xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นบอร์ดฟันทุจริตบินไทย11ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการบริษัทชุดที่มีนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2551 เนื่องจากผู้ดำเนินการอนุมัติวงเงิน ไม่มีอำนาจตามข้อกำหนดของระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุเนื่องจากมีผู้ถือหุ้นร้องเรียนนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งมีพลเรือเอกเดชา อยู่พรต เป็นประธาน ได้สรุปผลตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2551 ระบุในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ เรืออากาศโทอภิชัย แสงศศิ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน (DP) มีความผิดทางวินัย และทางแพ่ง โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และหากผลสอบทางวินัยพบว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นใดที่เข้าข่ายการกระทำความผิดร่วมอีก ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนทางวินัยบุคคลดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า ในการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศ เรืออากาศโทอภิชัยมีพฤติการณ์หรือการกระทำที่มีลักษณะไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ภักดีต่อบริษัท ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯทุกวิถีทาง และการกระทำมีลักษณะอันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย
โดยกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า เรืออากาศโทอภิชัย มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎ ระเบียบและมติของคณะกรรมการ บริษัท ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ ตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 และพ.ศ. 2550 ข้อ 5.2 5.3 และ 5.16 อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรงที่มีโทษปลดออกหรือไล่ออกตามระเบียบบริษัทฯ ข้อ 13
ส่วนในประเด็นความรับผิดทางแพ่งนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าพฤติกรรมของเรืออากาศโทอภิชัย เป็นการกระทำที่มีลักษณะอันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ซึ่งกระทำต่อบริษัทฯ เป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดทางแพ่ง ฐานกระทำละเมิดต่อบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทยกล่าวว่า กรณีทุจริตการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นภายในบริษัทฯ ซึ่งในแต่ละปี การบินไทยใช้เงินค่าเช่าโรงแรมลูกเรือประมาณ 4,600 ล้านบาท ในขณะที่คณะกรรมการสรุปผลสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ 24 พ.ย. 51 แต่ฝ่ายบริหารในขณะนั้นคือ เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไม่ได้ดำเนินใด
“การทุจริตภายในบริษัทฯ ถูกปล่อยปะละเลย เพราะเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและได้รับการปกป้องจากผู้มีอำนาจมาโดยตลอด ซึ่งการชี้มูลความผิดของกรรมการสอบข้อเท็จจริงทุจริตโรงแรมลูกเรือนี้อาจจะเป็นคดีตัวอย่างที่ บอร์ดและฝ่ายบริหารดำเนินการจริงจังเพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการบริหารงานในภาวะที่การบินไทยต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและแก้ปัญหาขาดทุนในขณะนี้”แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทุจริตการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 12 คนในข้อหา พนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญาได้นัดไต่สวนมูลฟ้องดคีไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2552 ที่ผ่านมาอีกด้วย
โดยผู้ถือหุ้นยื่นฟ้องเนื่องจาก เห็นว่า ทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหาร ร่วมกันเพิกเฉย กรณีที่มีการจ่ายค่าเช่าที่พักลูกเรือต่างประเทศปีละ 1 ล้านยูโร ทั้งที่จริงแล้ว มีการพักของลูกเรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายจริงเพียง 8 แสนยูโร ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นปีละ 10 ล้านบาท เป็นการบริหารงานของประธานบอร์ดและฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องไม่โปร่งใส มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวก ทั้งที่สามารถดำเนินการอื่นให้บริษัทได้รับประโยชน์ได้ แต่ไม่ดำเนินการ ในขณะที่สถานะการเงินของบริษัท กำลังจะมีปัญหา
สำหรับการสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศ
มีการสอบใน 3 ประเด็น 1. การลงนามในสัญญาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือที่ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจัดหา ที่สถานี โรม ช่วง 1 ก.พ. 50-31 ม.ค. 51 มีความต้องการ 22 ห้องต่อวัน คิดเป็นเงิน 37,430,492 บาทต่อปี (EURO 800,481) แต่เรืออากาศโทอภิชัย ทำสัญญาทำสัญญาในลักษณะเช่าเหมา 45 ห้อง เป็นเงิน 48,263,198 บาทต่อปี ( EURO1,029,240) ทำให้บริษัทฯจ่ายเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่ถูกต้องถึง 10,832,706.16 บาท (EURO 228,759)
2. กรณีการนำเสนอขออนุมัติการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือที่มีวงเงินเกินกว่า 100 ล้านบาทโดยอ้างอิงการใช้อำนาจอนุมัติไม่ถูกต้อง เช่นการจัดหาที่พักลูกเรือที่สถานี นิวยอร์ค 1 พ.ค.50-30 เม.ย.51 ระยะเวลา 2 ปี วงเงินประมาณ 150,134,223บาท จัดหาที่พักลูกเรือที่สถานีซิดนีย์ 1พ.ย.49-31ต.ค.50 ระยะเวลา 1 ปี วงเงิน 115,667,584 บาท และจัดหาที่พักลูกเรือที่สถานี เมลเบิรน์ 26 ก.ย.49-27 ก.ย. 50 ระยะเวลา 1 ปี วงเงิน 113,367,339 บาท
3. การลงนามในสัญญากับผู้ให้เช่าก่อนได้รับอนุมัติจัดหาและลงนามในสัญญากับผู้ให้เช่าที่อาจมิใช่ผู้ได้รัยมอบอำนาจจากบริษัทฯ 4. เรืออากาศโทอภิชัยในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการเช่าที่พักสำหรับผู้ควบคุมอากาศยานและลูกเรือขณะปฏิบัติการบิน (On Flight Duty) ไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริษัทฯเรื่องการดำเนินการเพื่อให้มีการสังเกตการณ์โดยสำนักงานการตรวจสอบภายใน (ZA) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้มีหนังสือลงวันที่ 11 พ.ย. 51 แจ้งให้เรืออากสโทอภิชัย ชี้แจงข้อเท็จจริงเหตุผลในการกระทำประเด็นที่สอบข้อเท็จจริงและให้ส่งกลับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในวันที่ 14 พ.ย. 51 แต่ไม่มีส่งกลับข้อมูลแต่อย่างใด
โดยพลอากาศเอกณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการ บริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะรายงานผลสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศเพื่อดำเนินการในการสอบทางวินัยต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบายนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่ามนมา นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ลาออกจากกรรมการบอร์ดการบินไทย แล้วหลังถูกกดดันทางการเมือง เพื่อเปิดทางให้นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมตั้งบอร์ดชุดใหม่ อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 ก.พ. นี้จะมีการนำเรื่องการลาออกดังกล่าวรายงานในที่ประชุมบอร์ดด้วย
ส่วนความคืบหน้าการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทยซึ่ง บริษัท การบินไทย ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2552 โดยขณะนี้มีผู้สมัครหลายรายแล้วโดยจะปิดรับสมัครวันที่ 13 ก.พ. 2552 สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครคือ สัญชาติไทย และมีอายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ ในวันยื่นใบสมัคร มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาที่ สำนักงาน ก.พ. รับรอง และสามารถทำงานให้แก่บริษัท การบินไทย ได้เต็มเวลา
นอกจากนี้ไม่เป็นกรรมการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ยื่นใบสมัคร, ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ, ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็น ฯลฯ และที่สำคัญในด้านความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ นั้นต้อง เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนั้น รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันยื่นใบสมัคร หรือ และเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารจากหน่วยงานภาคเอกชน ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันยื่นใบสมัคร ส่วน กรณีที่เป็นพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้อง ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันยื่นใบสมัคร เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และแนวคิดที่ครอบคลุม และเหมาะสมในการบริหารจัดการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มีภาวะผู้นำ มนุษยสัมพันธ์ดี มีความสามารถติดต่อประสานงานในระดับสากล

***กนอ.แจงเตรียมแผนสร้างรายได้ใหม่
นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้รับทราบข้อเสนอแนะของสศช.เกี่ยวกับการคาดการณ์ว่ากนอ.จะประสบปัญหาความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวเนื่องจากไม่ได้มีแผนลงทุนในโครงการที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ โดยเป็นการประเมินบนสมมุติฐานรายได้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของการประกอบการปี 2552 กนอ.ตระหนักเป็นอย่างดีและเตรียมจัดทำแผนธุรกิจรองรับเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มหลายโครงการ เช่น การพัฒนาท่าเทียบเรือที่มาบตาพุด การขยายพื้นที่นิคมฯ 4 แห่ง รวม6,400 ไร่ และนิคมฯใหม่ อย่างน้อย 2 แห่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ผลประกอบการของ กนอ. ปี 2551 ยังมีผลกำไรตามเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น