xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจถดถอย...เริ่มชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่นี้ ใช่เพียงแค่นโยบายหรือมาตรการต่างๆ จะสามารถกระตุ้นหรือรักษามันได้ในทันทีทันใด สำหรับประเทศไทย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรบ้างที่จะมีผลทางด้านบวกต่อประเทศ และอะไรที่จะมีผลด้านลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่อไป

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลายคนสงสัยว่ามาถึงจุดสิ้นสุดหรือยัง และในส่วนของประเทศไทย จะมีหนทางไหนที่จะสามารถรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้ เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ แต่เป็นไปในทุกๆแห่งทั่วโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางรองรับภัยร้ายดังกล่าวเสียทีเดียว

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้จัดทำข้อมูลการถดถอยของเศรษฐกิจโลกไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ต้องการความรู้ หรือการคาดการณ์ที่มีเหตุผล สำหรับนำไปใช้พิจารณาหรือเป็นข้อมูลประกอบการลงทุนในอนาคต

ตลาดกำลังจับตาดูการชะลอตัวศก.โลก

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งดีกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ทำให้คาดว่าทั้งอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลง เนื่องจากแรงขายหุ้นที่เกิดขึ้นทั่วโลก, วิกฤตความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินที่กำลังขยายตัวในวงกว้าง, ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและความวิตกต่อปัญหาการเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อว่าผลบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงและอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงจะสามารถชดเชยปัจจัยลบเหล่านี้ได้ ประเด็นสำคัญคือตลาดหุ้นไทยได้คาดการณ์ตัวเลขเหล่านี้มาก่อนหน้าแล้วว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างหนัก ในอนาคตและได้สะท้อนตัวเลขคาดการณ์ที่ปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 4.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) ในเดือนกันยายน ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 11.06% ในเดือนกรกฎาคมและ 7.63% yoy ในเดือนสิงหาคม การชะลอตัวลงของผลผลิตก็เป็นไปตามภาวะการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยผลผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศเริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว ขณะที่ผลผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งเคยเติบโตในอัตราที่สูงมากกลับชะลอตัวลงกว่าครึ่ง อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่า 30% ของยอดขายมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 2.74% yoy ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่าง 30-60% มีผลผลิตลดลง 1.72% yoy และอุตสาหกรรมที่ส่งออกในสัดส่วนมากกว่า 60% มีผลผลิตเติบโตในอัตราที่ลดลงจาก 16.37% ในเดือนก่อนเหลือเพียง 8.82% ปัญหาคือผู้ส่งออกไทยน่าจะทำผลงานได้ดีกว่านี้ในช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการส่งออก ในภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวลงจากระดับ 70% ในเดือนสิงหาคมเหลือ 68.2% ในเดือนกันยายน ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์โดยรวมที่ชะลอตัวลง

การใช้กระแสไฟฟ้าสะท้อนศก.ชะลอตัวลงชัดเจน

ตัวเลขการใช้กระแสไฟฟ้าของกิจการขนาดใหญ่ตกลง 2.13% yoy ในเดือนกันยายน หากมองย้อนไปในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นเดือนใดที่ตัวเลขการใช้กระแสไฟฟ้าของกิจาการขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป) จะปรับตัวลงเลยหากเทียบกันปีต่อปี โดยตัวเลขการใช้กระแสไฟฟ้ารวมปรับตัวขึ้นเพียง 0.12% yoy ขณะที่ยอดการใช้กระแสไฟฟ้าในครัวเรือนมีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ 20 -22% ของทั้งหมด ปรับตัวขึ้นเพียง 1.52% yoy

ตัวเลขบริโภคในประเทศไม่ได้แย่

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวขึ้น 5.91% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับแต่มกราคม 2551 โดยได้แรงหนุนจากยอดนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (ณ ราคาปี 2543) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 38.28% yoy, ยอดขายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวกว่า 19.35% yoy และ 31.60% ตามลำดับ การที่ยอดขายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้แทนรถกระบะเพราะราคาน้ำมันดีเซลถีบตัวสูงขึ้น หากเรารวมรถยนต์นั่งกับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์อย่างอื่น พบว่ายอดขายรวมต่อหน่วยปรับตัวลงถึง 10.49% yoy นอกจากนี้เรายังสงสัยด้วยว่าทำไมตัวเลขการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโคหลังจากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วสูงถึง 38.28% ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียง 41.27% ซึ่งเราคิดว่าราคาสินค้าหมวดนี้น่าจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่านี้

การลงทุนใหม่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวขึ้น 2.62% yoy ในเดือนกันยายน ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 4.36% ในเดือนกรกฎาคมและ 3.48% ในเดือนสิงหาคม ตัวบ่งชี้การชะลอตัวในกิจกรรมการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ดีตัวหนึ่งคือยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ปรับตัวลงถึง 17.30% yoy เป็น 1.9 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นยอดจำหน่ายรายเดือนระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ยังมีตัวเลขบ่งชี้ด้วยว่าการลงทุนใหม่ในโรงงานและเครื่องจักรก็ชะลอตัวลงด้วย โดยยอดขายเครื่องจักรในประเทศ (ณ ราคาปี 2543) ตกลง 4.17% yoy ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ณ ราคาปี 2543) เพิ่มขึ้น 14.24% yoy ในเดือนกันยายน แต่นั่นเกิดจากการนำเข้าวัตุดิบมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าจะเป็นการลงทุนใหม่

สินค้าเกษตร, ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เวิร์ค

การส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัว 19.53% yoy เป็น 15,665 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวกว่า 54.05% yoy แม้จะมีสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 89% ของมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัวได้ 17.16% yoy การส่งออกเครื่องจักร, ชิ้นส่วนยานยนต์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าหลัก 4 ตัวในหมวดการส่งออก โดยคิดเป็นสัดส่วน 14.19%, 9.05%, 8.40% และ 7.16% ของมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัว 10.19%, 28.42%, -0.84% และ 22.52% yoy ตามลำดับ

การส่งออกไปจีนและฮ่องกงชะลอตัวลงมาก

มันน่าสนใจที่การส่งออกไปยังตลาดของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีกว่าคาด แต่การส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงกลับชะลอตัวลงอย่างหนัก ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลย เพราะเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน การส่งออกไปยังญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรปขยายตัว 20.28%, 10.37% และ 10.13% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนขยายตัวเพียง 6.13% และฮ่องกงลดลง 9.69%

ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดประเทศตะวันออกกลางและอินเดียยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 39.30% และ 56.73% ตามลำดับ แต่ตลาดทั้งสองก็มีส่วนแบ่งเพียง 5.84% และ 2.18% ของมูลค่าการส่งออกรวมในเดือนกันยายนเท่านั้น การส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงขยายตัวในระดับแข็งแกร่งในระดับ 25.73% yoy อาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลักที่มีศักยภาพซึ่งมีประชากรกว่า 400 ล้านคน โดยการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 21.35% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย แต่เป็นที่ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อผลิตและส่งออกต่อ และประเทศในกลุ่มอาเซียนก็กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกับไทย

ปริมาณการส่งออกคาดว่าขยายตัวเพียง 5.27%

จากตัวเลขดัชนีการส่งออกของแบงก์ชาติ มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัว 19.54% ในเดือนกันยายนเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 5.27% และราคาเพิ่มขึ้น 13.55% โดยประมาณ ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนควรเข้าใจอย่างชัดเจนคือการปรับตัวลงอย่างหนักของราคาสินค้าโภคภัณฑ์รอบล่าสุด รวมถึงการปรับราคาสินค้าให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในภาวะที่อุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัวลง จะนำไปสู่การชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วของมูลค่าการส่งออกในเดือนต่อๆไป ในทางตรงกันข้าม มูลค่าการนำเข้าในเดือนกันยายนขยายตัว 38.61% เนื่องจากปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 23.43% ขณะที่ราคาเพิ่มขึ้น 12.30% โดยเรายังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นส่วนประกอบในดัชนีอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนหลังปรับผลของอัตราเงินเฟ้อออกแล้วเพิ่มขึ้นถึง 38.28%

ปรับลดประมาณเศรษฐกิจในปี 2552

จากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายน ในเบื้องต้นเราเชื่อว่า GDP ในไตรมาส 3/51 จะชะลอตัวลงจากระดับ 6.12% ในไตรมาส 1/51 และ 5.29% ในไตรมาส 2/51 อย่างแน่นอน โดยเราคาดว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับ 4.5% ในปีนี้ ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะขยายตัวราว 3.3% ซึ่งจะได้รับการพิสูจน์ในช่วงต่อไป แต่ไม่ใช่ ประเด็นในที่นี้ โดยตลาดหุ้นไทยได้มองเลยไปถึงปี 2552 แล้วว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ซึ่งตลาดหุ้นเองก็ได้สะท้อนมุมมองดังกล่าวผ่านราคาหุ้นแล้ว ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกและระดับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 3.8-5.0% ขณะที่ประมาณการอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าของเราอยู่ที่ระดับ 3.5% และอาจดูดีเกินไปด้วย

ที่มา: ฝ่ายวิจัย บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น