xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-บังคลาเทศปัด"โรฮิงยา" ไม่ใช่พลเมืองประเทศของตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4 ก.พ.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง นายอิทธิพร บุญประคอง รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ นำคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศ ประจำประเทศไทยประกอบด้วย อุปทูตประเทศสหภาพพม่า อัครราชทูตบังกลาเทศ เลขานุการโทอินโดนีเซีย และเลขานุการโทประเทศอินเดีย ไปตรวจเยี่ยม และรับทราบปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงยา ที่จ.ระนอง โดยมีนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อมูล
นายนิรวัชช์ กล่าวว่า การลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงยา เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 48 เมื่อมีการจับกุมได้ไม่ว่าหน่วยงานใด จะให้การดูแลเบื้องต้นตามหลักหลักมนุษยธรรม จากนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเข้าเมืองเช่นเดียวกับกรณีชาวโรฮิงญา 78 คน ที่ศาลพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน แต่โทษจำให้รอลงอาญา เพียงปรับ 1,000 บาท แต่ผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจึงถูกคุมขังแทนค่าปรับวันละ200 บาท เมื่อพ้นโทษแล้วก็จะส่งตัวให้ ตม.ไปดำเนินการ ขอยืนยันว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างแน่นอน
"จากการสอบถามชาวโรฮิงยาที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่บอกว่า มาจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า รวมเงินกันซื้อเรือแล้วเดินทางลัดเลาะไปตามชายฝั่ง แต่เดิมได้รับข้อมูลว่าจะไปประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่สอบถามล่าสุดได้ข้อมูลว่าสบายใจที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นแทน"
นางดาว เอ เอ มู อุปทูตพม่า กล่าวว่า ในความเห็นของพม่า ชาวโรฮิงยา ไม่ใช่พลเมืองของพม่าเป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองเท่านั้น ที่อนุญาตให้อยู่ก็เพื่อมนุษยธรรม ซึ่งมีชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพม่าประมาณ 2 แสนคน ชาวโรฮิงยา ถูกนำเข้ามาในพม่าสมัยยุคอาณานิคม แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราช คนกลุ่มนี้ก็เลยอยู่ลำบาก เนื่องจากมีความแตกต่างกันทั้งภาษาและวัฒนธรรม จึงได้อพยพออกไปหาสิ่งที่ดีกว่า
"หากการพูดคุยกับชาวโรฮิงยาทั้ง 78 คน ยืนยันว่าเดินทางออกจากพม่าจริง ทางการพม่าก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางการไทย เพราะไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน"
นายซายิด กอลัม ซาฮิด อัครราชทูตบังกลาเทศ กล่าวว่า ชาวโรฮิงยา ก็ไม่ใช่พลเมืองของบังกลาเทศ เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองเช่นเดียวกัน โดยเริ่มอพยพเข้าไปอยู่เมื่อปี ค.ศ.1978 ปัจจุบันมีประมาณ 3 แสนคน แต่ทางการบังกลาเทศให้การช่วยเหลือโดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ บังกลาเทศ พม่า และUNHCR นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 5 ประเทศ ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาโรฮิงยาในครั้งนี้
จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศได้เดินทางไปเยี่ยมชาวโรฮิงยา ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเมืองระนอง และชาวโรฮิงยาที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลระนอง 3 คน ก่อนเดินทางกลับกทม.

**"อภิสิทธิ์"ยันไม่ตั้งศูนย์อพยพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการหารือร่วมกันแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงยา ระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กับทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ว่า ทำงานกันอยู่ ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ได้มีการหารือกัน เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา และในแง่ของความพยายามชี้แจงกับฝ่ายต่างๆ ก็ยังทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรเอกชน ส่วนของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงรายงานข่าวเรื่องนี้ที่ออกมาในทางลบว่า ก็มาจากการไปสัมภาษณ์กลุ่มคนเหล่านี้ ที่อาจจะไปอยู่ที่อินโดนีเซีย อินเดีย หรือที่อื่นๆ อันนี้เราก็คงทำอะไรได้ยาก แต่เราก็ต้องให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจว่า ข้อเท็จจริงก็ต้องฟังความหลายๆ ด้าน และให้มองเห็นท่าที และนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ ซึ่งพร้อมจะให้หน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งถ้าเรามีเจตนาที่จะปฏิบัติที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไร เราคงไม่มีท่าทีอย่างนี้ ซึ่งทางยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้ามาได้มีการพบปะกับกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็เดินหน้าแก้ไขปัญหา รมว.ต่างประเทศ ตอนที่ไปสวิสเซอร์แลนด์ ก็ได้อยู่ต่อ เพื่อที่จะไป เจนีวา เพื่อจะทำเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยเห็นด้วย ที่จะมีการตั้งค่ายผู้อยพยโรฮิงยา ที่จ.ระนอง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้อพยพ แต่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย เราก็ควรปฏิบัติเหมือนกับคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายทั่วไป คือการผลักดันออกนอกประเทศ ยืนยันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนสถานะคนเหล่านี้แน่นอน และต้องเร่งปราบปรามคนของเรา ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ และในส่วนของต่างประเทศ ก็จะใช้ความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่ปัญหาที่เริ่มต้นจากเรา และไม่ควรจะเป็นปัญหาของเรา ยืนยันว่า ขณะนี้เราต้องมีขบวนการส่งคนเหล่านี้กลับออกไป เพียงแต่ว่าการรับเข้ามา การดำเนินการ และการส่งกลับออกไป ก็ทำบนมาตรฐานที่สากลยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น