xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัว ขรก.ติดหล่มหนี้เฉลี่ย 7 แสน ซี 3-5 แชมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - งานเข้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ โอแม่เจ้า! 5 ปีที่ผ่านมาหรือยุคทรราชครองเมืองพบข้าราชการไทยเป็นหนี้ต่อรายได้ทะลุ 18.2 เท่า เฉลี่ยหนี้สิน 7.4 แสนบาทต่อครัวเรือน ซี 3-5 ก่อหนี้สูงสุด ระดับบิ๊กไม่น้อยหน้าหนี้สูงเป็นหลักล้าน แฉเป็นหนี้จากการเล่นหุ้นเกือบ 5% เลขาฯ สถิติแห่งชาติเสนอมาร์คหาแนวทางช่วยเหลือด่วน หวังพยุงชีวิตข้าราชการหน้ามืด บิ๊ก ก.แรงงานคาดตัวเลขคนว่างงานปีนี้ส่อพุ่งกว่าล้านคน

วานนี้ (5 ก.พ.) นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะค่าครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ (ในสังกัด ก.พ.) พ.ศ.2551 เพื่อนำเสนอข้อมูลภาระหนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายของข้าราชการ สำหรับใช้ประโยชน์ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าตอบแทนตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆของข้าราชการให้เหมาสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเก็บรวบรมข้อมูลจากข้าราชการตัวอย่างทั้งสิ้น 12,945 ราย

พบว่า ครอบครัวข้าราชการในสังกัด ก.พ. ระดับ 1-11 ทั่วประเทศ ร้อยละ 84 มีหนี้สิน โดยจำนวนเฉลี่ย 749,771 บาทต่อครอบครัวที่มีหนี้สิน ข้าราชการระดับ 3-5 มีหนี้สินสูงสุด คือร้อยละ 85.8 เฉลี่ย 614,109 บาทต่อครอบครัวที่มีหนี้สิน รองลงมาคือข้าราชการระดับ 6-8 ร้อยละ 83.6 เฉลี่ย 847,003 บาทต่อครอบครัว และระดับ 1-2 ร้อยละ 77.7 มีหนี้เฉลี่ย 277,040 บาทต่อครอบครัว ขณะที่ข้าราชการระดับสูง คือระดับ 9-11 มีหนี้สินต่ำสุด เฉลี่ยร้อยละ 48.2 แต่มีหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง 1,462,525 บาทต่อครอบครัว

นางธนนุชกล่าวอีกว่า ข้าราชการกลุ่มตัวอย่าง มีหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุดถึงร้อยละ 56.3 รองลงมาหนี้สินเพื่อซื้อหรือซ่อมแซมพาหนะ ร้อยละ 16.7 หนี้สินเพื่อใช้จายในการอุปโภคบริโภคร้อยละ 12.4 ขณะที่การลงทุนทำธุรกิจในครอบครัว มีหนี้สินที่ร้อยละ 6.3 โดยส่วนหนึ่งระบุถึงการยำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ส่วนหนี้สินเพื่อใช้ในการศึกษามีถึงร้อยละ 3.7 เท่านั้น โดยพบว่า ข้าราชการ

ขณะที่พบว่า รายได้เฉลี่ยของข้าราชการกลุ่มตัวอย่างจะอยู่ที่เดือนละ 41,139 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากเงินเดือนประจำ เงินเดือนประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ ร้อยละ 82.5 มีรายได้เป็นครั้งเป้นคราวเช่นค่าเบี้ยประชุม ค่าล่วงเวลา โบนัส ร้อยละ 4.1 ขณะที่รายรับจากธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 8.1 จากการให้เช่าทรัพย์สินร้อยละ 1.6 และรายได้อื่น ๆเช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินช่วยเหลือที่ได้จากบุคคลอื่นและรัฐร้อยละ 3.7

ทั้งนี้ ข้าราชการกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 32,411 บาท เป็นค่าใช้จ่ายจากค่าอาหารและเครื่องดื่ ร้อยละ 24.4 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ การเดินทางและการสื่อสารร้อยละ 19.3 ค่าซื้อยานพาหะเครื่องเรือนเครื่องใช้ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 15.1 การศึกษาร้อยละ10.2 ค่าใช้จ่ายสมทบจากเงินส่งคู่สมรส หรือบุตรหรือผู้ที่อยู่ความอุปการะที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันร้อยละ 7.2 ค่าที่อยู่อาศัยร้อยละ 5.5 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบันเทิง การอ่าน ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลมีเพียงร้อยละ 2.4 และ1.9 ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายจากของใช้ส่วนบุคคล ค่าภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายด้านสังคม ร้อยละ 14

เลขาธิการสถิติฯ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการ ปี 2547-2551 (5 ปี) ครอบครัวข้าราชการมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายและพบว่า รายได้และค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือรายได้เพิ่มจาก 29,231 บาทในปี 2547 เป็น 41,139 บาท ในปี 2551 และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 24,970 บาทเป็น 32,411 บาท สำหรับหนี้สินรายได้ต่อรายของครอบครัวข้าราชการ ใน ระหว่าง 5 ปี พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 16.8 เท่าในปี 2547 เป็น 18.2 เท่า ในปี 2551

"ดังนั้น รัฐบาลจึงควรหาแนวทางช่วยเหลือข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราเงินเดือน การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆเพื่อให้ข้าราชการสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป" เลขาธิการสถิติแห่งชาติกล่าว

**คาดคนว่างงานพุ่งกว่าล้านคน

วานนี้ (5 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนาย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งนาย อำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทยได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.แรงงาน เรื่องปัญหาการว่างงาน ว่า รัฐได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าจะมีคนตกงานจำนวนเท่าใดและหน่วยงานใดเป็นผู้สำรวจ รวมทั้งมีมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า ยอมรับว่าปัญหาครั้งนี้เกิดจากผลกระทบจากภายนอกประเทศที่ไม่มีกำลังซื้อเข้ามา ทั้งนี้จากการสำรวจในรอบ4 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ว่างงานแล้ว1.3แสนคน และคาดว่าในปี2552จะกระทบสถานประกอบการจำนวน 4,000 กว่าแห่งที่ดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์ คอมพิวเตอร์ ส่งออก อะไหล่ และอัญมณี ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าแต่ละแห่งจะต้องปลดคนงานแห่งละ200 คนรวม 8แสนคน ยังไม่รวมกับสถานที่ประกอบการที่ยังไม่ได้ อีกจำนวน 1 แสนคน และนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีงานทำอีก2 แสนคน รวมเบ็ดเสร็จในปี 2552 คาดว่าจะมีคนว่าง งานกว่า 1 ล้านคน

รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า ได้นำเรื่องปัญหาการว่างงานขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างโดยด่วน พร้อมทั้งได้เตรียมงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1.6 แสนล้านบาท เพื่อเน้นแก้ปัญหาคนว่างงานโดยเฉพาะ และช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสถานประกอบการเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้างให้น้อยลง พร้อมทั้งสนับสนุนให้รับงานไปทำตามบ้านโดยสามารถกู้ได้เป็นกลุ่ม และหาตำแหน่งให้กับผู้สนใจไปทำงานยังต่างประเทศด้วย ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะติดตามตัวเลขผู้ว่างงานอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้แก้ไขได้ถูกต้องทันท่วงที.
กำลังโหลดความคิดเห็น