“หมอเชิดชู” ฟ้องศาลปกครอง เอาเรื่อง คณะอนุกรรมการเลือกตั้งแพทยสภา ชี้ ทำหน้าที่ไม่โปร่งใส เปิดช่องทุจริต ขอศาลพิจารณาสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามกรรมการใหม่ทำหน้าที่ พร้อมยกเลิกผลเลือกตั้ง
วันนี้ (21 ม.ค.) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา หนึ่งในผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ.2554-2556 ในนามกลุ่มแพทย์ไทยสามัคคี (พทส.) กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องคณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ที่มีนพ.พรณรงค์ โชติวรรณ เป็นประธานต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีดำเลขที่ 294/2554 เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และไม่โปร่งใส โดยขอให้ศาลพิจารณาใน 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ศาลสั่งยกเลิกการประกาศผลการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ.2554- 2556 2.สั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภาใหม่ และ 3.ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความไม่โปร่งใส ใน 2 กรณี คือ 1.บัตรเลือกตั้งมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยก่อนการนับคะแนนเลือกตั้งคณะอนุกรรมการ ประกาศว่า มีบัตรเลือกตั้งส่งกลับคืนทั้งสิ้น 12,544 ฉบับ แต่เมื่อสิ้นสุดการนับคะแนน ปรากฏว่า บัตรเลือกตั้งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 12,833 ฉบับ จึงสงสัยว่า บัตรลงคะแนนที่เพิ่มขึ้นมาจากที่ไหน อย่างไร หากจะอ้างว่ามีการส่งไปรษณีย์กลับคืนมาถึงในตอนเช้าของวันนับคะแนน ก็ควรอยู่ในเวลา 09.00 น.ตามประกาศของคณะอนุกรรมการ แต่กลับได้รับการยืนยันจากบุคคลที่อยู่ในการนับคะแนน ว่า บัตรเลือกตั้งบางส่วนมาถึงในเวลา 09.30 น.และ 2.คณะอนุกรรมการปล่อยปละละเลยจนอาจนำไปสู่การทุจริต โดยจากการที่คณะอนุกรรมการ ออกประกาศให้สมาชิกสามารถส่งบัตรลงคะแนนกลับคืนได้ใน 2 ช่องทาง ได้แก่ ส่งทางไปรษณีย์ และหย่อนใส่หีบเลือกตั้งด้วยตนเองที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา แต่จากการที่ตนได้แจ้งความประสงค์ กับเจ้าหน้าที่แพทยสภาในการที่จะหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบด้วยตนเอง กลับได้รับคำตอบว่า จะต้องส่งให้กับเจ้าหน้าที่แพทยสภาก่อนเพื่อนำไปสแกน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำบัตรเลือกตั้งหย่อนลงหีบเอง โดยที่ทุกขั้นตอนไม่มีคณะอนุกรรมการคอยกำกับดูแลเลย
ด้าน นพ.พรณรงค์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า การดำเนินการของ คณะอนุกรรมการนั้นโปร่งใสทุกอย่าง และไม่มีการทุจริตใดๆ ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจนับคะแนนของผู้สมัครทุกท่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องสแกนบาร์โค้ดเข้ามาตรวจบัตรเลือกตั้ง ที่แพทย์ผู้มีสิทธิส่งเข้ามายังคณะอนุกรรมการ แต่ยอมรับว่า ในวันที่มีการนับคะแนน(20 ม.ค.) นั้น มีแพทย์ราว 5-10 คน ที่มาหย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง โดยไม่ส่งให้เจ้าหน้าที่สแกนบาร์โค้ด แต่ทางเราก็มีการตรวจสอบบัตรดังกล่าว และนับคะแนนให้ตามความเป็นจริง ส่วนกรณีที่ พญ.เชิดชู เข้าใจว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ดึงบัตรเลือกตั้งออก ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่มานาน เชื่อว่า ทุกอย่างตรงไปตรงมา สำหรับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ตรงกันนั้นมีเกินมาแค่เพียงไม่กี่สิบใบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เจ้าหน้าที่พบเจอทุกปี นั่นเพราะแพทย์ผู้เลือกตั้งบางคนเข้าใจว่า คุ้นเคยกับการเลือกตั้งก็จะใช้วิธีมาส่งบัตรในวันสุดท้าย ประกอบกับบางรายก็ส่งซองเปล่า หรือไม่ก็ส่งซองมาพร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง ซึ่งสองกรณีหลังนี้มีผลต่อจำนวนที่คลาดเคลื่อนอยู่แล้ว
“ในส่วนของคณะอนุกรรมการเอง หากศาลปกครองรับเรื่องฟ้อง และมีคำสั่งขอไต่สวน หรือตรวจสอบสิ่งใดก็พร้อมจะส่งหลักฐาน เอกสารทุกอย่างไปชี้แจงด้วย ความบริสุทธิ์ใจอยู่แล้ว” นพ.พรณรงค์ กล่าว