xs
xsm
sm
md
lg

ยอดตกงานม.ค.พุ่ง140%มาร์คสั่งรายงานทุก7วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯสั่งรับมือสถานการณ์คนตกงาน จี้รายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์ มั่นใจยอดว่างงานไม่เกินที่คาดไว้ 1 ล้านคน รมว.แรงงานเผยตัวเลข ม.ค.พุ่ง 140% ส่วนสิ้นปี 51 อยู่ที่ 3.8 แสนคน หรือเพิ่มจากปีก่อน 38.26% กิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้างสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องเรือน สิ่งทอและเครื่องจักร ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ 4 มาตรการ "ติดตามเฝ้าระวัง-มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม-จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ-อุ้ม 4.5 แสนคน" รมว.ท่องเที่ยวโวยที่มางบท่องเที่ยวพันล้าน อ้างมรดกสมัยรัฐบาลสมชาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.)วานนี้ (11 ก.พ. ) ว่า มี 2 ประเด็นสำคัญได้แก่ ปัญหาแรงงานกับปัญหาสินเชื่อ กรณีปัญหาแรงงาน กระทรวงแรงงานได้รายงานสถานการณ์แรงงาน ปัญหาการปลดพนักงาน การเลิกจ้าง รวมทั้งสัญญาณการว่างงานที่จะตามมา ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานและกระทรวงอื่นๆ จะนำโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในงบประมาณ เสนอมาให้ครม.ด้านเศรษฐกิจรับทราบอีกครั้ง ซึ่งจะพิจารณาว่าจะดำเนินการกับโครงการใดเพื่อให้สอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งต้องสำรวจรายละเอียดว่า ผู้ที่ถูกเลิกจ้างมาจากภาคอุตสาหกรรมใด เพื่อจัดการฝึกอบรมรองรับกับตำแหน่งงานที่ว่างลง
"มั่นใจจำนวนผู้ว่างงานจะไม่มากไปกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์การจ้างงานให้ทราบทุกสัปดาห์" นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า ขณะนี้ในส่วนของงบประมาณกลางปีสามารถรองรับปัญหาการว่างงานได้ 5 แสนคน ไม่รวมงานที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะจัดโครงการต่างๆ เพิ่มเติม คาดว่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะมีมากกว่า 5 แสนคน
"มาตรการที่ออกมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ โดยจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลทั้งหมด แต่จะมีส่วนของเอกชนเข้ามาสมทบ อย่างไรก็ตามแนวทางที่ดีที่สุดคือ การยับยั้งไม่ให้มีการเลิกจ้างโดยส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ม.ค.ว่างงานยอดพุ่ง 140%

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ยอดผู้ว่างงานในเดือน ม.ค.2552 เพิ่มขึ้น 6.7 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 140.84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดผู้ว่างงานในปี 2551 อยู่ที่ 3.88 แสนคน เพิ่มขึ้น 38.26% จากปี 2550 โดยเดือน ก.พ.52 มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 128,173 อัตรา ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดโครงการนัดพบแรงงานทุกวันเสาร์ในทุกภูมิภาค ส่วนกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ เครื่องเรือน สิ่งทอ และเครื่องจักร
"ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานรายงานสถานการณ์และแนวโน้มปัญหาการว่างงานให้รับทราบทุกเดือน รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน จัดทำรายละเอียด งบประมาณเรื่องการแก้ปัญหาแรงงาน เสนอต่อนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อวางแนวทางการทำงานในเชิงบูรณาการ"
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานใน 4 มาตรการคือ 1. การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน 2. การดำเนินงานภายใต้กรอบมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ได้แก่ ลดการว่างงาน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยมุ่งเน้นให้แรงงานมีตำแหน่งงานอยู่ในพื้นที่เดิม ลดค่าครองชีพ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ และเพิ่มฝีมือแรงงาน 3. จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานในวิกฤตเศรษฐกิจ ในรูปแบบเดียวกับที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการว่างงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4. ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ว่างงานได้ประมาณ 450,000 คน ครอบคลุมผู้เลิกจ้างและว่างงาน ผู้จบการศึกษาใหม่ แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ แรงงานในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง และการประกอบอาชีพใหม่
"คาดว่า มาตรการที่กระทรวงแรงงานนำเสนอในวันนี้ จะช่วยเหลือผู้ว่างงาน 450,000 คน ครอบคลุมผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน ผู้จบการศึกษาใหม่ รวมถึงแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ" นายไพฑูรย์กล่าว

เพิ่มทุนแบงก์แลกสินเชื่อเกิด

สำหรับการแก้ปัญหาสินเชื่อ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ใช้กลไกของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีเป้าหมายในการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3 เท่า โดยทั้งสองส่วนแรก เป็นเรื่องสินเชื่อการส่งออก ส่วนที่สองเป็นเรื่องเอสเอ็มอี ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนเพิ่มทุนให้กับทั้ง 2 แห่งซึ่งหากมีความสูญเสียเกิดขึ้นก็จะมีการชดเชยในวงเงินที่จำกัด (อ่าน...ครม.ศก.อัดฉีดหมื่นล้าน! ลุ้น2แบงก์ปล่อยกู้แสนล...หน้า 17)

โวยงบท่องเที่ยวพันล้านแหกตา

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมรับทราบการใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนการกระตุ้นตลาดหลังวิกฤตเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ก.พ.
นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า แผนการตลาดเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากครม.ได้อนุมัติวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อการดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะแบ่งออกเป็นแผนการกระตุ้นการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 350 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูภาพลักษณ์สร้างความเชื่อมั่น 250 ล้านบาท (รวม 600 ล้านบาท) และแผนงานกระตุ้นตลาดในประเทศ 400 ล้านบาท
นายชุมพลกล่าวว่า งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับนั้น เป็นงบประมาณปกติปี 2552 วงเงิน1,900 ล้านบาท ที่รัฐบาลรักษาการ สมัยนายสมชาย วงค์สวัสดิ์ อนุมัติไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่งบประมาณเพิ่มเติม ปี 2552 เพื่อจัดตั้งกองทุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)วงเงิน5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบด้านท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน หลังจากนายกรัฐมนตรี เห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุมครม.เศรษฐกิจ วันที่ 11 ก.พ.นี้
“ไม่ได้มีการพิจารณางบ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นว่า การประชุมครม.เศรษฐกิจ ไม่สามารถที่จะอนุมัติงบประมาณได้ จึงต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในการประชุมครม.ปกติคราวหน้า โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะเป็นผู้ที่ไปคิดว่าจะจัดหางบประมาณอย่างไร”นายชุมพลกล่าว
นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.สนั่น) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่มาร่วมประชุม ยังได้ท้วงติงว่า งบประมาณ 1,000 ล้านบาทหากจะจัดทำเป็นแผนงานระยะยาว ไม่แน่ใจว่าจะพอหรือเปล่า เพราะต้องใช้งบในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเวลาเสนองบประมาณจะเป็นตัวชี้วัดถ้าจะดูในรายละเอียดในแผนระยะยาวจะต้องทำใน 2-3 ปี งบประมาณจะเท่าไร
“อย่างเราไปซื้อสปอต์ทีวีในต่างประเทศชิ้นหนึ่ง ก็หลายล้านแล้ว ซึ่งตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อโรดโชว์ ทางประเทศญี่ปุ่นก็แนะนำให้นายกฯไปออกข่าวในสื่อท้องถิ่น ขณะที่เงินดังกล่าวนี้เราต้องนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอีกหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง”
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่า วันนี้ไม่มีการประชุมเรื่องที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ท้วงติง เรื่องงบประมาณของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

พัฒนาท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย

พล.ต.สนั่นกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (The Royal Coast) หรือ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย หรือ ไทยแลนด์ริเวียร่า เดิมตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอและให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มท่องเที่ยว The Royal Coast โดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานและคณะอนุกรรมการการจัดทำแผนการตลาดกลุ่มท่องเที่ยว The Royal Coast โดยให้ประธานคณะ กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นประธาน โดยมอบอำนาจให้ประธานคณะกรรมการ นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ
“ให้ไปดูว่า งบประมาณที่หลายหน่วยงาน จะดำเนินการจะมีความทับซ้อนกันหรือไม่ เช่น กรมทางหลวงชนบท มีงบประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อจัดสร้างถนนไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่อยู่ในแผนการพัฒนา”
แผนการพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (The Royal Coast ) มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับตลาดบน (high-end) และมีทรัพยากร และแหล่งท่องเที่ยว ที่หลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเชิงธรรมชาติได้แก่ ภูเขา ทะเล และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยได้ตั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในกลุ่ม The Royal Coast ให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่ไม่ไกลจากเมืองหลวง (Quality Tourism Destination Adjacent to the Metropolitan)
โดยให้นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้ประสานงานในการหารือร่วมกันกับสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาหารือนอกรอบร่วมกัน และปรับปรุงข้อเสนอแนวทางการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น