xs
xsm
sm
md
lg

"ศธ."ยันเอเน็ตยังไม่พลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -“ชัยวุฒิ” ยันยังไม่พบข้อผิดปกติของระบบเอเน็ต ย้ำหากสกอ.ผิดยินดีจะคืนสิทธิ์ให้นร.ทันที ชี้ขอดูตัวเลขผู้ร้องเรียนก่อน ด้าน สกอ.ยอมรับขั้นตอนการรับสมัครในบางจุดยังไม่มีความชัดเจน เผยวันที่ 2 มีผู้มาร้องเรียนทั้งสิ้น 29 ราย ส่วนใหญ่ผิดพลาดเอง เหตุจำวันผิด แต่ขอโอกาสคืนสิทธิ์หากเป็นไปได้

          วานนี้ (9 ก.พ.) เวลา 09.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีการเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนที่มีปัญหาการสมัครสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) เป็นวันที่ 2
.
**นร.ยอมรับผิดพลาดเอง
น.ส.วิสนีย์ ไชยพินิจ นักเรียน ร.ร.สายน้ำผึ้ง ที่เดินทางมาร้องเรียนตั้งแต่เช้าเปิดเผยว่า สาเหตุหลักในการไม่ได้ชำระเงินได้ทันเวลาจนเป็นเหตุให้พลาดที่จะเข้าสอบเอเน็ตนั้น เนื่องจากตนจำวันผิด และกล่าวยอมรับว่าเป็นความผิดของตนไม่ได้เป็นความผิดของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด
“หนูลืมค่ะ เขาให้สมัครได้ถึง 14 ม.ค. แต่หนูมารู้ตัวอีกทีคือ 15 ม.ค.ซึ่งช้าไปแล้ว ตอนแรกรู้สึกว่าจะบอกแม่ยังไง และก็เพิ่งตัดสินใจบอกเมื่อเช้านี้เอง โดยทะเลาะกับแม่ก่อนออกมา แม่ว่าทำไมเราไม่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นความจริงและเสียใจที่เราไม่รับผิดชอบ สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเองไม่ใช่ความผิดของกระทรวง เพราะหนูไม่ดูให้ดี เขาก็บอกชัดเจนเหมือนกันว่าให้สมัครได้ถึงวันที่เท่าไหร่ หนูให้เพื่อนจัดการให้และหนูก็ไม่ได้ดูเอง”น.ส.วิสนีย์ กล่าวยอมรับ
น.ส.วิสนีย์ กล่าวอีกว่า หากการยื่นคำร้องขอคืนสิทธิ์ในวันนี้ไม่ผ่าน ตนคาดว่าจะสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งอาจจะเรียนต่อ 1 ปีและกลับมาสอบตรงใหม่อีกครั้งในปีการศึกษาหน้า โดยมหาวิทยาลัยที่มองไว้คือ ม.รังสิต
        น.ส.ธัญลักษณ์ เตชะโกสิต นักเรียน ร.ร.สายน้ำผึ้ง ซึ่งเดินทางมาร้องเรียนในกรณีเดียวกันคือ เข้าใจวันผิดพลาด ระบุว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ตนป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน และเข้าใจว่ายังมีเวลาสมัครและยื่นชำระเงินได้ถึงวันที่ 12 ก.พ. แต่เมื่อทราบว่าเลยกำหนดเวลาจึงรีบโทรศัพท์ปรึกษาผู้ปกครอง เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยอมรับว่า การที่ สกอ.ระบุว่า ความผิดโดยส่วนมากนักเรียนเป็นคนผิดนั้น ตนยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ก็คาดหวังว่าจะขอโอกาส แต่หากไม่ได้โอกาสก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ สกอ.ตัดสิน ซึ่งขณะนี้ตนได้สมัครสอบตรงที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรีเอาไว้แล้ว หากสอบติดก็จะเรียนให้จบใน 4 ปีโดยไม่คิดสอบแก้ตัวใหม่ในปีหน้า
 
**”ชัยวุฒิ”ตรวจศูนย์ร้องเรียน        
          เมื่อเวลาประมาณ 10.40น.นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้เดินทางมายังสกอ.เพื่อเข้าหารือกับคณะทำงาน โดยได้เดินไปที่โต๊ะร้องเรียนพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียนที่กำลังให้สัมภาษณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัจฉรา แสงทองยิ่งดี ซึ่งเป็นผู้ปกครองเข้าร้องเรียนท่ามกลางผู้สื่อข่าวที่มุงทำข่าว ผู้ปกครองรายนี้กล่าวว่า ขอความเห็นใจให้เด็กได้เข้าไปสอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะละเลยหรือลืม แต่ที่ไม่ได้มาจัดการให้เรียบร้อยเป็นเพราะไม่รู้ อยากขอความเห็นใจในอนาคตของเด็ก อยากให้คืนสิทธิ์ให้เด็กให้เข้าไปสอบเช่นเดียวกับเด็กอีก 1.9 แสนคน และไม่เข้าใจว่าการคืนสิทธิ์จะกระทบกับเด็กที่ได้เข้าสอบก่อนหน้านี้ 1.9 แสนคนอย่างไรบ้าง
นายชัยวุฒิ กล่าวอย่างใจเย็นว่า อยากให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าการรักษาสิทธิ์ของเด็ก 1.9 แสนคนนั้น หลักใหญ่คือ ต้องดูแลไม่ให้การสอบที่ถูกกำหนดขึ้นแล้ว ได้รับผลกระทบ เช่น อาจต้องเลื่อนเวลาออกไป หากศธ.ไม่คิดถึงมนุษยธรรม และไม่เห็นใจเด็ก ก็คงไม่เปิดศูนย์ร้องเรียนเนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่ามีการเปิดศูนย์เช่นนี้ ซึ่งสกอ.เข้าใจว่าการสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเยาวชนมาก และนั่นเป็นเหตุที่เราจะต้องเปิดศูนย์เพื่อรับข้อมูล
“มหาวิทยาลัยรวมกลุ่มกันเพื่อหามาตรฐานในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาในมหาลัย เราในฐานะตัวกลาง ต้องดูแล โปร่งใส ซึ่งการคืนสิทธ์ให้เด็กจำเป็นต้องหาวิธีในเชิงปฏิบัติในการจัดสอบของเด็กที่ได้รับการคืนสิทธิ์ให้ได้วันเดียวกับนร.อีก1.9 แสนคนให้ได้ เพราะโดยหลักการแล้ว ไม่สามารถทำก่อนหรือทำหลังได้ ทุกอย่างต้องตรงเพี๊ยะ หากไม่เช่นนั้นก็จะมีการครหาได้ ขณะนี้ผมยังไม่สามารถบอกข้อระบุได้ แต่จำนวนเด็กที่มาร้องเรียนและเหตุผลเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเช่นกัน” รมช.ศึกษาธิการ ระบุ
ภายหลังส่งเรื่องร้องเรียน นางอัจฉรา เปิดเผยอย่างมีอารมณ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากกับชีวิตลูก ตนเชื่อว่าลูกคงไม่ได้ละเลย แต่เท่าที่ถามเด็กทราบว่าเพิ่งจะเห็นว่ามีอักษรตัววิ่งในอินเทอร์เน็ตแจ้งว่าให้โอนเงินครั้งแรกในวันที่ 12 ม.ค.โดยไม่ได้ระบุว่ากำหนดสิ้นสุดการจ่ายเงินวันใด ขอยืนยันว่าลูกไม่ได้ลืม แต่ไม่รู้เพราะสกอ.ไม่ได้ประชาสัมพันธ์
“เราไม่ได้เฝ้าหน้าคอมพ์ทั้งวันนะ คุณประชาสัมพันธ์ลงวิทยุ แล้วฟังวิทยุกันไหมละ ทำไมไม่เอาภาษีของเราไปประชาสัมพันธ์ให้รู้เรื่องมากกว่านี้ เอเน็ตเป็นเรื่องใหญ่ เราจะลืมได้เหรอ” นางอัจฉรา กล่าวอย่างมีอารมณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามนางอัจฉราทราบว่า บุตรของนางเรียนอยู่ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี แต่ไม่อาจเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งการสมัครนั้นทราบว่าให้เพื่อนสมัครให้และไม่แน่ใจว่าเพื่อนลูกชำระเงินทันหรือไม่

**เผยไม่พบระบบมีความผิดปกติ
ต่อมาเวลา 11.30น.นายชัยวุฒิได้เปิดแถลงข่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ถึงช่วงเช้าวานนี้(9 ก.พ.) มียอดผู้มาร้องเรียนทั้งสิ้น 85 คน โดยเหตุผลที่ระบุแตกต่างกันไป ในส่วนของกรณีที่มีปัญหาเรื่องการอ่านแถบบาร์โค้ดจำนวน 3 คน ซึ่งทั้ง 3 ให้ข้อมูลว่า ได้จ่ายที่ไปรษณีย์ไทย และแถบที่ไม่อ่าน ซึ่งเมื่อได้รับเรื่อง สกอ.ประสานไปไปรษณีย์ทุกแห่งแล้วว่าหากมีปัญหานี้ให้แนะนำให้ไปทำการที่ธนาคารแทน
ด้านดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินที่ทำการธนาคารนั้นเด็กส่วนใหญ่ทำได้ และนักเรียนจำนวน 1.9 แสนคนที่ไม่มีปัญหานั้นส่วนใหญ่จ่ายผ่านธนาคาร ซึ่งไม่ได้ยิงบาร์โค้ด แต่จะคีย์เลขที่อ้างอิง ซึ่งเป็นตัวเลข 2 แถว สองชุดที่ชัดเจนแทน จึงไม่พบข้อผิดพลาดจากการจ่ายผ่านธนาคาร
จากนั้นรมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบระบบด้วยตนเองพบว่ายังไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ของระบบ จะมีเพียงตามที่ร้องเรียนเป็นส่วนใหญ่คือ ใบระเบียบการสมัครออนไลน์หน้าสุดท้ายไม่ระบุวันสิ้นสุดการจ่ายเงิน แต่ตนเห็นว่าระบบการเขียนใบสมัครออนไลน์นั้นกว่าจะถึงหน้าสุดท้ายยืนยันว่ามีระบุวันสิ้นสุดการรับชำระแน่นอน และยืนยันว่าเอกสารออนไลน์ชุดนี้ได้นำขึ้นระบบออนไลน์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อนักเรียนและผู้ปกครองบอกว่ายังไม่ละเอียด ก็จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขส่วนนี้ต่อไป
“รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายมาอย่างชัดเจนว่า หากมีการผิดพลาดที่ระบบให้คืนสิทธิ์แก่เด็กทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข แต่หากเป็นกรณีอื่นต้องพิจารณาให้ได้รับการเยียวยาให้ดีที่สุด”
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ ต้องจัดการเยียวยาเด็กที่สมัครแล้วไม่ได้ชำระเงินกลุ่มนี้อย่างไรให้ไม่กระทบกับเด็กอีก 1.9 แสนคน เป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้เด็กที่หากได้รับการคืนสิทธิ์จะสามารถเข้าสอบพร้อมกับเด็กอีก 1.9 แสนคน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ไม่เหลื่อมล้ำ
“อยากให้ผู้ปกครองย้อนคิดว่าในสมัยที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเอนทรานซ์การซื้อใบสมัครต้องนั่งรถมาด้วยตนเอง เดินทางมายื่นใบสมัครด้วยตนเอง ตามวันและเวลาที่กำหนด ต่างกับสมัยนี้การลงทะเบียนในอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายมาก อาจจะง่ายจนละเลย และหลงลืม ทั้งนี้ สมมติว่าถ้าหากต้องคืนสิทธิให้นักเรียน อาจจะต้องจัดที่นั่งสอบให้ต่างหาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักเรียน 1.9 แสนรายที่มาชำระตามกำหนด แต่จะสอบพร้อมกันวันที่ 28 ก.พ. เพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำ และไม่ได้เปรียบเสียเปรียบ”นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำ
ส่วนกรณีที่มีนักเรียนที่เข้ามาโพสต์ในเว็บเด็กดีเป็นจำนวนมากว่า ไม่เห็นด้วยกับการคืนสิทธิ์ให้กับนักเรียนกลุ่มนี้นั้น นายชัยวุฒิกล่าวว่า ศธ.จะนำความคิดเห็นของนักเรียนที่โพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ต่างๆ มาประกอบการพิจารณาร่วมกับยอดนักเรียนที่ยื่นคำร้องขอให้คืนสิทธิ โดยจะขอดูเหตุผลนักเรียนทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้จะมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตัดสิน

**วันที่สองร้อง 29 ราย
หลังหมดเวลาร้องเรียน นายสุเมธเปิดเผยเพิ่มเติมว่า วานนี้(9 ก.พ.) มีนักเรียนมาร้องเรียนจำนวน 29 ราย ในจำนวนดังกล่าวมี 9 รายมาสมัครเอเน็ตไม่ทัน จำนวน 5 ราย ทราบวันชำระเงินแต่ไม่ได้มาชำระเงิน 1 คน มีปัญหาเรื่องบาร์โค้ด 5 คน ไม่ทราบวันชำระเงิน 3 คนติดภารกิจ 3 คนป่วย และอีก 3 คนชำระหลังวันที่ครบกำหนด
ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 11 ก.พ.นี้จะประชุมร่วมกับนางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการกลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อนำข้อมูลที่นักเรียนมาร้องทุกข์เพื่อนำมาตัดสินใจและหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินการในวันดังกล่าว
นอกจากนั้น วันนี้(10 ก.พ.) ตนและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) จะหารือถึงข้อผิดพลาดของระบบเนื่องจากทปอ.จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดสอบเอเน็ต เพื่อจะนำข้อผิดพลาดทั้งหมดไปแก้ไขและจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก
“ในวันที่ 11 ก.พ.เราจะนำข้อมูลข้อร้องเรียนของเด็กๆ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัดนำมาหาข้อสรุป แต่เราจะใช้หลักมนุษยธรรมในการพิจารณาครั้งนี้ แต่ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นยังระบุแน่ชัดไม่ได้”นายสุเมธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น