xs
xsm
sm
md
lg

ทูตพม่า-บังกลาเทศระบุโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของประเทศ ให้อยู่ตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระนอง - คณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศ ลงพื้นที่ระนองรับทราบข้อมูล พร้อมเยี่ยมผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงยา ขณะที่ตัวแทนทูตพม่า และบังกลาเทศ ระบุโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของประเทศตน เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อนุญาตให้อยู่ ตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เห็นด้วยที่นานาประเทศร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง นายอิทธิพร บุญประคอง รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ นำคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศ ประจำประเทศไทยประกอบด้วย อุปทูตประเทศสหภาพพม่า อัครราชทูตบังกลาเทศ เลขานุการโทอินโดนีเซีย และเลขานุการโทประเทศอินเดีย มาตรวจเยี่ยม และรับทราบปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาที่จังหวัดระนอง โดยมีนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อมูล

นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า การลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงยา เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อมีการจับกุมได้ไม่ว่าหน่วยงานใด จะให้การดูแลเบื้องต้นตามหลักหลักมนุษยธรรม จากนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเข้าเมืองเช่นเดียวกับกรณีชาวโรฮิงญา 78 คน ที่ศาลพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน แต่โทษจำให้รอลงอาญา ปรับ 1,000 บาทแต่ผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จึงถูกคุมขังแทนค่าปรับวันละ 200 บาท เมื่อพ้นโทษแล้วก็จะส่งตัวให้ ตม.ไปดำเนินการ ขอยืนยันว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นอน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามชาวโรฮิงยาที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่บอกว่า มาจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า รวมเงินกันซื้อเรือมาแล้วเดินทางลัดเลาะไปตามชายฝั่ง แต่เดิมได้รับข้อมูลว่าจะไปประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่สอบถามล่าสุดได้ข้อมูลว่าสบายใจที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นแทน

นางดาว เอ เอ มู อุปทูตพม่า กล่าวว่า ในความเห็นของพม่า ชาวโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของพม่า เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองเท่านั้น ที่อนุญาตให้อยู่ก็เพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น ซึ่งมีชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพม่าประมาณ 2 แสนคน ชาวโรฮิงยาถูกนำเข้ามาในพม่าสมัยยุคอาณานิคม แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราช คนกลุ่มนี้ก็เลยอยู่ลำบาก เนื่องจากมีความแตกต่างกันทั้งภาษา และวัฒนธรรมจึงได้อพยพออกไปหาสิ่งที่ดีกว่า

อุปทูตพม่า กล่าวอีกว่า หากการพูดคุยกับชาวโรฮิงยาทั้ง 78 คน ยืนยันว่าเดินทางออกจากพม่าจริงทางการพม่าก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางการไทย เพราะไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

ด้าน นายซายิด กอลัม ซาฮิด อัครราชทูตบังกลาเทศ กล่าวว่า ชาวโรฮิงยาก็ไม่ใช่พลเมืองของบังกลาเทศ เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองเช่นเดียวกันโดยเริ่มอพยพเข้าไปอยู่เมื่อปี ค.ศ.1978 ปัจจุบันมีประมาณ 3 แสนคน แต่ทางการบังกลาเทศให้การช่วยเหลือโดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ บังกลาเทศ พม่า และ UNHCR นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 5 ประเทศ ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาโรฮิงยาในครั้งนี้

จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเมืองระนอง และชาวโรฮิงยาที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลระนอง 3 คนก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
กำลังโหลดความคิดเห็น