xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เกาถูกที่คันแล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “คมความคิดเศรษฐกิจมหภาค”
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
(GSPA NIDA)

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระลอกๆ อยู่แล้ว จึงขอไม่ลงไปในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เพื่อเป็นการชี้ ให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วหรือยัง

หากจะเปรียบเทียบวิกฤตครั้งนี้กับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน ในปี 2540 นั้น จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ชนวนเหตุมาจากการที่สถาบันการเงินมีปัญหา รวมถึงการผิดพลาดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจนมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เผชิญอยู่ในขณะนี้มีต้นตอมาจากสหรัฐอเมริกา จากการจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่รัดกุม สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ และออกตราสารการเงินที่หนุนหลังโดยสินเชื่อเหล่านี้จนลุกลามกลายเป็นแผลเหวอะหวะ

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงคือผู้ที่เข้าไปลงทุนในตราสารการเงินที่หนุนหลังโดยสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่เจริญ มีการพัฒนาอย่างมากในส่วนของตลาดทุน และตราสารทางการเงินใหม่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งได้มีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 แล้ว

ขณะที่ประเทศไทยถือว่าไม่ค่อยได้รับผลกระทบในทางตรง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศทั้ง แอฟริกา ลาว กัมพูชา พม่า และละตินอเมริกา เนื่องจากประเทศดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในช่วงของการพัฒนา ทั้งตัวตลาดทุนและตราสารทางการเงินใหม่ๆ จึงไม่ได้มีการเข้าไปลงทุนมากนัก

ส่วนที่สอง คือผลกระทบในทางอ้อม ซึ่งสถาบันการเงินทั้งหลายที่เข้าไปลงทุนและได้รับความเสียหายจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชนที่ต้องการจะลงทุนที่ต้องชะลอออกไป กระทบต่อการผลิต การจ้างงาน ถือเป็นผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง และส่วนนี้เองถือว่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกกว่า 70% ในแต่ละปี โดย เป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาถึง 20% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ที่เหลือก็จะกระจายไปในแถบยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงในอาเซียน ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบโดยผ่านการส่งออกที่หดหายไป

ทั้งนี้ จากผลกระทบในทางอ้อมจากการขาดหายไปของตลาดส่งออกดังกล่าวนั้นทำให้ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นข่าวการเลิกจ้างแรงงาน ปิดโรงงาน อย่างต่อเนื่อง และภาพดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 นี้ โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะขยายตัวในระดับไม่เกิน 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่การส่งออกมีการขยายตัวสูงถึง 18% ขณะที่ประเมินตัวเลขคนว่างงานในปีนี้จะมีสูงถึง 1-1.2 ล้านคน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

จากสมมติฐานของโรคดังกล่าว การรักษาโรคในครั้งนี้ให้ได้ผล โรคที่เกิดจากภายนอก (สหรัฐอเมริกา) ต้องหายสนิทก่อน ส่วนภายใน (ประเทศไทย) แค่เฝ้าระวัง ประคองตัว และดูแลอาการที่ติดเชื้อให้ดีที่สุด

คำถามก็คือว่า ระหว่างที่ภายนอกกำลังรักษาตัวอยู่นั้น ภายในสามารถทำอะไรได้บ้าง

สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับบรรเทาอาการที่เกิดจากภายนอกประเทศก็คือ ภาครัฐจำเป็นจะต้องหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่มากนัก เช่น จีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลก และปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 7.5% เช่นเดียวกับอินเดียที่มีประชากรกว่า 1 พันล้านคนหรือ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งโลก และคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตอยู่ในระดับ 6.2%

นอกจากนี้ ยังมีประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่มีประสบการณ์เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วเมื่อปี 2540 ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตอยู่ในระดับ 3.5% รวมถึงตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา เพื่อมาชดเชยตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้

ส่วนภายในประเทศนั้น เศรษฐกิจจะสามารถประคองตัว และขับเคลื่อนไปได้ต้องมาจากการใช้จ่ายทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล

สำหรับภาคประชาชนและภาคธุรกิจนั้น จะทำให้เกิดการใช้จ่ายต้องเกิดขึ้นมาจากความเชื่อมั่น ไม่เช่นนั้นยาแรงที่รัฐฉีดเข้าเส้นผ่านตรงถึงมือประชาชนเลยนั้นจะไม่เป็นผลและจะยังเสียงบประมาณไปแบบไม่เกิดประโยชน์อย่างที่มุ่งหวังไว้

จริงอยู่...เศรษฐกิจจะเดินไปได้ต้องมาจากการใช้จ่าย แต่ถามว่ายาที่รัฐให้มาโดยการเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายให้กับประชาชนนั้นจะได้รับการตอบสนองมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าประชาชนมีเงินแต่ไม่มีความเชื่อมั่นก็ไม่กล้าที่จะใช้จ่าย เช่นเดียวกับภาคธุรกิจถ้ายังไม่มีความมั่นใจก็ยากที่จะลงทุนใหม่

ดังนั้น ภาครัฐจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในใช้จ่ายงบประมาณรวมกว่า 3.6 แสนล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด รวดเร็วที่สุด รอบคอบที่สุด และที่สำคัญต้องโปร่งใสที่สุด เพราะเม็ดเงินทุกบาทล้วนแต่มีภาระต้นทุนที่คนไทยทุกคนร่วมรับผิดชอบ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากจะฝาก หรือจะเรียกว่าสะกิดรัฐบาลชุดนี้เพื่อให้เกาได้ถูกที่คันจริงๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลา เสียงบประมาณ ไปในทางที่ไม่ควรจะเสีย

กำลังโหลดความคิดเห็น