xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชนวนกับข้อเท็จจริง E85 ดึงค่ายรถแบ่งขั้ว-รัฐแยกฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - กลายเป็นประเด็นร้อนไม่รู้จบ กับการผลักดันน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เมื่อแต่ละฝ่ายเริ่มเปิดหน้าเปิดตัว ประกาศความต้องการที่เป็นชนวน จนทำให้เกิดการแบ่งขั้วเลือกฝ่ายชัดเจน ระหว่างกลุ่มผลักดันที่นำโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีค่ายรถฝั่งตะวันตกหนุนหลัง กับอีกฝ่ายที่คัดค้านภายใต้การผนึกกำลัง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับค่ายรถญี่ปุ่น เพราะโครงการอีโคคาร์ที่ร่วมกันแจ้งเกิดได้รับผลกระทบไปเต็มๆ งานนี้ทำให้แต่ละฝ่ายต้องมีการชิงนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นตัวประกัน

เรียบร้อยโรงเรียนกระทรวงพลังงาน ที่สุดก็สามารถผลักดันให้เปิดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นแห่งแรกของประเทศ ณ สถานีบริการน้ำมันปตท. สาขาสวัสดิการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ริมทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยกำหนดให้มีราคาจำหน่ายลิตรละประมาณ 20.19 บาทต่อลิตร หรือต่ำกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ถึง 30% พร้อมกับจี้ปตท.ให้เตรียมขยายปั๊มจำหน่ายเพิ่มเป็น 15 แห่งภายในสิ้นปีนี้ หลังจากมีรถที่สามารถใช้น้ำมัน E85 ในปัจจุบัน ภายใต้การรับหน้าเสื่อของปตท.เจ้าเดิมอีกแล้ว ด้วยการสั่งซื้อรถยนต์วอลโว่และเชฟโรเลตมาทดลองใช้แล้วถึง 3 คัน

อย่างไรก็ตาม นั่นหาใช่บทสรุปของ E85 ในประเทศไทยไม่ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนผลักดันยังมีภาระหน้าที่ทำให้มีรถยนต์ที่จะเติมน้ำมัน E85 แพร่หลายในตลาดไทยต่อไป ขณะที่ฝ่ายที่ยังไม่พร้อมและเห็นว่าจะกระทบกับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ ก็ได้พยายามออกมาขวางและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการเร่งรีบผลักดันเช่นกัน

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กพช.) เร็วๆ นี้ จะมีการเสนอให้เรื่องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการกำหนดเป็นแผนแม่บทการพัฒนา E85 ในระยะเวลา 10 ปี (2551-2561) โดยที่มีเป้าหมายภายในปี 2561 จะต้องมีน้ำมันอี 85 ใช้ในสัดส่วนอยู่ที่ 56% หรือมีการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4.55 ล้านลิตรต่อวัน จากปริมาณการใช้เอทานอลทั้งหมดกว่า 8 ล้านลิตรต่อวัน และมีจำนวนรถยนต์ E85 อยู่ที่ 1,070,000 คัน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้กว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนเป้าหมายระยะสั้นในปี 2551 นี้ คาดว่าจะมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 นำเข้าประมาณ 200 คัน และในปีหน้าเพิ่มเป็น 1,000 คัน จากนั้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ปี 2553 ซึ่งมีการผลิตรถยนต์ E85 แล้ว จะเพิ่มเป็นปีละ 30,000 คัน จนถึงปี 2557 จะมียอดรถยนต์ E 85 สะสมอยู่ที่ประมาณ 390,000 คัน โดยสิ่งสำคัญของการผลักดันการใช้น้ำมัน E85 เป็นวาระแห่งชาตินี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางกพช.จะพิจารณาเห็นชอบตามที่เสนอไปหรือไม่

โดยเฉพาะกรณีการให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 ลงมาจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 25% ให้ลดลงมาอยู่ระหว่าง 20-25% ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่จะจูงใจให้เกิดไลน์การผลิตรถยนต์ E85 ภายในประเทศไทย

เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วย และนอกจากนี้ในระหว่างรอสายการผลิตรถยนต์ E85 ที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2553 ได้เสนอให้มีการพิจารณาปรับลดอากรขาเข้ารถยนต์ E85 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 80% ให้มีการปรับลดลงมาอยู่ระหว่าง 60-80% เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการนำเข้ารถยนต์ E85 เข้ามาจำหน่ายก่อน
รถเฟลกซ์ ฟิว รองรับเชื้อเพลิง E85 ของค่ายวอลโว่ ที่นำมาโชว์ในงานมอเตอร์ โชว์ ช่วงต้นปี
จากแผนเสนอการใช้น้ำมัน E85 เป็นวาระแห่งชาติ ดูจะสอดคล้องกับความต้องการของบริษัทรถยนต์ฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นวอลโว่ ฟอร์ด และจีเอ็ม ซึ่งมีรถยนต์ใช้น้ำมัน E85 ทำตลาดอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลงมา เพื่อที่จะสร้างจูงใจในการนำเข้าและผลิตรถยนต์ E85 ในประเทศ

แต่ความต้องการของกระทรวงพลังงานและค่ายรถยนต์จากฝั่งตะวันตก ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมและค่ายรถญี่ปุ่น เพราะได้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากกล หรืออีโคคาร์ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว รวมมูลค่าการลงทุน 6 ยี่ห้อประมาณ 2 แสนล้านบาท

เหตุนี้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นจึงต่างพาเหรดออกมา แสดงความไม่เห็นด้วยทันที โดยขออย่าไปแตะต้องโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่มีอยู่ เพราะจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั้งระบบ จนถึงกับมีข่าวหากลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E85 ก็จะยกเลิกโครงการอีโคคาร์ทันที แต่ในเมื่อกระทรวงพลังงานเดินหน้าใส่เกียร์หก ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลักดันโครงการอีโคคาร์ ต้องเสนอตัวออกหน้าขัดขวางเต็มที่

โดยในการสัมมนา “การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์กับนโยบายส่งเสริม E85” ซึ่งจัดโดยสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย ได้มีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมออกมานำเสนอข้อมูล พร้อมเปรียบเทียบผลดีและผลเสียของการผลักดัน E85 แบบเร่งรีบ ให้เห็นชัดเจนเรียงเกือบทุกประเด็นเลย

เริ่มตั้งแต่ จักรมณฑ์ ผาสุวนิช ปลัดกระทรวงอุตสหกรรม และประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ ให้ความเห็นว่า…  “การสนับสนุน E85 เป็นเรื่องดี แต่ดูเหมือนจะโผล่มาอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้ศึกษาดีๆ ควรดูเป็นระบบและไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น หรือทำให้เกิดความสับสน และไม่ควรเข้าไปบิดเบือนราคาเพื่อจูงใจผู้บริโภค เช่น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รวมถึงใช้เงินสนับสนุน เพื่อให้ราคา E85 ต่ำกว่าน้ำมันธรรมดาประมาณ 50% ซึ่งเท่ากับภาครัฐต้องเสียเงิน 2 ต่อ โดยเห็นว่าถ้าการส่งเสริม E85 ควรเริ่มจากการทำเป็นโครงการนำร่อง และให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินว่า E85 เหมาะสมสำหรับเมืองไทยหรือไม่
จักรมณฑ์ ผาสุวนิช ปลัดกระทรวงอุตสหกรรม และประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์
นั่นคือน้ำจิ้มจากแม่บ้านกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ที่เปิดข้อมูลออกมางัดกับฝ่ายที่สนับสนุน ถูกส่งไม้ต่อไปยังบรรดานักวิชาการของกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มจาก "ดร.ณัฐพล รังสิตพล" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ฉายภาพตั้งแต่หนังตัวอย่างประเทศบราซิล ซึ่งกระทรวงพลังงานและค่ายรถตะวันตกชอบอ้างนักอ้างหนา

“บราซิลได้มีการศึกษาและวางแผนใช้เอทานอลอย่างเป็นระบบ โดยมีการค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลในเบนซิน จนกระทั้งปี 1980 จึงส่งเสริมให้ใช้ E100 แต่ประสบความสำเร็จระยะสั้นๆ เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับลดต่ำลงในปลายทศวรรษ 1980-1990 รถยนต์ E100 จึงไม่ได้รับความนิยมต่อไป จนช่วงทศวรรษ 2000 ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จึงเริ่มผลิตรถยนต์ Flex Fuel ที่สามารถใช้น้ำมัน E22-100 ในปีปลายปี 2003 ซึ่งรถยนต์ประเภท Flex Fuel เพิ่งเริ่มประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง โดยเป็นรถที่ใช้พลังงานได้หลากหลาย เพราะความนิยมขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก” ดร.ณัฐพลกล่าวและว่า

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของบราซิล คือ การใช้พลังงานแบบเฉพาะ ต้องใช้รถยนต์เฉพาะแบบ ทำให้ตัดขาดจากตลาดจากภายนอก ต้นทุนจึงสูงส่งผลให้ราคารถยนต์แพงและล้าสมัย เช่น ฮอนด้า ซีวิค 1.8 ลิตร ราคาอยู่ที่ 1.4-1.8 ล้านบาท หรือฮอนด้า แจ๊ซ 1.4 ลิตร ราคาประมาณ 1.0-1.1 ล้านบาท

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสหกรรม
ทั้งนี้ดร.อรรชกา สีบุญเรื่อง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสหกรรม ได้ฉายภาพความแตกต่างว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนอุตสาหกรรมผลิตปิกอัพ 1 ตัน และจักรยานยนต์กลายเป็นฐานผลิตสำคัญ ทั้งทำตลาดในประเทศและส่งออกทั่วโลก และล่าสุดไทยได้สนับสนุนอีโคคาร์เพื่อเป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนคู่กับปิกอัพ

“ในการผลักดันดังกล่าวต้องยอมลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 17% เพื่อแลกการลงทุนผลิตรรถยนต์ในประเทศไทย 6 ราย ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ทาทา นิสสัน และซูซูกิ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 1 แสนคันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป และจะต้องมีการส่งออกไปทั่วโลก โดยข้อกำหนดมาตรฐานรถได้ถูกคุมเข้มเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังสร้างเป็นมาตรฐานระดับสูง” ดร.อรรชกากล่าวและว่า

“การลดภาษีรถยนต์ E85 ต่ำกว่า 25% ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงการอีโคคาร์ เพราะส่วนต่างภาษีไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีโคคาร์ในไทย เนื่องจากการกำหนดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E85 ต่ำเกินไป ทำให้มีต้นทุนเพิ่มเพียง 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อคันเท่านั้น ย่อมส่งผลต่อรถยนต์นั่งประเภทอื่นๆ รวมถึงปิกอัพที่เป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนของไทยด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีทันที จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่ให้การสนับสนุนนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีโคคาร์ รถยนต์ E20 และปิกอัพ แน่นอนย่อมทำลายความเชื่อมั่นของต่างชาติและนักลงทุน ที่มองไทยไม่มีความแน่นอนในนโยบายด้านการลงทุนต่างประเทศ”

ดร.อรรชกายังชี้ว่าการลดการใช้เบนซินในประเทศ ไม่ใช่การลดการนำเข้าวัตถุดิบ ไม่ว่าจะมีส่งเสริมการใช้เอทานอลหรือไม่ ไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบ เพราะไทยใช้น้ำมันดีเซลเป็นส่วนใหญ่ โดยมีปริมาณการใช้สูงกว่าเบนซิน 2.5 เท่า จึงมีเบนซินส่วนเกินที่ต้องหันไปส่งออกมากขึ้น และราคาเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ลดลง เพราะค่าพลังงานเบนซินแต่ละชนิดไม่เท่ากัน โดยน้ำมัน E10 มีระยะทางต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ถังไกลที่สุด หรือสนับสนุนการนำเข้ารถยนต์ E85 เพื่อลดการใช้น้ำมันก็ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะต้องสูญเสียไป

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะปิดทางการใช้พลังงานทดแทน E85 โดยได้มีการเสนอให้ส่งเสริมการใช้นโยบาย E85 ดำเนินควบคู่ไปกับโครงการอีโคคาร์ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รอให้ในปี 2553 โรงงานรถยนต์และเครื่องยนต์จะเสร็จสิ้นและเริ่มการผลิตอีโคคาร์ จากนั้นในปี 2555 จึงเริ่มผลิตรถยนต์ E85 ซึ่งสามารถใช้ฐานการผลิตของโครงการอีโคคาร์ที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวได้

นี่คือข้อมูลจากฝ่ายที่ไม่สนับสนุน ให้มีการบังคับใช้น้ำมัน E85 ทันที แน่นอนฝ่ายที่ผลักดันก็ต้องตอบคำถามให้ได้ นอกจากเรื่องการลดนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ ซึ่งอาจมีราคาต่ำกว่าจากการเข้าไปสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจแล้ว ยังมีอะไร? ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้ควักกระเป๋าซื้อทั้งรถและน้ำมัน!!

กำลังโหลดความคิดเห็น