xs
xsm
sm
md
lg

หนี้เพิ่ม-ออมลด-สภาพคล่องหด กระหน่ำสหกรณ์ออมทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกในหน่วยงานเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกออมเงิน และให้บริการเงินกู้ยืมแก่สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนทางการเงิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเจ้าของและผู้ใช้บริการในระบบสหกรณ์เป็นบุคคลเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้ประจำ การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ค่อนข้างเป็นระบบปิดภายในเฉพาะหน่วยงานของตนเอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ภาพรวมระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีจำนวนสหกรณ์ตามทะเบียนทั้งสิ้น 1,291 แห่ง ในจำนวนนี้สามารถติดตามรวบรวมข้อมูลได้จำนวน 1,205 แห่ง มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 2.29 ล้านคน และมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 7.31 แสนล้านบาท

ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ มีจุดเด่นที่ทุนเรือนหุ้นซึ่งจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตามข้อบังคับที่ให้สมาชิกถือหุ้นในสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยบางสหกรณ์ได้นำระบบการคำนวณสัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกให้เพิ่มขึ้นตามระดับเงินเดือน ซึ่งทำให้สหกรณ์มีเงินทุนสำหรับการขยายผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2550 สหกรณ์ออมทรัพย์สามารถให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกได้ถึง 5.81 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11.3% ของสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีเดียวกันที่มียอดคงค้างอยู่ทั้งสิ้น 5.16 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ค่อนข้างล่าช้า โดยล่าสุดมีถึงปี 2550 เท่านั้น แต่เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2552 อาจจะมีปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่ต่อเนื่องมาจากปี 2551 จึงทำให้ประเด็นในเรื่องสภาพคล่องและการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าการดำเนินธุรกิจของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นระบบปิดภายในเฉพาะหน่วยงานของตนเอง แต่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ได้

สหกรณ์ฯปี 2546-2550 : หนี้เพิ่ม ออมลด
การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของสินทรัพย์รวม สินเชื่อ เงินฝาก และส่วนของทุน ทำให้สหกรณ์ส่วนใหญ่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน และมีบทบาทการให้ความช่วยเหลือสมาชิกด้วยการให้เงินกู้ยืมในปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 2540 กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์มีสภาพคล่องส่วนเกินค่อนข้างมาก และได้เร่งระบายเงินออกด้วยการขยายวงเงินกู้ยืมแก่สมาชิก รวมถึงยืดเวลาชำระหนี้ออกไป ซึ่งทำให้กิจการสหกรณ์เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีผลกำไรเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งยังได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินภายนอกมากขึ้น ซึ่งอำนวยความสะดวกในการขอใช้บริการเงินกู้ได้สะดวกขึ้น จึงทำให้สหกรณ์สามารถให้บริการสินเชื่อแก่สมาชิกได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการระดมทุนภายในจากสมาชิกจะมีอัตราเติบโตที่ช้าลงก็ตาม

สหกรณ์ออมทรัพย์ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกระหว่างปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 537,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.64% ทางด้านแหล่งเงินทุนภายในสหกรณ์ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 611,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่สูงที่สุดนับจากปี 2547

ส่วนอัตราส่วนเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกต่อแหล่งเงินทุนภายในปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2546-2549 แม้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นช้าลงในปี 2550 แต่ก็ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินของสหกรณ์ออมทรัพย์ปรับตัวลดลงเป็นลำดับ และคาดว่าจะยิ่งปรับตัวลดลงมากขึ้นอีกในปี 2551-2552 เนื่องจากในปี 2551 ระดับรายได้ของสมาชิกอาจจะเพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 50% ในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ในปี 2552 อาจต้องเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 จากผลของเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมอาจบรรเทาลงบ้าง จากการอ่อนตัวของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อก็ตาม

พึ่งแหล่งเงินทุนภายนอกมากขึ้น
ทุนดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งสิ้นในปี 2550 มีจำนวน 730,819 ล้านบาท ประกอบด้วย ทุนภายใน 83.7% และแหล่งเงินทุนภายนอกโดยการกู้ยืม 16.3% โดยอัตราส่วนทุนภายในปรับลดลงเป็นลำดับจากปี 2546 ที่อยู่ในระดับ 91.5% สวนทางกับทุนภายนอกในช่วงเวลาเดียวกันที่เพิ่มขึ้นจาก 8.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับการออมของสมาชิกสหกรณ์ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการใช้เงิน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าสหกรณ์มีการขยายธุรกิจรวดเร็วเกินขีดความสามารถในการออมของสมาชิก
ภาระหนี้เฉลี่ยต่อคนสูงกว่าการสะสมเงินออมเฉลี่ยต่อคน
ในปี 2550 สหกรณ์ออมทรัพย์มีเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกคงค้างทั้งสิ้น 581,444 ล้านบาท ขณะที่ด้านเงินออมของสมาชิก ประกอบด้วย เงินรับฝาก 198,251 ล้านบาท และหุ้น 346,851 ล้านบาท โดยสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่มีเงินออมสะสมน้อยกว่าภาระหนี้สิน ทั้งนี้ภาระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ของสมาชิกเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 268,518 บาท ขณะที่เงินออมในสหกรณ์ออมทรัพย์ของสมาชิกเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 234,937 บาท คิดเป็นอัตราส่วนภาระหนี้ต่อเงินออมเท่ากับ 1.14 เท่า ซึ่งสะท้อนกำลังความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของสหกรณ์ และเป็นความเสี่ยงของสหกรณ์ต่อการบริหารจัดการสภาพคล่องที่จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้ แม้สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของสินเชื่อรวม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเรียกเก็บหนี้จะใช้ระบบหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนลูกหนี้ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะประมาทหรือมองข้ามได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเงินให้กู้ยืมใหม่ในแต่ละปีที่มียอดเงินรวมสูงกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น เป็นการให้กู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้เดิมในสัดส่วนที่สูงถึง 30% ทีเดียว

แนวโน้มสหกรณ์ออมทรัพย์ปี 2552
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจจะเติบโตช้าลงเป็นประมาณ 0-1.2% เทียบกับในปี 2551 ที่คาดว่าจะเติบโตในระดับประมาณ 2.9% ซึ่งแม้เศรษฐกิจไทยอาจไม่ประสบภาวะถดถอยรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ต้องยอมรับว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นสำคัญ ผ่านการใช้เงินงบประมาณทั้งเพื่อการลงทุนและการลดภาษีต่าง ๆ ขณะที่ในภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ล้วนแต่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ถึงกับต้องปรับลดกำลังการผลิต และการจ้างงาน แม้แต่การปิดกิจการในบางแห่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับรายได้ของประชาชนโดยเฉพาะระดับกลางและล่างให้ลดลง เนื่องจากความสามารถในการจ่ายเงินเดือนเพิ่มและการรับพนักงานใหม่ขององค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ

ปัจจัยดังกล่าว มีผลให้การดำเนินธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ในปี 2552 เผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ ดังนี้

- ความเสี่ยงต่อภาวะตึงตัวของสภาพคล่อง : แม้ว่าสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะเผชิญความเสี่ยงจากการว่างงานน้อยกว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ แต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สมาชิกอาจมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่อาจลดลง เช่น ค่าล่วงเวลา (OT) หรืออาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมากขึ้น เพราะหมุนเงินยากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีความเป็นได้สูงที่ระดับการออมของสมาชิกสหกรณ์อาจจะลดลงต่อเนื่องในปีนี้ สวนทางกับความต้องการสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นช้าลง ขณะที่ค่าครองชีพยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อและราคาน้ำมันจะคลี่คลายลงในปีนี้ก็ตาม แต่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปไม่ได้ปรับลดลงตามในสัดส่วนเดียวกัน

ปัจจัยข้างต้นอาจส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ลดลง ดังนั้น แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงชัดเจนในปีนี้ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งอาจยังไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงได้เร็วและมากเท่าตลาดได้ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบให้เงินฝากไหลออก ขณะเดียวกัน กระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์มีกำไรลดลงตามไปด้วย

- สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สมาชิกส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่าเงินออม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในภาคราชการ เช่น ตำรวจ ทหาร และครู อาจได้รับผลกระทบมากกว่าสหกรณ์ ที่สมาชิกส่วนใหญ่มีเงินออมมากกว่าภาระหนี้สิน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินกู้ยืมจากภายนอก ขณะที่แหล่งเงินกู้อาจระมัดระวังปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น หรือจากระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตาม โดยอาจส่งผลให้วงเงินสินเชื่อลดลง หรือแม้แต่ต้นทุนการกู้ยืมแพงขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯเองในปี 2552 ในเรื่องความสามารถในการทำกำไร และแนวโน้มการจ่ายปันผลแก่สมาชิกในอัตราที่ลดลงแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์บางส่วนด้วย โดยเฉพาะในรายที่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องขอรับบริการทางการเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ

- ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตามต่อไป แม้ว่าในภาพรวมทั้งระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ปี 2550 จะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 1,146 ล้านบาท คิดเป็น 0.2% ของลูกหนี้เงินกู้คงค้างทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 30% ของเงินให้กู้ยืมเป็นการกู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้เดิม ซึ่งบ่งชี้ว่าหากลูกหนี้กลุ่มนี้ประสบปัญหาเรื่องการบริหารรายได้กับรายจ่ายแล้ว จึงอาจมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียได้มาก

กำลังโหลดความคิดเห็น