xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างเคว้ง โรงงานฮิตแห่หยุดกิจการชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - วิกฤตการณ์แรงงานสาหัส ตัวเลขว่างงานพุ่ง ว่างงานแฝงอีกเพียบหลังออร์เดอร์ส่งออกหด เผยสาเหตุหลักบริษัทขาดทุน-ขาดสภาพคล่อง ขณะที่โรงงานกัดฟันประคองตัว งัดกลยุทธ์ "ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว-กดดันให้คนงานลาออก" เตือนแรงงานรักษาสถานภาพอย่าเสี่ยงลาออก เหตุได้ไม่คุ้มเสีย

วิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลพวงมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในบางประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ (Depression) สำหรับประเทศไทยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น หลังสัญญาณการเลิกกิจการ การเลิกจ้าง และ การลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขเลิกจ้างยังพุ่งไม่หยุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากร ณ สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 5.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2550 ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยอัตราการว่างงานเคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับร้อยละ 4.4 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2541

ล่าสุด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 – 26 มกราคม 2552 พบว่า มีสถานการณ์ประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้าง 748 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 58,412 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 461 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 271,179 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 67,210 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากการลดโอทีหรือการลดชั่วโมงทำงาน 203,969 คน

ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงระหว่าง วันที่ 1- 26 มกราคม 2552 มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้าง 50 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 2,863 คน ที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 102 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 68,122 คน จะถูกเลิกจ้าง 23,296 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากการลดโอทีหรือการลดชั่วโมงทำงาน 44,826 คน

สำหรับพื้นที่ที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 จังหวัดแรก เรียงจากมากไปน้อยได้แก่ ปทุมธานี ถูกเลิกจ้าง 10,473 คน สมุทรปราการ ถูกเลิกจ้าง 8,873 คน กรุงเทพฯ ถูกเลิกจ้าง 7,619 คน พระนครศรีอยุธยา ถูกเลิกจ้าง 5,157 คน และตาก ถูกเลิกจ้าง 3,331 คน

จากแนวโน้มของสถานการณ์ข้างต้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราการว่างงานจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น หากการจ้างงานในภาคการผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่องดังเช่นในปัจจุบัน และถ้าหากตัวเลขการว่างงานเป็นไปตามที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า ตัวเลขการว่างงานในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านคน ก็จะทำให้อัตราการว่างงานในสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 โดยประมาณ

บริษัทขาดทุนเหตุเลิกจ้างมากสุด

สาเหตุของการเลิกจ้างงาน เรียงตามลำดับ ดังนี้ อันดับหนึ่ง สถานประกอบการประสบภาวะขาดทุน หรือ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำนวน 441 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 24,492 คน อันดับสอง หมดฤดูการผลิต สินค้าไม่ได้คุณภาพ จำนวน 53 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 881 คน อันดับสาม ลดขนาดองค์กร/ลดวันทำงาน จำนวน 34 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 2,413 คน และ อันดับสี่ หมดสัญญา ยกเลิกสัมปทาน จำนวน 26 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 3,113 คน

สำหรับสถานประกอบการที่มีปัญหาส่วนใหญ่ประกอบกิจการประเภทผลิตสิ่งทอ ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง โดยพิจารณาจากสถานการณ์บ่งชี้ว่า อาจจะมีการเลิกจ้างถ้าปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และนายจ้างไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 5 อันดับแรก คือ 1. มีการหยุดกิจการชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างบางส่วน 2. ค้างจ่าย/ผิดนัดการจ่ายค่าจ้าง 3.ลดการผลิต ลดวันทำงาน 4.อื่นๆ (แจ้งการปิดกิจการ หมดสัญญาเช่าที่ดินฯ) และ 5. ขาดแคลนวัตถุดิบ

ฮิตหยุดกิจการชั่วคราว

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” สำรวจสถานการณ์การผลิตตามย่านอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศ พบปัญหาหลัก ๆ เรียงตามลำดับของความรุนแรงของปัญหาตั้งแต่ 1.เลิกกิจการถาวรและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 2. ลดกำลังการผลิตและเลิกจ้างพนักงานบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานเหมาช่วง 3. หยุดกิจการชั่วคราว กินระยะเวลายาวนานตั้งแต่ 1 วันต่อสัปดาห์จนกระทั่งถึงหยุดยาวติดต่อกันหลายเดือน และ 4. ลดการทำงานล่วงเวลา(โอที) หรือ ยุบรวมกะจากเดิมผลิตวันละ 3 กะ ก็อาจจะลดลงเหลือ 1-2 กะเป็นต้น

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากแม้ไม่ได้ประกาศเลิกกิจการแบบถาวร แต่โรงงานหลายแห่งหันมาใช้กลยุทธ์การผลิตแบบประคองตัวตามออร์เดอร์ที่หดหาย โดยประกาศหยุดงานชั่วคราว (Temporary Stop) โดยระยะเวลาการหยุดชั่วคราวก็แล้วแต่สถานการณ์ บางแห่งหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ บางแห่งประกาศหยุดเป็นช่วงเวลาเช่น หยุด 1 เดือน บางแห่งหยุดติดต่อกันหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท

จากการสำรวจพบว่า โรงงานที่ประกาศหยุดเป็นช่วงเวลา เช่น โรงงาน SANYO ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ประกาศหยุดทุก 2 สัปดาห์ ตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี โดยในเดือนมกราคม เดือนมกราคมหยุดวันที่ 10-18 เดือนกุมภาพันธ์หยุดวันที่ 8-18 เดือนมีนาคมหยุดวันที่ 8-19 หรือ อย่างโรงงาน ROHM ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร บางแผนกประกาศหยุดทุกวันเสาร์อาทิตย์ บางแผนกประกาศให้ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน

วิศวะกรโรงงานแห่งหนึ่งในย่านนวนคร เปิดเผยว่า จากคำสั่งซื้อของลูกค้าที่เคยพุ่งสูงไปถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลง ในช่วงปีที่ผ่านมา บางเดือนเหลือ 16 ล้าน บางเดือนเหลือ 5ล้านบาท และก็ลดมาเหลือ 1 ล้านบาท สินค้าที่ผลิตก็เหลือค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องผลิตอีกหลายเดือนก็ยังได้ เพื่อล้างสต๊อกเดิม ดังนั้น โรงงานจึงประกาศหยุดงานยาวเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน นี้ มาเริ่มงานใหม่อีกทีเดือนพฤษภาคม แต่ในระหว่างที่หยุดบริษัทจ่ายค่าจ้างให้เป็นจำนวนร้อยละ 75%

“ช่วงที่หยุดยาวนี้ อาจจะหาอะไรทำไปก่อน อาจจะรับจ๊อบเป็นครูสอนพิเศษเด็ก ๆ หรือไปสมัครเป็นพนักงานขายชั่วคราว หรือไม่ก็หางานตำแหน่ง วิศวะ ที่ใหม่ไปเลย ขณะนี้ก็ยังสับสนอยู่พอสมควร ตอนแรกบริษัทก็ดูมั่นคง จึงไม่คิดว่าจะเปลี่ยนงานหรือหางานที่ใหม่เลย” เขากล่าว

สำหรับตนเองปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่เพื่อนบางคนที่ทำงานด้วยกัน หลายคนกำลังผ่อนบ้านผ่อนรถ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ก็ไม่น่าไว้วางใจ ทุกคนจึงเริ่มเครียดกันมากขึ้น

พนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมอมตะนคร ระบุว่า นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางโรงงานประกาศหยุดกิจการชั่วคราวทุกวันศุกร์ โดยจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานโดยจ่ายให้ร้อยละ 75 ของค่าแรงปกติ (ค่าจ้างเฉพาะวันศุกร์จะได้รับแค่ 75%)

“โรงงานให้เหตุผลว่า ตอนนี้ออร์เดอร์ไม่เข้า ไม่มีงานให้ทำ ถ้าให้พนักงานมาทำงานก็จะเปลืองค่ารถรับส่ง ค่าน้ำค่าไฟ จึงให้พนักงานอยู่บ้านเฉยๆ ไปเลย โรงงานก็จะได้ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ไม่จำเป็น จึงต้องประกาศให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างให้ 75%”

พนักงานโรงงานคนนี้กล่าวว่า ตั้งแต่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่ง ก็เข้ามาทำงานในตำแหน่งจัดซื้อที่โรงงานแห่งนี้เป็นเวลา 4 ปี เริ่มจากเงินเดือน 12,000 บาท ปัจจุบันมีเงินเดือนราว 14,000 บาท รวมค่าทำงานล่วงเวลาและสวัสดิการอื่นก็ประมาณ 16,000-17,000 บาทต่อเดือน และสถานการณ์ของโรงงานขณะนี้ก็กระทบต่อรายได้พอสมควร เพราะนอกจากไม่มีค่าล่วงเวลาแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งก็ยังหดหายจากนโยบายการหยุดกิจการชั่วคราว

“ที่กระทบโดยตรงก็คือรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายส่วนตัวทั้งค่าเช่าหอพัก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังต้องมีภาระต้องผ่อนซื้อสินค้าอีกหลายชนิด ตอนนี้จึงเครียดมาก แต่ก็ยังดีกว่าถูกเลิกจ้าง จึงต้องปรับตัวใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น” เขากล่าว

เตือนแรงงานอย่าเสี่ยงลาออก

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แม้ข่าวสารด้านแรงงานที่ออกมาในระยะนี้จะดูหดหู่น่ากลัว แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการประคองสถานการณ์ของผู้ประกอบการเพื่อรอจังหวะในการผลิตต่อไป ซึ่งขณะนี้เองเริ่มมีสัญญาณที่ดีว่าการเลิกจ้างแรงงานเริ่มมีน้อยลง จึงอยากเตือนแรงงานที่ยังมีงานทำอยู่พยายามเกาะงานให้แน่น

เขากล่าวว่า นโยบายของหลายบริษัทในขณะนี้คือการลดกำลังการผลิต อาจจะมีการสร้างสถานการณ์เพื่อให้แรงงานขาดความมั่นใจ ขาดความมั่นคงในชีวิต บางแห่งประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ลดโอที ยุบรวมกะลง จากนั้นก็เปิดรับสมัครพนักงานให้สมัครใจลาออก เมื่อพนักงานสมัครใจลาออกผลดีก็จะตกอยู่กับบริษัทเพราะจ่ายเงินชดเชยหรือสวัสดิการอื่นๆ น้อยกว่า

“ตามกฎหมายแรงงาน พนักงานที่ลาออกเองได้รับเงินชดเชยน้อยกว่ากรณีบริษัทเลิกจ้าง ถ้ายังมีงานทำอยู่ก็ควรทำงานต่อไป เพราะถือว่ายังมีความมั่นคงในชีวิตระดับหนึ่ง แต่ถ้าสมัครใจลาออกได้เงินมาก้อนหนึ่งแลกกับการไม่มีงานทำหรือหางานใหม่ทำไม่ได้ เงินก้อนนั้นใช้ไปไม่นานก็จะหมด หรือยิ่งบางคนอายุมากแล้วโอกาสหางานใหม่ทำก็ยากหรือแทบไม่มีเลย” นางวิไลวรรณ กล่าว

งานนัดพบแรงงานกร่อย

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” เข้าไปสังเกตการณ์งานนัดพบแรงงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์ และ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาของกระทรวงแรงงาน ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการประชาสัมพันธ์งานผ่านสื่อสารมวลชนค่อนข้างมาก

แต่มีข้อสังเกตว่า ภาพรวมของงานไม่คึกคักเท่าไหร่นัก มีบอร์ดประกาศรับสมัครงานจำนวน 7 บอร์ด ปิดป้ายประกาศรับสมัครงานทั้ง 2 ด้านของบอร์ด มีจำนวนผู้ประกอบการมาร่วมรับสมัครงานจำนวน 39 บริษัท จำนวนตำแหน่งงานว่างไม่เกิน 1,000 อัตรา โดยประมาณ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมสมัครงานตลอดทั้งวัน ไม่เกิน 1,000 คน

ตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่เป็นงานทางด้านงานขาย พนักงานธุรการ พนักงานบริการในโรงพยาบาล หรือพนักงานวิชาชีพทางด้านพยาบาล พนักงานขับรถส่งเอกสาร เป็นต้น โดยส่วนมากจะจำกัดอายุของผู้สมัครในช่วง 21-25 ปี หรืออย่างมาก ไม่เกิน 35 ปี

บัณฑิตจบใหม่คนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวกับ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า จบการศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาเกี่ยวกับสุขอนามัยในโรงงาน จากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง และได้รับใบประกาศความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) เมื่อได้ข่าวจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับงานนัดพบแรงงานของ กระทรวงแรงงาน จึงเดินทางมาสมัคร แต่ไม่มีตำแหน่งงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเลย แม้ตามกฎหมายทุกโรงงานจะต้องมีเจ้าหน้าที่ดังกล่าวประจำโรงงาน หลังจากนี้ คงจะต้องเดินทางไปสมัครตามโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น