xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯเร่งแก้ราคายางพารา “สุเทพ”ขอเป็นเจ้าภาพเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดรายการ -“มาร์ก” ยาหอม วางระบบใหม่แก้ปัญหายางพารา รับต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงราคาตก 30 บาทต่อกก. ด้าน“สุเทพ” รับแก้ปัญหายางพาราเอง

วานนี้ (11 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่าง นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย จำนวน 30 คน เข้ายื่นข้อเสนอและข้อมูลการแก้ไขปัญหายางพารา ว่าข้อมูลที่ตนได้นำเสนอมานั้นได้มีโอกาสพูดในหลายเวที ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายโอกาสของประเทศเกี่ยวกับยาง เช่น ยาง100 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยส่งออกเป็นยางดิบไม่แปรรูป 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ส่งออกแปรรูป 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มูลค่าของส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ และ90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ให้นำกลับมาแปรรูปก่อนส่งออกจะสามารถเพิ่มรายได้ 7-8 เท่า เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ในช่วงของการเข้ามาบริหารประเทศเป็นช่วงที่ราคายางมีราคาตกต่ำ โดยบางพื้นที่ต่ำกว่า 30 บาท จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าไปก่อน

อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังจะจัดวางระบบใหม่ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่คณะกรรมการสภาการยาพาราฯ เสนอมา โดยได้มีการปรึกษากับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าน่าจะต้องมีการแยกพืชผลแต่ละชนิดออกมาให้ชัดเจน เช่น ข้าว ยาง มัน ปาล์ม หรือข้าวโพด เพื่อจะได้มีกลไกลเฉพาะมาดูแลตรงนี้ ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องของการแก้ไขปัญหายางพาราไปดูแลแล้ว เพื่อไปทำกลไกเฉพาะในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา โดยจะมีนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าไปช่วยดูแลด้วยอีกทางหนึ่ง ส่วนในเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ และเรื่องการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางโดยภาครัฐ ที่ทางคณะกรรมการสภาการยางฯ เสนอมา ก็จะนำไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรต่อไป

เผย 7 ข้อเสนอ “มาร์ก” รับแก้ปัญหายางพารา

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหายางพารา โดยระบุว่า เนื่องจากยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยสามารถผลิตเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ ปี พ.ศ.2534 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยสามารถผลิตยางได้จำนวน 3.1 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 31 ของผลิตยางทั่วโลก แต่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศเพียง 373,659 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12 ของผลผลิต และคิดเป็นมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ 126,211 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 2.7 ล้านตัน ส่งออกในรูปของยางดิบ สามารถนำเงินเข้าประเทศ รวม 194,357 ล้านบาท ซึ่งยางพาราเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันที่

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราที่ทางคณะกรรมการสภาการยางพาราแห่งประเทศไทยเสนอประกอบด้วย อาทิ 1) รัฐบาลควรกำหนดให้มี "พระราชบัญญัติการยางพาราแห่งประเทศไทย" ซึ่งเป็นองค์การที่รวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบ เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการยางฯ จะมีกองทุนพัฒนายางพารา สนับสนุนการพัฒนายางพาราทั้งระบบให้กับองค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับยาพารา รวมทั้งมีกองทุนเลี้ยงชีพเกษตรกรชาวสวนยาเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

2) การแก้ไขปัญหาคนว่างงานที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยการนำยางพารามาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดอาชีพแก่คนว่างงาน และส่งผลให้ราคายางสูงขึ้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมคนว่างงาน เช่น การทำรองเท้านักเรียนหรือซีลท่อประปา ซึ่งขณะนี้มีโรงงานต้นแบบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่พร้อมให้การฝึกอบรม อย่างไรก็ตามขอให้รัฐบาลช่วยหาตลาดรองรับ

3) การแก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความปลอดภัยให้กับเกษตรกร โดยให้เกษตรกรสามารถกรีดยางได้ในตอนกลางวัน โดยใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนฉีดเข้าไปในต้นยาง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น น้ำยางไหลได้นานขึ้น โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์และฮอร์โมนดังกล่าวให้กับเกษตรกร

4) การเพิ่มนักวิจัยด้านยางพารา เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณยาง โดยขอให้รัฐบาลส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราอย่างมีทิศทาง ครบวงจรและต่อเนื่อง 5) นโยบายการส่งเสริมเพิ่มมูลค่ายางพารา โดยการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าการขายยางพาราเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งการหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตได้ภายในประเทศหรือมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ เพื่อให้งานวิจัยยางพาราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยดำเนินการผ่านทางนโยบายรัฐที่เน้นการสร้างตลาดในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล

6) สนับสนุนให้มีหน่วยงานรับทดสอบผลิตภัณฑ์และปรับปรุงงานด้านการมาตรฐานยางพาราให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อและถุงมือยาง และ7) ขอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เนื่องจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ไม่ครอบคลุมการทำและแปรรูปเศรษฐกิจของภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น