกับทหาร” หากโอบามาไม่ยอมผ่อนผันตามข้อเรียกร้องขอให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ ของมุลเลน, เพเทรอัส, และโอดิเอร์โน

ฟีเวอร์ซึ่งเวลานี้กลับไปทำงานให้กับมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า เขาไม่เชื่อว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะบังเกิดขึ้นมา “มันไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่โอบามาจะก้าวเข้ามาและกระทำตามสิ่งที่เขาได้พูดไว้ว่าจะทำระหว่างการรณรงค์หาเสียง” โดยที่โอบามาเองก็ได้เปิดทางให้ตัวเองมี “ที่ทางเพียงพอสำหรับการเอี้ยวตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงแผนการ(ถอนทหาร)”เอาไว้แล้ว อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติผู้นี้บอก

ทำนองเดียวกัน เจมี แมคอินไทร์ ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นประจำเพนตากอน ก็รายงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่า โอบามา “ได้มีการเปิดทางให้ตัวเองมีที่ทางสำหรับการเอี้ยวตัวได้บ้าง” ในการสนองตอบข้อเรียกร้องต้องการความยืดหยุ่นให้มากขึ้นของฝ่ายทหาร แมคอินไทร์บอกว่า โอบามาได้ “ให้สัญญาที่จะปรึกษาหารือกับพวกผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯ และปรับเปลี่ยนแผนตามที่เห็นว่าจำเป็น”

ทว่าเว็บไซต์ของโอบามาไม่ได้มีคำมั่นสัญญาใดๆ ที่จะ “ปรับเปลี่ยน” ตารางเวลาดังกล่าวเลย ตรงกันข้าม เว็บไซต์นี้บอกว่า “การถอนกำลังทหารของเราจะดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบและเป็นขั้นเป็นตอน อำนวยการและสั่งการโดยบรรดาผู้บังคับบัญชาทหารในสมรภูมิ และกระทำโดยที่มีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลอิรัก” เนื้อความในเว็บไซต์นี้ยังกล่าวปกป้องเรื่องการถอนทหารในอัตรา 1 หรือ 2 กองพลน้อยต่อเดือน ตลอดจนเสนอที่จะเหลือ “กำลังทหารส่วนตกค้าง” เอาไว้จำนวนหนึ่งในอิรัก เพื่อทำหน้าที่ “ฝึกอบรมและสนับสนุนกองกำลังของทางอิรัก ตราบเท่าที่พวกผู้นำอิรักยังคงมุ่งหน้าสู่การปรองดองทางการเมืองและถอยห่างจากการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า”

เมื่อตอนที่โอบามาพบปะกับเพเทรอัสในกรุงแบกแดดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพเตรอัสได้เสนอเหตุผลข้อสนับสนุนอย่างละเอียดสำหรับทางเลือกแบบถอนทหาร “ที่อิงอยู่กับการพิจารณาเงื่อนไขสภาพการณ์” แทนที่จะดำเนินการตามแบบกำหนดตารางเวลาของโอบามา และจบลงด้วยการขอให้มี “ความยืดหยุ่นอย่างสูงสุด” ในการกำหนดเวลาการถอนทหาร ทั้งนี้ตามรายงานของ โจ ไคลน์ ในนิตยสารไทม์ วันที่ 22 ตุลาคม

ทว่าโอบามาปฏิเสธไม่ยอมถอยให้ รายงานของไคลน์ระบุเช่นนี้ โอบามาบอกกับเพเทรอัสว่า “งานของคุณคือสร้างความสำเร็จในอิรักตามเงื่อนไขอันเอื้ออำนวยต่างๆ ที่เราจะสามารถแสวงหามาได้ ทว่างานของผมในฐานะที่อาจจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็คือ พิจารณาคำแนะนำของคุณและผลประโยชน์ต่างๆ โดยกลั่นกรองผ่านการคำนึงถึงความมั่นคงแห่งชาติโดยองค์รวมของเรา” ทั้งนี้โอบามาได้กล่าวปกป้องนโยบายของเขาที่ให้กำหนดวันเวลาแน่นอนสำหรับการถอนทหารจากอิรักว่า เป็นเพราะต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน, ค่าใช้จ่ายของการที่สหรัฐฯจะยึดครองอิรักไว้ต่อไป, และความเครียดความล้าของบรรดากองกำลังทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ

พวกคัดค้านแผนการของโอบามาซึ่งอยู่นอกคณะรัฐบาลบุช ดูเหมือนจะไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คณะรัฐบาลบุชเองก็ได้ยอมยกเลิกทางเลือกในการ “ถอนทหารที่อิงอยู่กับการพิจารณาเงื่อนไขสภาพการณ์” อย่างที่ฝ่ายทหารสหรัฐฯกำลังเรียกร้องอยู่ไปเสียแล้ว จากการที่คณะรัฐบาลนี้กำลังตกลงยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝ่ายอิรัก ที่ให้สหรัฐฯถอนทหารออกไปอย่างสิ้นเชิงภายในสิ้นปี 2011

ฟีเวอร์ ซึ่งเป็นอดีตนักวางแผนด้านยุทธศาสตร์ให้กับ สตีเฟน แฮดลีย์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาตินั้น ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ตัวเขาเองยังคงมีสมมุติฐานอยู่ว่า “ถ้าสหรัฐฯตกลงยินยอมในข้อเรียกร้อง มันก็จะต้องมีการสงวนสิทธิ์เรื่องความยืดหยุ่นตามทีเพเทรอัสและโอดิเอร์โนบอกว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับมา”

ทว่าแม้กระทั่งช่องโหว่เล็กๆ ที่เคยเหลือเอาไว้ในร่างฉบับก่อนๆ ของข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับอิรัก ซึ่งเปิดทางให้ขยายเส้นตายปี 2011 ออกไปอีก หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงนี้ด้วยความยินยอมเห็นชอบของรัฐสภาอิรัก เวลานี้มันก็ได้ถูกปิดลงเสียแล้วในร่างฉบับ “สุดท้าย” ที่คณะรัฐบาลบุชยื่นเสนอต่อรัฐบาลนูริ อัลมาลิกี ของอิรักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานข่าววันที่ 10 พฤศจิกายนของสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ดเพรส (เอพี) ซึ่งได้เห็นสำเนาของร่างฉบับนี้

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น