เลย - สถานการณ์ราคายางตกต่ำทำเกษตรกรสวนยางเมืองเลย เดือดร้อนหนักรายได้จากการกรีดยางขายลดฮวบ 50% ผู้ว่าฯร่วม ผอ.กสย.ออกโรงแจงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูก พร้อมปลอบใจภาครัฐกำลังหามาตรการช่วยเหลือ
จากสถานการณ์ราคายางพาราที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางหดหายไปกว่า 50% ล่าสุดนายมานิตย์ มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุของปัญหาราคายางตกต่ำว่า เกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านการเงิน ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ประสบปัญหายอดขายลดลง ส่งผลให้ความต้องการยางวงล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางพาราลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการยางพาราไปเป็นวัตถุดิบการผลิตลดลงตามไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางพารามากที่สุดในโลก ชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทย ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงทำให้ราคายางสังเคราะห์ถูกลง เมื่อยางสังเคราะห์ถูกลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์ทดแทนยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ดึงราคายางธรรมชาติลดลงตามมาด้วย
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำนั้น ที่ประชุมบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้หารือถึงวิธีการจัดการสต๊อกและบริหารปริมาณยางในตลาดอย่างเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลจากการประชุม สรุปได้ว่า จะยังคงส่งเสริมให้มีการโค่นยางเก่าเพื่อปลูกแทนใหม่ด้วยยางพันธุ์ดี โดยหวังว่าจะช่วยลดผลผลิตยางที่กรีดแล้ว ทั้งจะขอความร่วมมือภาคเอกชนของ 3 ประเทศ งดเสนอราคาขายยางให้กับผู้ซื้อ เพื่อป้องกันการถูกกดราคา หรือตัดราคาขายกันเอง ในส่วนรัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสถาบันการเงินภายในประเทศได้ผ่อนคลายด้านสินเชื่อให้ผู้ค้ายางภายในประเทศ เพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน จะส่งผลให้การซื้อขายยางกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
จึงขอให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่าได้วิตกกังวลมากเกินไป และอย่ารีบเทขายผลผลิตทั้งหมด โดยให้เก็บไว้บางส่วนเพื่อรอดูมาตรการของรัฐบาล ซึ่งจะทราบผลในเร็ว ๆ นี้
ด้าน นายวิโรจน์ จิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดเลย (ผอ.สกย.จ.เลย) ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่เกษตรกรว่า คนที่คิดจะปลูกยางขอให้คิดให้รอบคอบ และหาข้อมูลให้รอบด้าน เนื่องจากสินค้าเกษตรทุกชนิดมีความเสี่ยง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว วางแผนการใช้ที่ดิน เช่น ปลูกพืชแซมหรือพืชร่วมระหว่างแถวยาง หรือทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือจัดแบ่งพื้นที่ในการปลูกพืช (โซนนิ่ง) ให้เหมาะสม และให้เกษตรกรชาวสวนยางติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งกำลังเร่งหามาตรการที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ สกย.มีโครงการบำรุงรักษาสวนและการกรีดยางอย่างถูกวิธีเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยจะเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่นอกโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ เข้ามาอยู่ในความดูแลของ สกย. เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรในภาคเหนือและภาคอีสานปลูกสร้างสวนยางเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความชำนาญและทักษะในการพัฒนาสวนยางพารา สกย. เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสรับการดูแล ถ่ายทอดความรู้ด้านการดูแลรักษาสวนยาง และพัฒนาการผลิตที่ถูกต้องจาก สกย.
ทั้งนี้ หลังจากอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ สกย.จะมอบหนังสือประจำตัวผู้เข้าร่วมโครงการ และแบ่งกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมติดตามและถ่ายทอดเทคโนโลยีการดูแลรักษาสวนยางตั้งแต่เริ่มปลูกถึงก่อนเปิดกรีด โดยจะจัดให้มีการประชุมกลุ่มชี้แจงการปฏิบัติงานดูแลรักษาสวนและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ
รวมทั้งนัดตรวจสอบการปฏิบัติงานดูแลรักษาสวนยางอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และกิจกรรมพัฒนาสวนยางตั้งแต่เริ่มเปิดกรีดเป็นต้นไป จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการกรีด การรวมกลุ่มขายยาง และการจัดตั้งตลาดประมูลยาง
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ซึ่งมีที่ดินสวนยางเป็นของตนเอง หรือเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ หรือเช่าที่ดินจากรัฐ โดยนำหลักฐานบัตรประจำประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ พร้อมหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการครอบครองหรือสัญญาเช่า และสำเนาหลักฐาน ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่รับสมัคร ณ ที่ทำการ สกย.จ.เลย ในวันเวลาราชการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-4286-1405, 0-4286-1669