xs
xsm
sm
md
lg

“คอนติเนนทอล”เฟิร์ม แผนลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คอนติเนนทอล” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ติดอันดับโลก ชื่อนี้คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับยี่ห้อยางรถยนต์ แต่ทว่าความจริงธุรกิจยางรถยนต์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาณาจักรธุรกิจขนาดมหึมาของกลุ่มบริษัท คอนติเนนทอล เท่านั้น

ล่าสุด คอนติเนนทอล ทุ่มทุนกว่า 5 พันล้านบาทบุกตลาดเมืองไทยอย่างเป็นทางการ โดยตั้งโรงงานและใช้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิต ซึ่ง “ASTVผู้จัดการ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “โธมัส แชมเบอร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงแผนการลงทุนและทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต
“โธมัส แชมเบอร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด
-ภาพรวมของกลุ่มคอนติเนนทอล?
กลุ่มบริษัท คอนติเนนทอล เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของโลกอันดับที่ 4 จากประเทศเยอรมนีโดยมีเครือข่ายคลอบคลุมทุกทวีปใน 36 ประเทศ ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานกว่า 150,000 คน

แบ่งสายธุรกิจออกเป็น 6 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ด้านคัทซีและความปลอดภัย เน้นผลิตระบบเบรกและคัทซี, ด้านระบบส่งกำลัง ผลิตงานชิ้นส่วนระบบหัวฉีดและชุดเกียร์, ด้านอุปกรณ์ภายในผลิตชิ้นส่วนจำพวกหน้าปัดแสดงข้อมูล, ด้านคอนติเทค ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก, ด้านยางสำหรับรถบรรทุก รถที่ใช้ในอุตสหกรรม และยางรถยนต์สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล

-เป้าหมายการขาย?
ปีนี้เป้าหมายยอดขายโดยรวมของคอนติเนนทอลคือ 25,000 ล้านยูโร และเราตั้งเป้าว่าภายในปี 2556 ตลาดเอเชียจะครองสัดส่วนยอดขาย 25% ของยอดขายรวมทั่วโลก

สำหรับคอนติเนนทอล นอกจาก จีนและอินเดียแล้ว อาเซียนก็เป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่เราให้ความสำคัญซึ่งมีจำนวนการผลิตรถยนต์รวมเกือบ 3 ล้านคัน ดังจะเห็นจากการลงทุนในมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เมืองไทย

โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เราประกาศแผนการลงทุนและวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าลงทุน 90 ล้านยูโรหรือประมาณ 5 พันล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

-แผนการลงทุนในไทยเป็นเช่นไร?
ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปอย่างมากคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดการเดิมคือราว พฤษภาคม 2552 โดยเป็นการลงทุนด้านสถานที่และเครื่องจักรในการผลิต เบื้องต้นวางแผนผลิตชุดหัวฉีดสำหรับเครื่องยนต์คอมมอนเรลเป็นหลัก รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ อีกหลายรายการตามแต่ลูกค้าต้องการ

ซึ่งคาดว่าเมื่อโรงงานแล้วเสร็จจะมีไลน์ผลิต 3 ส่วนหลักคือ คัทซีและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย, ระบบส่งกำลัง(ชุดหัวฉีดอยู่ในหมวดนี้) และอุปกรณ์ภายใน เช่นแผงหน้าปัด มิเตอร์เป็นต้น

สำหรับสัดส่วนการผลิตจะเน้นตอบสนองลูกค้าภายในประเทศเป็นหลักประมาณ 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 30% จะส่งออกกลับไปยังยุโรป ซึ่งบริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด มีกลุ่มลูกค้าเป็นค่ายรถยนต์ทุกค่ายในเมืองไทยที่มีโรงงานประจำอยู่ที่จังหวัดระยอง

-วิกฤตเศรษฐกิจกระทบหรือไม่เพียงไร?
ยอมรับว่า มีส่วนกระทบอยู่บ้าง โดยเฉพาะลูกค้า(ค่ายรถ) อาจจะลดการสั่งซื้อสินค้าของเราลงบ้าง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับยอดขายของรถยนต์ในปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร แต่เรามีการเตรียมแผนรองรับไว้แล้วเช่น ลดภาระค่าใช้จ่ายลง และด้านคนงานจะรับสมัครเพียง 300 คนสำหรับการผลิตเมื่อโรงงานเสร็จ โดยปัจจุบันมีอยู่แล้วประมาณ 50 คน

ส่วนแผนการลงทุนยังคงเดินหน้าต่อเพราะทั้งหมดได้ลงทุนไปแล้ว ไม่มีผลแต่อย่างใด ปัจจุบันผม เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอยู่ตลอดทั้งจากข่าว ตัวเลขยอดขาย สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับแผนการต่างให้เหมาะสมทันเวลาก่อนที่โรงงานจะเปิดดำเนินการ ส่วนบริษัทแม่ ได้รับผลกระทบไม่มาก ปีหน้ามีการตั้งเป้าการขายทั่วโลกลดลงจากเดิมประมาณ 10%
ตอนทำพิธีวางศิลากฤกษ์ เริ่มสร้างโรงงาน
-มุมมองต่อการลงทุนในประเทศไทย?
บริษัทฯมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทย และพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยซึ่งมีแรงงานฝีมือเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลก มิฉะนั้นแล้วเราคงไม่มาลงทุนด้วยมูลค่าที่สูงในเมืองไทย และหากให้กลับไปตัดสินใจใหม่ว่าจะลงทุนหรือไม่ คำตอบของผมคือ ต้องลงทุนอย่างแน่นอน

สำหรับเมืองไทยเราวางเป้าหมายธุรกิจไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเราจะเข้าหาลูกค้าทุกกลุ่มในเมืองไทย หากลูกค้ารายใดประสบปัญหาชะลอการสั่งซื้อ เรามีลูกค้ารายอื่นที่คอยรองรับอยู่ โดยลูกค้าอีโคคาร์เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าที่เรามองว่ามีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคต

และส่วนที่สองเป็นธุรกิจยาง เราตั้งเป้าจะเปิดสำนักงานขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2552 จากที่ปัจจุบันมีเพียงร้านตัวแทนจำหน่ายนำเข้ายางคอนติเนนทอลจากมาเลเซีย โดยทั้ง 2 ส่วนธุรกิจจะอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย)

-สนใจอีโคคาร์?
มองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ จากปริมาณการผลิตที่ต้องได้ 100,000 คันต่อปี กอปรกับเงื่อนไขทางภาษีที่เราเห็นว่า กลุ่มผู้บริโภคจะเป็นคนรับประโยชน์สูงสุดจากราคารถถูกลง และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่กลุ่มผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วน ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ เช่น การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เป็นต้น

ล่าสุดเราเข้าไปคุยกับกลุ่มค่ายรถยนต์ที่สนใจผลิตอีโคคาร์แล้วทุกค่าย โดยเรามีความพร้อมในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ตามข้อกำหนดและตามความต้องการของค่ายรถยนต์ ทั้งในด้านเทคโนโลยี และปริมาณ

-สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย?
ในฐานนะนักธุรกิจคนหนึ่ง อยากเห็นทุกอย่างมีความมั่นคงและแน่นอน เงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ประกาศออกเช่นไร อยากให้เป็นเช่นนั้น ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือตั้งกำแพงกีดกัน รวมถึงเงื่อนไขของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น