xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คาด ศก.อีสานปีวัวดุโตแค่ 1-2% เหตุวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คนว่างงานกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น -แบงก์ชาติ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอีสานปี 52 ขยายตัวเพียง 1.0-2.0% เหตุเจอผลกระทบวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งการเมืองยังไม่นิ่ง หวั่นตัวเลขคนตกงานเพิ่ม คาดเริ่มเห็นผลช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ยังมีปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจ ชูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เพิ่มการบริโภค ทั้งราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่ภาคการค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านมีลู่ทางขยายตัว ด้านภาวะเศรษฐกิจอีสานปีชวด ขยายตัวเพียง 4% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า เหตุน้ำมันราคาแพงลิ่วช่วงครึ่งแรกของปี 51

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2552 โดยมีนายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.แถลงข่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2552 และภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2551 ที่ผ่านมา ณ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธปท.สภอ.อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

นายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0-2.0 เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ปัจจัยสำคัญ คือ วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของอเมริกาและยุโรป

แม้ว่าจะไม่กระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของไทย แต่อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูง แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเมือง ที่สำคัญ ปัญหาการว่างงานจะเพิ่มขึ้น จะมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากส่วนกลางจำนวนมาก รวมถึงแรงงานที่ไปทำงานยังต่างประเทศมีแนวโน้มจะถูกส่งกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานในต่างประเทศ เริ่มส่งสัญญาณที่จะไม่ลงทุนเพิ่มและหยุดว่าจ้างแรงงานจากเมืองไทย

“ภาพรวมเศรษฐกิจภาคอีสาน ณ ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เนื่องจากเศรษฐกิจอีสานส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ทั้งสองภาคเศรษฐกิจดังกล่าวในอีสานมีไม่มากนัก” นายปราณีต กล่าวและว่า

จากการสำรวจและติดตามข้อมูลจากธุรกิจเอกชน และสถาบันการเงินตั้งแต่ธันวาคม 2551 พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ (ผลิตเสื้อกีฬาและแหอวน) ยังมียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศต่อเนื่องถึงกลางปี 52 ยังมีความต้องการรับแรงงานเพิ่มต่อเนื่อง แต่ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เริ่มได้รับคำสั่งซื้อลดลง คาดว่าจะลดลงมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตังแต่เดือนสิงหาคม 51 มีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิต การขนส่งของธุรกิจลดลง และจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในภาคมากขึ้น ขณะที่เดียวกันมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ยังขยายตัวและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ทั้งสองประเทศมีความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าทุน ต้องนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป ที่ลาวจะมีการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปลายปีนี้

ที่สำคัญ ผลของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่กำหนด 25 มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการใช้จ่าย โดยวางกรอบเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการเกษียณ ทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสร้างงาน ทำถนน อ่างเก็บ จะทำให้เกิดการจ้างงานในชนบท ให้มีรายได้ มาช่วยกระตุ้นการบริโภค สนับสนุนให้ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2552 เติบโตได้ระดับหนึ่ง น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินภายนอกประเทศได้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปี 2551 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวม คาดว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 ชะลอตัวจากปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจเมื่อปี 51 จากหลายปัจจัย ประกอบด้วย การใช้จ่ายของประชาชนชะลอตัว เนื่องจาก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย

ปัจจัยต่อมา คือ การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีปัญหาและปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ การลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว โดยอุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตชะลอตัว

ขณะที่ปัจจัยภาคการเงินเมื่อปี 2551 สินเชื่อและเงินฝากเริ่มชะลอตัว โดยสินเชื่อที่ชะลอตัวได้แก่ สินเชื่อเพื่อการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และที่สำคัญอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 6.4 จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องช่วงครึ่งแรกปี 51 และราคาสินค้าในหมวดอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี
กำลังโหลดความคิดเห็น