“น้ำตาล-ข้าวจ่อขึ้นราคา”อนาคตสิ้นค้าเกษตใส ราคาปรับตัวต่อเนื่อง นี่เป็นเพียงตัวอย่างหัวข้อข่าวประจำวัน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่นับร่วมถึงการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังจากนี้
ที่แน่ๆ ตอนที่ราคาน้ำตาล และราคาข้าวปรับตัวขึ้น แน่นอนว่าคนที่มีรายได้เท่าเดิม แต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นย่อมสร้างความกังวลใจต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนบางส่วนอย่าง ชาวนา ชาวไร่ และพ่อค้าข้าว ที่ได้รอยยิ้มจากสถานการณ์ดังกล่าว(ไม่รู้เหมือกันว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า)
เชื่อหรือไม่ว่า?...มีการคาดการณ์ราคาส่งออกข้าวขาวบ้านเราสูงถึงขนาดตันละ 600-700 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ซึ่งจากเดิมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ตันละ 300-400 เหรียญสหรัฐ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า หากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังปรับขึ้นสูงอีก เกษตรกรที่เลิกปลูกข้าวและผลิตพืชพลังงานทดแทนก็น่าจะปลูกพืชพลังงานทดแทนต่อไป เพราะยังได้ราคาดี และอาจทำให้ผลผลิตข้าวโลกลดลงอีก ไม่เพียงพอต่อการบริโภคของโลก ก็จะเกิดปัญหาการแย่งซื้อข้าวจนราคาปรับตัวสูงขึ้นได้
ไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น สิ่งที่คาดการณ์ไว้กลับตาลปัตร ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงฮวบฮาบ และสิ่งที่ตามมาคือ ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน
ราคาสินค้าเกษตร”ข้าว-ยางพารา”ปรับตัวลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่เคยไต่ระดับเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549 ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำ เริ่มจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 โดยเฉพาะข้าวขาว ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
เมื่อผนวกกับการคาดการณ์สภาวะการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตกต่ำ จึงคาดการณ์ได้ว่าในปี 2552 ไทยจะต้องเผชิญกับภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นกัน เนื่องจากภาวะความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก
โดยคาดการณ์ว่าในปี 2552 ทุกประเทศต่างเร่งขยายผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งจากแรงจูงใจด้านราคาและความต้องการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง และตลาดพลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ คาดหมายว่าการแข่งขันของสินค้าเกษตรกลับมารุนแรงเช่นเดิม ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง
การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันยังคงอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการพืชพลังงานในตลาดเพื่อการผลิตพลังงานทดแทนชะลอตัว จึงคาดหมายได้ว่าราคาพืชพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในช่วงของการปรับตัวลงเช่นกัน ทำให้โอกาสในการส่งออกพืชพลังงานของไทยลดลงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกดดันราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2552
เตือนวิกฤตสินค้าเกษตรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับสินค้าเกษตรของไทยคือ แนวโน้มการลดลงของราคาในปี 2552 นั้นจะรวดเร็วและรุนแรงเช่นเดียวกับในกรณีที่เกิดขึ้นกับยางพาราหรือไม่ กล่าวคือ ราคายางพาราในทุกระดับตลาด ตั้งแต่ตลาดท้องถิ่น ไปจนถึงตลาดส่งออกลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมทั้งยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากความวิตกว่าความต้องการยางในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบของวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ของประเทศผู้ผลิตรถยนต์สำคัญชะลอลง จากยอดขายรถยนต์ที่ลดลงทั่วโลก ดังนั้น ความต้องการยางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์จึงชะลอตัวตามไปด้วย
โดยปัจจัยที่ส่งผลกดดันราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกในปี 2552 มีดังนี้
ด้านการผลิต กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯคาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2552 โดยเฉพาะ Coarse Grain(ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์) ข้าวสาลี ข้าว และพืชน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจในด้านราคา และประเทศต่างๆขยายการผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งต้องการรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อในประเทศ เนื่องจากในปี 2551 ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นสัดส่วนสำคัญของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2551 ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรไม่รุนแรงเหมือนในช่วงปลายปี 2549 และ 2550
วิกฤตสหรัฐกดดันราคาสินค้าเกษตร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง ผนวกกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยจึงมีแนวโน้มลดลงด้วย ประเทศคู่ค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นชะลอนำเข้า และหันมาต่อรองราคาสินค้านำเข้ามากขึ้น
โดยหากไทยต้องการหันไปเจาะขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากตลาดเหล่านั้นก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯเช่นกัน รวมทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรต่างหันไปพึ่งตลาดส่งออกใหม่ๆกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดใหม่บางประเทศยังมีปัญหาในเรื่องการชำระเงิน นอกจากจะต้องเผชิญปัญหากดดันทางด้านตลาดแล้ว ในด้านการผลิตสินค้าเกษตรก็มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาดด้วย เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีการเพาะปลูก 2551/52 เนื่องจากราคาในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ถึงปี 2552 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรคงต้องเตรียมรับมือ และเร่งหาแนวทางแก้ไข
ดัชนีราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของโลกในปี 2552 มีแนวโน้มว่าจะลดลง เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งถือว่าเป็นปีฐาน หลังจากที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 ซึ่งการคาดการณ์นี้สอดคล้องกับสถาบันวิจัยหลายแห่งที่คาดการณ์ว่าในปี 2552 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแล้ว พบว่าดัชนีราคาหมวดธัญพืชและดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืชเป็นตัวฉุดดัชนีรวมของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในปี 2552 ให้ลดลง กล่าวคือ ดัชนีราคาของหมวดธัญพืช โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว มีแนวโน้มลดลงในปี 2552 จากที่เคยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 อันเป็นผลมาจากการขยายเนื้อที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญ ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรหันมาเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรลดลง ดังนั้น การแข่งขันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรง ผู้นำเข้าเริ่มต่อรองราคาสินค้า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก
ดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลงเช่นกันในปี 2552 เนื่องจากการขยายพื้นที่การผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการพืชพลังงาน แต่การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาทำให้ความความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างราคาน้ำมันกับน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนลดลง คาดว่าจะทำให้ความต้องการพลังงานทดแทนลดลงตามไปด้วย และนักลงทุนบางรายชะลอการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทน อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาพืชพลังงานล้นตลาดได้