xs
xsm
sm
md
lg

กษิตถกUNHCRร่วมแก้โรฮิงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวภายหลังพบปะหารือกับ นายเรย์มินด์ ฮอลล์ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงภัยผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย และผู้ประสานงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นานกว่า 1 ชั่วโมง วานนี้ (29 ม.ค.) ว่า ได้มีหารือถึงการขอความร่วมมือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับชาวโรฮิงยา ใน 3 ระดับ คือ 1.การดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยกับยูเอ็นเอชซีอาร์ 2.การดำเนินการของไทยกับประเทศในภูมิภาค ทั้งประเทศต้นทาง ระหว่างทางและปลายทางของปัญหา และ 3.ความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคกับยูเอ็นเอชซีอาร์ และประเทศให้ความช่วยเหลือ
นายกษิต กล่าวว่า ในการพบปะกันครั้งนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องการทราบข้อมูล เพื่อตรวจสอบที่เป็นข่าวว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยได้ใช้หลักเกณฑ์ตามหลักมนุษยธรรมของกฎหมายทางทะเล ทั้งการผลักดัน ต้อนรับและดูแลผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างไร รวมถึงยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องการเข้าพบ ชาวโรฮิงยาที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานไทย ซึ่งตนได้ตอบรับตามหลักการแล้ว ส่วนจะพบกับชาวโรฮิงยาอย่างไร จะมีการหารือในที่ประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงของประเทศ (กอ.รมน.) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในช่วงบ่ายวันนี้ (29 ม.ค.) เพื่อยูเอ็นเอชซีอาร์จะได้ส่งผู้แทนไปเยี่ยมและพูดคุยชาวโรฮิงยา ที่อยู่ภายใต้การดูแล ของหน่วยงานความมั่นคง
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ประจำนครเจนีวา ได้หารือกับทางสหประชาชาติ เพื่อให้มีการประสานในการระดมงบประมาณช่วยเหลือชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพม่า และติดค้างในบังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย
นายกษิต กล่าวด้วยว่าในการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรี ในเดือน ก.พ.นี้ ตนได้เตรียมหยิบยกประเด็นนี้เข้าหารือ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในเดือนก.ค.นี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงในที่ประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือ หลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMST-EC) เนื่องจากพบว่า มีขบวนการค้ามนุษย์ขนย้ายชาวโรฮิงยาไปทำงานในไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ผมขอยืนยันว่า ไทยเป็นประเทศสมาชิกของยูเอ็นมานาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกันกับยูเอ็นเอชซีอาร์ และองค์การการค้ามนุษย์ (ไอโอเอ็ม) ทั้งนี้เรามีแผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive plan of action) เพื่อแก้ไขปัญหาชาวเวียดนามอพยพเข้าไทยทางเรือ เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งอาจจะนำแผนดังกล่าวมาปรับใช้ในกรณีโรฮิงยา โดยไม่เห็นว่ามีปัญหาจะร่วมมือกันไม่ได้ เพียงแต่ต้องพิจารณาถึงกฎหมายของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยขอย้ำว่า ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ในการเข้าดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของชาวโรฮิงญ่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญ่าจะทำอย่างไร นายกษิต กล่าวว่าจะมีหารือพูดคุยกับรัฐบาลพม่าในกรอบต่างๆ โดยทราบว่า ทางพม่าก็มีการหารือกับยูเอ็นเอชซีอาร์อย่าง เงียบๆ จึงไม่มีเหตุที่ต้องไปประณามหรือพูดจาว่าพม่าในเชิงลบ
วันเดียวกัน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และคณะ เดินทางไปยังโรงพยาบาลระนองเพื่อสอบถามข้อมูลและตรวจบาดแผลของชาย ชาวโรฮิงยา ที่พักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่ตึกศัลยกรรมชาย ซึ่งถูกระบุว่าถูกทหารพม่า ทุบตี จำนวน 4 คน คือ นายมามัดฟาตี อายุ 35 ปี, นายมามัดจอคิด อายุ 24 ปี, นายโซตมีน อายุ 20 ปี และนายนูลูโกบี อายุ 25 ปี เนื่องจากทั้ง 4 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสมีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง และอักเสพรุนแรง
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และกองทัพ มอบหมายให้มาประเมินว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ซึ่งจากการตรวจบาดแผลผู้ที่บาดเจ็บ มีทั้งหมด 66 คน และสอบถามผ่านล่ามให้การตรงกันว่า ทั้งหมดถูกทหารพม่าทำร้ายตีด้วยแส้ บางคนแผลลึกมาก และอักเสบ บางคนถูกความร้อนโดยการใช้ผ้าชุบน้ำมัน แล้วใช้จี้ ซึ่งบาดแผลมีมาแล้วกว่า 10 วัน มี 4 คน บาดเจ็บรุนแรง ซึ่งต้องรักษาจนกว่าบาดแผลจะหาย
ซึ่งหลังจากทั้งหมดพ้นช่วงเวลาคุมขังแล้วจะยังไม่ส่งตัวกลับประเทศทันที ต้องดูแลรักษาจนกว่าจะหายดีทุกคน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการมายังด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่าตนยังได้ลงพื้นที่ไปยังเกาะทรายแดงที่ถูกระบุว่า เป็นสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงยาก่อนถูกผลักดันทางเรือออกนอกประเทศ ซึ่งก็ไม่พบ ร่องรอยอะไรที่บ่งบอกว่าทหารไทยใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญา พบเพียงอาหารและน้ำดื่มเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ไปดูเรือที่ชาวโรฮิงยา ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางอพยพ พบว่าถูกทำลายทิ้งโดยชาวโรฮิงยาเอง เพระไม่อยากเดินทางต่อไปไหนอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น