xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันขาลง ปีฉลูดีมานด์ลด-ซัปพลายเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่มีใครคาดคิดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลล์ หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุดแตะที่ 140 ดอลาร์สหรัฐ/บาร์เรลล์ ซึ่งนับเป็นสถาการณ์ที่ทำให้ผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมของไทย และประเทศในกลุ่มโอเปคต่างมีความสุขไปตามๆ กัน

ในทางกลับกันปัจจุบันนี้เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง สิ่งที่กลุ่มบริษัทปิโตรเลียมและประเทศในกลุ่มโอเปคต้องทำคือ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

แนวโน้มน้ำมันปี 52 ราคาทรงตัวในระดับต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2552 ที่กำลังจะมาถึง อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ด้วยปริมาณการจำหน่าย และการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ในปี 2552 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่จะชะลอตัวลงมาก จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ลุกลามขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก

ขณะที่แนวโน้มอุปทานในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกำลังการผลิตส่วนเพิ่มที่จะสามารถดำเนินการผลิตได้ในตะวันออกกลาง และจีน จึงสร้างแรงกดดันให้การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยที่อาจทำได้ยากลำบากมากขึ้น

โดยราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาน้ำมันดิบที่จะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอยู่ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับวัฏจักรขาลงของปิโตรเคมีในปี 2552 นี้

ปัจจัยบ่งชี้ปิโตรเคมีปี 52...ก้าวสู่วัฏจักรขาลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศ และปริมาณการส่งออกในปี 2550 – 2551 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนถึงหดตัว ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้เริ่มต้นถึงการก้าวสู่ วัฏจักรขาลงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย แต่ทว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ในปี 2552 อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีไทยก้าวเข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างชัดเจน ได้แก่

อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามสู่ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันต่างๆ ได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ที่จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9 % ส่งผลให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีทั่วโลกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มความต้องการที่ลดต่ำลง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของผู้ประกอบการไทยที่จะกระทำได้อย่างยากลำบากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยบรรดานักวิเคราะห์จากหลากหลายสถาบันต่างคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 อาจอยู่ต่ำกว่า 3 % ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง อาจส่งผลให้การดำเนินการในโครงการลงทุนขนาดใหญ่(Mega Project) ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในปริมาณมากต้องล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศลดน้อยลง

นอกจากนี้ การที่อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้น โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในตะวันออกกลาง และประเทศจีนที่เริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิตได้มากขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2551 หลังจากที่ชะลอแผนการดำเนินการมากว่าสองปี จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีจะออกสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นได้ทัน อันจะส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มลดต่ำลง อีกทั้งยังทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ

ผลกระทบที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังประเทศจีนซึ่งถือเป็นตลาดหลักที่ไทยทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นปลายไปจำหน่าย ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังประเทศอื่นก็จะทำได้ยากลำบากด้วยเช่นกัน เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะส่งผลให้แต่ละประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากความต้องการภายในประเทศมากยิ่งขึ้น จนต้องทำการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สามารถใช้ทดแทนระหว่างผู้ผลิตแต่ละรายได้ค่อนข้างสมบูรณ์ และต้องอาศัยการประหยัดจากขนาดในการผลิตในการแข่งขัน ผู้ประกอบการที่ผลิตได้ในปริมาณน้อย หรือไม่เกิดการประหยัดจากขนาดในการผลิตจึงเสียเปรียบในการแข่งขัน นอกจากนั้น อาจเกิดปัญหาการรุกเข้ามาทำตลาดภายในประเทศไทยจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตะวันออกกลางซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

แนะปิโตรไทยปรับตัวรับการแข่งขัน
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2552 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะก้าวสู่วัฏจักรขาลง อย่างเต็มตัวด้วยแนวโน้มของอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมาก ขณะที่อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกก็เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะกำลังการผลิตจากตะวันออกกลาง และประเทศจีน ปัจจัยทั้งสองจะกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดต่ำลง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยรุมเร้าต่างๆ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีประเด็นสำคัญของการปรับตัวในด้านต่างๆ ดังนี้คือ ต้องพยายามรักษากลุ่มลูกค้าเก่า โดยผู้ประกอบการอาจเพิ่มความร่วมมือกับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้ผลิตสินค้ามากขึ้น พร้อมทั้งรุกหาตลาดใหม่ โดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา เช่น อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ถือเป็นตลาดที่ยังคงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่มาก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงเป็นตลาดที่มีแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สูง

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอุตสาหกรรมหนึ่งสำหรับประเทศไทยด้วยมูลค่าสูงถึง 6 % ของ GDP ในแต่ละปี โดยภาครัฐอาจพยายามผลักดันให้การดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project) สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการลงทุน และความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น