xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คย้ำยึดมนุษยธรรมจนท.ปัดทารุณโรฮิงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข่าวที่สื่อต่างชาติ นำเสนอทหารเรือไทย ทำทารุณกรรมผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา ของพม่าว่า ในนโยบายรัฐบาลได้เขียนไว้ชัดเจนว่า การปฏิบัติการใดๆ ให้ถือหลังสิทธิมนุษยชน และจากการสอบถามไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายที่จะไปละเมิดสิทธิ์แต่ก็จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการอ้างว่า มีพยานเห็นการดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทำการดำเนินการไปสอบสวนอยู่ ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายอย่างที่ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับเรื่องของภาคใต้ที่มีการทำรายงาน กล่าวหามา ถ้าหากว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมีการลงโทษ
สำหรับนโยบายเรื่องผู้อพยพลี้ภัยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของเราจริงๆ และเราก็ต้องดำเนินการในการที่จะกันไม่ให้มีคนหลบเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมากแล้วสร้างปัญหาความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการดำเนินการค่อนข้างจะรวดเร็วแต่ก็อยู่ในกรอบเรื่องสิทธิมนุษยชน
จริงๆ ถ้าหาต่างประเทศหรือองค์กรต่างๆ มีความคิดที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้ เขาก็ต้องมามีส่วนร่วมด้วย เพราะจริงๆ แล้วการร่วมมือในเรื่องนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องคุยกัน เพราะว่าการเข้ามาอย่างกรณีโรฮิงญานี้ ก็เข้ามาในกรณีที่เรือไม่มีเครื่องยนต์แล้วลอยเข้ามา ในบางกรณีมีรายงานด้วยซ้ำว่า ก็เหมือนกับมีการจมเรือเพื่อที่จะได้ให้เราเอาตัวเขาขึ้นมาบนเรือของเราเพื่อที่จะเข้ามาฝั่งเรา ซึ่งถ้าดำเนินการต่างๆ ก็จะเป็นปัญหามากสำหรับผู้ปฎิบัติแต่เราได้กำชับไปแล้วว่า อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจว่าเวลามันมีการไปกล่าวหาว่า เราไปละเมิดสิทธิมนุษยชนมันกระทบกระเทือนกับต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนกับนโยบายความมั่นคงสวนนโยบายกัน รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้ว กอ.รมน.มีแผนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเกิดเหตุที่มีการกล่าวหาทำนองอย่างนี้ขึ้น ก็ต้องชี้แจงไป แต่ขอยืนยันว่านโยบายที่ไม่ให้คนที่ผิดกฎหมายเข้าเมือง ก็ต้องดำเนินการต่อ
ต้อข้อถามว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วคนเหล่านี้เข้ามาในไทยเพื่อต้องการไปที่ไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงไม่ถึงขึ้นเป็นกระบวนการแต่ว่าก็เป็นธรรมดาบางที ก็มีผู้ที่สนใจประเด็นเหล่านี้เป็นพิเศษ และบางครั้งข้อมูลก็เกินความเป็นจริง ส่วนการอ้างถึงนักท่องเที่ยวอะไรต่างๆ ก็คิดว่าอาจจะเป็นความเข้าใจของเขาก็ได้ เพราะการปฎิบัติอย่างที่เรียนก็คือ ทางกองทัพก็ชี้แจงว่า อย่างบนหาดทราย คนที่เข้ามามันเยอะ เจ้าหน้าที่น้อยก็ต้องปฎิบัติ ซึ่งปฎิบัติไม่ได้น้อยกว่าต่างประเทศ
ด้าน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า กองทัพกำลังตรวจสอบตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีอยู่ว่าการดำเนินการกับผู้อพยพชาวโรฮิงยา เป็นอย่างไร ใข้มาตรการอะไรและมีความเหมาะสม มีเหตุมีผลหรือไม่ ทั้งนี้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทุกคน พยายามยึดถือหลักมนุษยธรรม และไม่ได้ดำเนินการในลักษณะใช้ความรุนแรง แต่มาตรการบางเรื่องที่เราเห็น ต้องขอตรวจสอบก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ที่ทำเพื่อให้ควบคุมได้ ส่วนจะเสนอผลสอบให้นายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่นั้น ไม่ทราบคงต้องใช้เวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้นำพม่าไม่พอใจถึงกระแสข่าวไทยทารุณชาวโรฮิงยา พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศเป็นไปด้วยดี มีความเรียบร้อยทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเรามีทัศนะคติที่ดีต่อกัน ไม่เห็นมีปัญหาหรือความขัดแย้ง เมื่อถามว่า ห่วงกองทัพถูกโจมตีกรณีโรฮิงยาและภาคใต้ที่ทารุณต่อผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องต่างๆ เราทำตามผลประโยชน์ชาติ ยึดหลักสากล มีหลักมนุษยชน เราถือตามนั้นและทำอยู่แล้ว
ด้าน นายต่อพงษ์ ไชยสาสน์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือไปถึงหัวหน้าส่วนงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง ซึ่งประกอบด้วย พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร., กอ.รมน. แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ อธิบดีกรมการระหว่างประเทศ เข้าชี้แจง กรณีข่าวการทำทารุณผู้อพยพชาวโรฮิงยา ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น.
เนื่องจากทางกรรมาธิการฯมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การขอให้มาชี้แจงครั้งนี้เพื่อต้องการทราบว่าทางการหรือรัฐบาลมีแนวทางอย่างไร ในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก และเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมาทางกรรมาธิการฯได้ตั้งให้นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นประธานอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น