เอเน็ตจบ คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา มีมติไม่เยียวยานักเรียน เหตุไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบ พร้อมเผยมียอดผู้ร้องเรียนทั้งหมด 572 คน แต่เปิดช่องให้ สกอ.พิจารณา นร.12 คน ที่อ้างเหตุบาร์โค้ดผิดพลาดเป็นพิเศษ ชี้ หากพบข้อบกพร่องให้เยียวยาและชำระเงินภายหลังได้
จากปัญหานักเรียน ม.6 ยื่นเรื่องเพื่อขอชำระเงินค่าสมัครสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ เอเน็ต เนื่องจากชำระเงินไม่ทัน โดยมีเหตุผลว่า ใบสมัครสุดท้ายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ไม่ระบุวันสิ้นสุดการชำระเงิน ทำให้นักเรียนไม่ทราบ จึงไม่สามารถชำระเงินได้ทันเวลา ทั้งนี้ สกอ.ได้เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8-13 ก.พ.ซึ่งมีนักเรียนมายื่นเรื่องเกือบ 572 คนนั้น
คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมี นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นประธาน กรรมการ ประกอบด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัย 21 แห่ง โดยได้เรียกประชุมด่วนวันที่ 13 ก.พ.เวลา 16.30 น.โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทลัยขอนแก่น นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง
เมื่อถึงเวลา 20.00 น. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ ได้เดินทางมาร่วมฟังข้อสรุปและร่วมแถลงข่าวผลการประชุม โดย นายสุรพล แถลงข่าวผลการประชุมว่า มีนักเรียนยื่นเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่วันที่ 8-13 ก.พ.ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 572 คน แบ่งกรณีปัญหาออกเป็น 7 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผู้จำวันชำระเงินคลาดเคลื่อนจนไม่ได้ชำระเงิน 411 คน ซึ่งพิจารณาแล้วไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบ แต่เป็นความผิดพลาดของผู้สมัครเอง เพราะมีการแจ้งกำหนดเขตการชำระเงินไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา 2.กลุ่มที่ต้องการสมัครเพิ่มบางรายวิชา 10 คน ซึ่งพิจารณาแล้วเป็นการเปลี่ยนใจที่จะสมัครเพิ่มเติมในภายหลัง เป็นการขอสิทธิ์เพิ่มเติม ซึ่งไม่เป็นธรรมกับนักเรียนรายอื่น จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา 3.กลุ่มที่อ้างว่าอินเทอร์เน็ตมีปัญหา 12 ราย ตรวจสอบแล้วพบว่าให้เหตุผลว่าที่บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากเด็กมีการสมัครผ่านระบบเรียบร้อยแล้ว ติดเพียงการชำระเงิน โดยในจำนวนนี้ 11 ราย เป็นเด็กใน กทม.และ 1 รายอยู่ในต่างจังหวัด จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา
4.กลุ่มที่อ้างว่าใบสมัครไม่ระบุวันหมดเขตชำระเงิน 58 ราย พิจารณาแล้วเห็นว่า สกอ.แจ้งกำหนดการชำระเงินในขั้นตอนการสมัครสอบเอเน็ตไว้ชัดเจนถึง 2 จุด การอ้างว่าไม่แจ้งวันชำระเงินนั้น เป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา 5.กลุ่มที่อ้างว่า พบมีชำระเงินผ่านเอทีเอ็มหลังหมดเขตชำระเงิน 4 คน เป็นการดำเนินการภายหลังหมดเขตการชำระเงิน จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา 6.กลุ่มอ้างว่ามีปัญหาเรื่องบาร์โค้ด 12 คน เป็นกลุ่มที่มีเหตุผลนำมาพิจารณาให้การเยียวยาได้ หากพบว่าเด็กมีความพยายามชำระเงินตามกำหนดเวลา จึงให้ สกอ.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายบุคคล เพื่อให้การเยียวยาในรายที่มีหลักฐานชัดเจน และพิจารณาถึงนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจมีปัญหาเรื่องบาร์โค้ดด้วย และ 7.กลุ่มที่ไม่ได้สมัครเอเน็ตตามกำหนดเวลา 65 ราย ซึ่งไม่ได้สมัครเพื่อสอบเอเน็ตตั้งแต่ต้น จึงไม่มีเหตุผลในการเยียวยา
“ที่ประชุมพิจารณาโดยยึดหลักการ ว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส และยุติธรรม ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งต้องรักษาระบบนี้ไว้ และต้องคำนึงถึงเด็กที่สมัครตามกรอบเวลาที่กำหนด 1.9 แสนคนด้วย ดังนั้น การพิจารณาจะยึดเด็กที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม และมาร้องเรียนดังกล่าว 572 คน เมื่อพิจารณาข้อปัญหาแล้วเห็นว่า กรณีที่เกิดปัญหาบาร์โค้ดเท่านั้น ที่คิดว่าน่าจะสามารถเยียวยาได้ แต่เด็กจะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้มีความพยายามที่จะชำระเงินตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเบื้องต้นมีจำนวน 12 คน ส่วนเด็กอีก 6 กลุ่มที่เหลือ จำนวน 560 คน ไม่ใช่ปัญหาของระบบและเหตุผลฟังไม่ขึ้น แต่จะให้ สกอ.ตรวจสอบว่า ในกลุ่มนี้มีปัญหาบาร์โค้ดด้วยหรือไม่ หากมีก็จะได้รับการพิจารณานำหลักฐานมาพิสูจน์เช่นกัน โดยจะพิจารณาคืนสิทธิให้ภายในวันที่ 16 ก.พ.นี้”นายสุรพล กล่าว
ส่วนนักเรียนที่สมัครตามกำหนดเวลา 1.9 แสนคน จะประกาศผังที่นั่งสอบได้ในวันที่ 14 ก.พ.ตามเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ สกอ.ยังได้เผยแพร่คณะวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช้คะแนนเอเน็ตในการสอบคัดเลือกลงในเว็บไซต์ของ สกอ.ด้วย
ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธานสหภาพพนักงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) โดย ปอมท.ขอชื่นชมนักเรียนทั้ง 1.9 แสนคน ที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎระเบียบและอยากให้นักเรียนทั้ง 1.9 แสนคนให้อภัยแก่เพื่อนที่ทำผิด และเปิดโอกาสให้เข้าสอบ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจนักกีฬาที่น่ายกย่อง พร้อมกับเรียกร้องให้ คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นครูบาอาจารย์ ให้โอกาสเด็กที่ทำผิดกฎกติกา ได้ชำระเงินรอบสองเพื่อเข้าสอบเอเน็ตด้วย ส่วนฝ่ายนักเรียนที่ทำผิดกฎกติกา ถ้าหากได้สิทธิในการสอบแล้ว จะต้องเตือนตนเองว่า ความผิดพลาดของตนเองที่ได้รับการให้อภัยนั้น ตนเองจะต้องทำตัวเพื่อส่วนรวมและสังคมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สังคมเกิดความสมานฉันท์มากขึ้น
น.ส.ธนัชพร เวชมณีกร นักเรียน ม.6 โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม กทม.กล่าวว่า ยอมรับมติและจะไม่ยื่นฟ้องศาลปกครอง แต่จะทำคะแนนสอบเอเน็ต 2 วิชาที่ได้ชำระค่าสมัครไว้แล้วให้ดีที่สุด เพื่อนำไปใช้เลือกคณะที่สามารถเลือกได้ แต่ก็รู้สึกเห็นใจเพื่อนคนอื่นที่ต้องการเรียนคณะแพทยศาสตร์ แต่ไม่มีคะแนนเอเน็ตไปใช้ สำหรับตนสาเหตุที่ชำระเงินค่าสมัครแค่ 2 วิชา เพราะเดิมตั้งใจไม่ไปสอบเอเน็ต จึงไม่ชำระในวิชาที่เหลือ เนื่องจากสอบติดรับตรงของ มศว คณะนวัตกรรมการสื่อสาร เอกการแสดงและการกำกับการแสดงผ่านสื่อ แล้ว แต่มารู้ภายหลังค่าเล่าเรียนสูงเกินไป คือ ภาคเรียนละ 50,000 บาท ตนจึงสละสิทธิ์ และตั้งใจจะเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละครแทน แต่ปรากฏว่า จำเป็นต้องใช้คะแนนเอเน็ตในวิชาที่ตนไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครสอบด้วย ตนจึงได้มาร้องทุกข์เพื่อขอคืนสิทธิ์ได้เข้าสอบเอเน็ต