ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “พันธมิตรฯสงขลา” จับมือ “สรส.หาดใหญ่” โดดร่วม “สร.กปภ.”ขวางลำผู้บริหารการประปาส่วนภูมิภาค ประเคนกิจการประปาฯหาดใหญ่ให้เอกชนรุมทึ้งผลประโยชน์ เผยรองผู้ว่าฯ กปภ.นำคณะผู้บริหารงุบงิบจัดประชุมชี้แจงพนักงานที่สงขลา เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่กลับต้องหน้าม้านกลับไป เพราะเจอมาตรการคัดค้านอย่างแข็งขัน ระบุแผนยกกิจการประปาฯหาดใหญ่ให้กลุ่มทุนเป็นเพียงโครงการนำร่อง ก่อนจะไปดำเนินการกับกิจการประปาฯสุราษฎร์ธานีและประปาฯชุมพร และจะมีตามมาอีกหลายสำนักงานในภูมิภาคต่างๆ เปิดคดีตัวอย่างผู้บริหาร กปภ.ทำผิดให้เอกชนฮุบกิจการจนศาลปกครองระยอง ต้องสั่งให้หยุดทั้งโครงการมาแล้ว
ระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่อาศัยการฮั้วกับระบบราชการ แล้วจ้องฮุบกิจการรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการ เพื่อเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคและแสวงหาผลกำไรใส่กระเป๋าตัวเองยังไม่สิ้นฤทธิ์ ล่าสุดการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมประเคน 3 กิจการของการประปาส่วนภูมิภาคในภาคใต้ให้กลุ่มธุรกิจเอกชน โดยการเตรียมว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปา ประกอบด้วย การประปาฯสุราษฎร์ธานี การประปาฯชุมพร และการประปาฯ หาดใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2552–2554 หรือรวมระยะเวลา 3 ปี
ผู้บริหาร กปภ.ซุ่มแจงดึงเอกชนทึ้งประปาหาดใหญ่
เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ณ สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค เขต 5 จังหวัดสงขลา นายมนตรี อารีรัตน์ รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) ได้เรียกพนักงานการประปาฯหาดใหญ่เข้าประชุมชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการให้เอกชนเข้าบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปา โดยมีพนักงาน กปภ.ในพื้นที่เข้าร่วมเพียงประมาณ 30 คนเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเรียกประชุมชี้แจงของผู้บริหาร กปภ.ครั้งนี้ไม่มีการแจ้งให้สื่อมวลชนทราบ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อประชาชนโดยตรงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่าในการประชุมชี้แจง มีตัวแทนของคณะกรรมการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา รวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ (สรส.สาขาหาดใหญ่) ที่ทราบข่าวได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายมนตรี อารีรัตน์ รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า เรื่องการจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปาของการประปาฯหาดใหญ่ สืบเนื่องจากการประปาได้ขออนุมัติในหลักการให้บริษัทเอกชนเข้าบริหารจัดการผลิตน้ำประปา เพื่อเป็นต้นทุนของการประปาฯ โดยการนำงานบริหารจัดการบางส่วนที่การประปาฯทำอยู่ให้ภาคเอกชน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการประปาทำเอง อีกทั้งการประปาฯมีบุคลากรที่จำกัด แต่ละปีสามารถเพิ่มบุคลากรได้เพียงปีละ 300-400 ตำแหน่งเท่านั้น แต่กลับมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย
“แนวทางดังกล่าว ถือเป็นการบริหารงานภายในองค์กรเท่านั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะเป็นเพียงการตัดเนื้องานบางส่วนจ้างเอกชนดำเนินการ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำกว่าที่ กปภ.ดำเนินการเอง และค่าจ้างที่จะให้แก่เอกชนก็ไม่ได้มากกว่าที่ กปภ.ต้องทำเองแน่นอน โดยจะเริ่มที่การประปาฯหาดใหญ่ก่อน จากนั้นเราจะขยายไปยังการประปาฯในที่อื่นๆ ในส่วนของบุคลากรของ กปภ.เดิมก็จะไม่มีการให้ออก แต่จะจะเกลี่ยไปทำงานอย่างอื่นแทน ซึ่งก็อยู่ที่การประเมินว่าทำแล้วดีไม่ดีอย่างไร ถ้าดีก็จะขยายต่อไปเรื่อยๆ” นายมนตรีกล่าว
ปธ.สร.กปภ.ยื่นหนังสือจี้ยุติโครงการ
ด้านนายธรรมรัตน์ รำขวัญ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคผ่าน นายมนตรี อารีรัตน์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการ 5 ต่อนโยบายดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาทบทวนยุติโครงการ ว่าจ้างเอกชนผลิตน้ำประปาการประปาฯหาดใหญ่ รวมถึงการประปาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
พร้อมกันนี้ นายธรรมรัตน์ ได้กล่าวถึงผลสรุปการประชุมร่วมระหว่าง สร.กปภ.กับพนักงานและลูกจ้างในสังกัดสำนักงานประปาฯหาดใหญ่ให้คณะผู้บริหารฟังด้วยว่า ผลการประชุมทุกฝ่ายเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าให้ยุติโครงการว่าจ้างเอกชนมาผลิตน้ำประปาของสำนักงานประปาฯหาดใหญ่ และสำนักงานประปาฯในพื้นที่อื่นๆ ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา กปภ.ได้ทำโครงการว่าจ้างและทำสัญญา เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการผลิตน้ำประปาและขายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคไปแล้ว ซึ่งตลอดโครงการที่ดำเนินการมาได้ส่งผลให้ กปภ.เสียหายไปแล้วกว่าแสนล้านบาท
นายธรรมรัตน์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น สร.กปภ.จึงขอให้ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาสั่งการยุติโครงการว่าจ้างเอกชนมาผลิตน้ำประปาของสำนักงานการประปาฯหาดใหญ่ เพื่อยุติปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะ สร.กปภ.ได้มีมติในที่ประชุมที่กองฝึกอบรมภูมิภาคเชียงใหม่ชัดเจนว่า สร.กปภ.จะคัดค้านและต่อสู้ทุกวิถีทาง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน การประปาส่วนภูมิภาค ประเทศชาติและประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
“เราขอยื่นคัดค้านการนำเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือจ้างเอกชนมาอ่านมิเตอร์น้ำ การเก็บเงิน หรือกิจการอื่นใดก็ตาม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งเราได้ปรึกษากับผู้บริหารและพนักงานแล้วว่า หากยังไม่ยุติโครงการดังกล่าว เราจะรวมพลังกันต่อต้านร่วมกับ สรส.ทั้งในส่วนกลางและในส่วนของสาขาหาดใหญ่จนถึงที่สุด” นายธรรมรัตน์กล่าว
ขณะที่ตัวแทนพนักงาน กปภ. ที่เข้าร่วมประชุมชี้แจงได้กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมา กปภ.ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด แต่ทุกคนในองค์กรก็พยายามประคับประคองตัวเองมาอย่างยากลำบาก ทว่าความผิดพลาดนี้ผู้บริหารกลับไม่เล็งเห็นที่จะแก้ไข หากเลือกวิธีการเลี่ยงการแปรรูปมาเป็นจ้างเอกชนทำในงานการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจของระบบการทำงาน เพื่อหวังหลีกเลี่ยงการต่อต้าน โดยอ้างว่าเป็นการทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งที่ที่ผ่านมามีบางแห่งมีการยัดเยียดจ้างเอกชนมาดำเนินการในระยะยาว 20-25 ปี และเห็นผลเสียแล้วว่า ทำให้องค์กรยิ่งประสบภาวะขาดทุนแล้ว แถมยังลิดรอนและตัดสิทธิ์พนักงานในองค์กรด้วย เพราะพนักงานเหล่านี้ไม่รู้เท่าทันเกมของผู้บริหาร
“ในนามของพนักงานเราจะไม่ยอมให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในกิจการของ กปภ.ไม่ว่าจะแฝงมาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะเรารับไม่ได้อีกแล้ว ที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการแบกรับการขาดทุนไว้ทั้งหมด แต่หากได้ผลประโยชน์กลับต้องแบ่งให้แก่ภาคเอกชน และผลกระทบยังเกิดขึ้นโดยตรงต่อประชาชนที่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะโครงการนี้สามารถขึ้นค่าน้ำประปาได้ตามดัชนีผู้บริโภค นั่นหมายถึงมีสิทธิ์ขึ้นค่าน้ำประปาได้ทุกปี แต่หากยังให้กิจการ กปภ.เป็นองค์กรของรัฐเพียงผู้เดียว 10 ปีก็ยังทำไม่ได้”
สรส.หาดใหญ่หวั่นเอกชนสูบเลือด ปชช.
ด้านนายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ กล่าวว่า สรส.สาขาหาดใหญ่มีนโยบายที่จะคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และในครั้งนี้ สร.กปภ.ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สรส.สาขาหาดใหญ่แล้วด้วย เพราะเล็งเห็นแล้วว่าการเข้ามาของเอกชนมีผลประโยชน์แอบแฝง อันจะทำให้ประชาชนและประเทศเสียผลประโยชน์ ทั้งค่าบริการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
“ดังนั้น สรส.สาขาหาดใหญ่ขอประกาศในที่นี้ว่า เรามีจุดยืนที่จะร่วมคัดค้านเอกชนผลิตน้ำของสำนักงานการประปาฯหาดใหญ่ ซึ่งเป็นกิจการที่หล่อเลี้ยงประชาชนทั่วเมืองหาดใหญ่ สงขลาและใกล้เคียง อันเป็นไปตามจุดยืนที่ประกาศไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า จะต้องทำให้รัฐวิสาหกกิจไทยต้องเป็นของประชาชนทุกคน” นายวิรุฬห์กล่าว
พธม.สงขลาจับตาแปลงสารสู่ประชาชน
นอกจากนี้แล้ว นายสุมิตร นวลมณี กรรมการฝ่ายปฏิบัติการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ของพันธมิตรฯสงขลา เป็นการเข้าร่วมในฐานะตัวแทนของภาคประชาชน และเราจะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อโครงการนี้ของ กปภ.ว่า ผู้บริหาร กปภ.กำลังดำเนินการอย่างไรกับการประปาฯหาดใหญ่ รวมถึงสำนักงานการประปาฯในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย ซึ่งก็หากเกี่ยวข้องกับพื้นที่ไหน เราก็จะประสานไปยังพันธมิตรฯ จังหวัดนั้นๆ ให้ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อไป
“โดยเฉพาะเบื้องหลังของโครงการนี้ ถือเป็นการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาจะครอบงำการบริหารจัดการแทนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหายอย่างไร ดังนั้น พันธมิตรฯสงขลาเราจะนำเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบ และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องด้วย” นายสุมิตรกล่าว
เปิดคดีตัวอย่างศาลสั่งเอกชนคืนประปาสู่ ปชช.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ผู้บริหาร กปภ.พยายามงุบงิบให้กลุ่มทุนเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ในกิจการของ กปภ. การดำเนินโครงการว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปา และขายให้แก่สำนักงานการประปาฯหาดใหญ่นี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมามี กปภ.เองเคยมีโครงการให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในระบบผลิตน้ำประปาและขายให้แก่ กปภ.มาแล้วรวม 11 โครงการ
ทั้งนี้ การเล่นแร่แปรธาตุของผู้บริหาร กปภ.เช่นนี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นใน จ.ระยองมาก่อนแล้ว ทำให้มีการรวมกลุ่มต่อต้านและฟ้องร้องบริษัทเอกชนต่อศาลปกครองระยอง ที่ผ่านมาศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนการคัดเลือกเอกชนให้ร่วมทุนผลิตน้ำประปาเพื่อขายให้แก่ กปภ.ในพื้นที่สำนักงานการประปาฯระยองไปแล้วด้วย โดยสัญญาดังกล่าวมีอายุ 25 ปี มีผลให้บริษัท ยูยู กรุ๊ป คอนซอร์เดียม ต้องหยุดดำเนินกิจการกับประปาฯระยองทันที
สำหรับรายละเอียดในคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายวิเชียร สุขเกิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร นายอาคม เจริญศึกษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านค่าย และนายสายัณห์ ยังดี ยื่นฟ้อง กปภ.ต่อศาลปกครองระยอง โดยมี กปภ.เป็นผู้ถูกห้องคดีที่ 1 และกลุ่มบริษัทยูยู กรุ๊ป คอนซอร์เดียม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 48/2549 คดีหมายเลขแดงที่ 31/2550 ของศาลปกครองระยอง
ต่อมาศาลปกครองระยองได้พิจารณาแล้วว่า กปภ.ดำเนินโครงการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เข้าร่วมผลิตน้ำประปาและจำหน่ายน้ำประปาของสำนักงานการประปาระยองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น การกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และขัดดต่อพระราชบัญญัติการประชาส่วนภูมิภาค พ.ศ.2522 ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 สัญญามีลักษณะที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดทำบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนใน จ.ระยอง