xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรไม่ฟันธงคงเงินกองสำรองฯยกเว้น-จ่ายภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ลูกจ้างสับสนข้อกฏหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สรรพากรไม่ฟันธง เกษียณอายุหรือออกจากงาน คงเงินเอาไว้โดยไม่ถอน ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีหรือไม่ ระบุเพียง "อาจยังคงได้รับสิทธิ" เท่านั้น ด้านสมาคมบลจ. ชี้ ลงทุนต่อช่วยลดความเสียหาย หลังวิกฤตการเงินโลก ฉุดราคาทรัพย์สินวูบ ขณะที่รายงานเงินลงทุนทั้งอุตสาหกรรมปีหนู ยังโตเพิ่ม 5.34% หรือคิดเป็นเงิน 2.35 หมื่นล้าน พบหุ้นขาดทุนกว่า 1.5 หมื่นล้าน แต่ได้หุ้นกู้-บอนด์ภาครัฐประคอง ด้าน"ทิสโก้" รั้งแชมป์เบอร์ 1

นางสาวอารยา ธีระโกเมน อุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันลดต่ำลง ซึ่งมีผลกระทบต่อสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ (พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 3)) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2551 ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่ออกจากงาน ไม่ว่าด้วยเหตุเปลี่ยนงานหรือเกษียณอายุ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ตามระยะเวลาที่ข้อบังคับของกองทุนนั้นๆ กำหนดไว้
ดังนั้น การคงเงินไว้ในกองทุนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งระหว่างที่สถานการณ์การลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่คลี่คลาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุได้ สมาคมจึงได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากรเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสมาชิกกองทุน ว่าหากลูกจ้างเกษียณอายุขอคงเงินไว้ในกองทุนและถอนเงินกองทุนออกในภายหลัง เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับจากกองทุนเพราะเหตุเกษียณอายุและได้รับยกเว้นภาษีนั้น ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเช่นเดิมหรือไม่
โดยล่าสุด กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือมายังสมาคมแล้ว โดยระบุว่า เงินกองทุนที่สมาชิกกองทุนได้รับเมื่อออกจากงานไม่ว่าจะเป็นกรณีของสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือกรณีสมาชิกกองทุนเกษียณอายุ อาจยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นที่เคยได้รับเช่นเดิม ยกเว้นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังนอกเหนือจากส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว จะต้องนำไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนต่อไปได้โดยไม่ต้องรีบถอนเงินออกจากกองทุนทันทีที่เกษียณ ซึ่งจะช่วยให้มีเวลาพักเงิน รอให้ภาวการณ์ลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนฟื้นตัวก่อน เพื่อให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับที่ดีขึ้นแล้วจึงค่อยถอนเงินออกไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงแม้การตีความจะเข้าใจได้ว่า ลูกจ้างที่คงเงินไว้ในกองทุนต่อ จะได้รับยกเว้นภาษีจากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากลูกจ้างเกษียณอายุหรือออกจากงานแล้ว แต่จากข้อความที่กรมสรรพากรตอบกลับมานั้น ใช้คำว่า "อาจยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นที่เคยได้รับเช่นเดิม" ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่าสร้างความสับสนให้กับลูกจ้างพอสมควร เนื่องจากการตีความดังกล่าวไม่มีการฟันธงที่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้ว หากคงเงินเอาไว้ในกองทุนต่อ จะต้องเสียภาษีหรือไม่
**กองทุนสำรองฯ ปีหนูโต5.34%**
ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายงานตัวเลขเงินลงทุนล่าสุดในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 465,296.44 ล้านบาท โดยตลอดช่วงปี 2551 ภาวะการลงทุนในตลาดจะไม่เอื้อมากนัก ทั้งในส่วนของตราสารทุนและตราสารหนี้ แต่ภาพรวมทั้งระบบก็มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 23,576.18 ล้านบาท จากช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 441,720.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 5.34%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพขยายตัวได้ เนื่องมาจากมีการส่งเงินสบทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสมาชิกกองทุนเก่าและสมาชิกกองทุนใหม่ ส่วนผลกระทบจากสินทรัพย์ที่ลดลงนั้น ในส่วนของเงินลงทุนในหุ้นสามัญลดลงประมาณ 15,855.24 ล้านบาท โดยมีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 34,594.24 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 50,449.48 ล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่เงินลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 7,683.81 ล้านบาท จาก 94,123.89 ล้านบาทในปีก่อนหน้านี้ เป็น 101,807.70 ล้านบาทในปี 2551 ส่วนเงินลงทุนใน เงินฝากธนาคาร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน และบัตรเงินฝาก ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเงินลงทุนล่าสุดอยู่ที่ 117,908.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,845.86 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 99,062.23 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการรายงานของบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด สามารถเบียดขึ้นมาครองแชมป์ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) เป็นอันดับ 1 แทนบลจ.ทหารไทย โดย 10 อันดับแรกที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุดประกอบด้วย อันดับ 1 บลจ. ทิสโก้ ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 68,526.02 ล้านบาท อันดับ 2 บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 61,426.62 ล้านบาท อันดับ 3. บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งพอร์ต 55,930.43 ล้านบาท อันดับ 4. ไทยพาณิชย์ กับเงินลงทุนรวม 54,020.24 ล้านบาท อันดับ 5. บลจ. กสิกรไทย มีจำนวนเงินลงทุนรวม 52,930.32 ล้านบาท อันดับ 6. บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำนวนเงินลงทุนรวม 51,662.02 ล้านบาท อันดับ 7. ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 41,282.78 ล้านบาท อันดับ 8. บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด 16,468.41 ล้านบาท อันดับ 9. บลจ. ฟินันซ่า กับจำนวนเงินลงทุน 12,970.19 ล้านบาท และอันดับ 10 บลจ. อยุธยา ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 10,719.17 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น