ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมคณะ ชื่นชมสารวัตรตำรวจน้ำบ้านนอก บริหารจัดการแบบพอเพียง ชาวบ้าน ข้าราชการ และครอบครัวเห็นใจร่วมบริจาคต่อเรือประจำถิ่น “หัวโทง” ติดเครื่องท้าย แฝงตัวออกตรวจการณ์ ลาดตระเวน จับผู้กระทำความผิดกฎหมายทางทะเลได้อย่างนุ่มนวล
วันนื้ (6 มี.ค.) ขณะที่ พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฎิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะแล เขต 1 (ผอ.ศรชล.เขต 1) และผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) พล.ร.ต.วรศักดิ์ จันหนู รองผู้อำนวยการ พล.ร.ต.นพดล สุธัมมสภา รองผู้อำนวยการ พล.ร.ต.ทวีป สุขพินิจ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม และรับทราบปัญหาข้อขัดข้องของ สถานีตำรวจน้ำ 6 กองกำกับการ 4 (ส.กก.4 บก.รน.) ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี พ.ต.ท. มานพ มีแสง สารวัตร หัวหน้าสถานี สว.(หน.) ส.รน.6 กก.4 บก.รน.)พร้อมข้าราชการในสังกัดให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุป โครงสร้างของสถานี กำลังพล และที่ตั้งหน่วยซึ่งต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง
พ.ต.ท.มานพ มีแสง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสถานที่ตั้งสถานีตำรวจน้ำ ได้อาศัยพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน สำหรับอุปสรรคในการปฎิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็คือ เรือตรวจการณ์ กำลังพลไม่เพียงพอกับความต้องการ งบประมาณที่ได้มามี จำนวนน้อย ไม่สามารถปฏิบัติงานตรวจและจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายในทะเลได้เท่าที่ควร ข้าราชการยังไม่ได้รับสิทธิกำลังพลเท่าที่ควร แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะรับใช้ทางราชการ ทุ่มเทการทำงานอย่างสุดความสามารถ ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมข้าราชการให้เจนกับเรือ และเจนกับทะเลให้มากที่สุด เพราะข้าราชการที่บรรจุเข้ามาให้ตำรวจน้ำ ไม่ได้มาจากทหารเรือ แต่มาจากตำรวจสายต่างๆ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจกับทะเล การบำรุงรักษาเรือ ทั้งหมดต้องมาเริ่มต้นใหม่
ด้วยภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จึงต้องปรับแผนการบริหารจัดการในเรื่องของการออกตรวจการณ์ในพื้นที่ การจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายในทะเล และอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลปิดอ่าว ในระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม ของทุกปีจะต้องสนับสนุน ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลภาคใต้ตอนบน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานอื่นๆ ในการดูแล ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ช่วยผู้ประสบภัยในทะเล รักษาความปลอดภัย ในสถานภาพที่งบประมาณมีน้อย จึงได้มีแนวคิดในการจัดหาเรือประมงขนาดเล็ก หรือเรือตำรวจน้ำจิ๋ว มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งโชคดีข้าราชการ ครอบครัว ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันบริจาคเงินต่อ “เรือหัวโทง” ไม้ตะเคียน ความยาว 6 เมตร เครื่องยนต์ติดท้าย (ฮอนด้า 6 แรงครึ่ง) สามารถตรวจการณ์ในระดับน้ำตื้นชายฝั่ง แฝงตัวเข้าไปหาข่าวในกลุ่มเรือท้องถิ่น ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำความผิดในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตใหม่สำหรับแนวทางการปฎิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ถือว่า พ.ต.ท.มานพ มีแสง เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับข้าราชการทั่วไป ที่ไม่ท้อแท้ ไม่หยุดนิ่ง ไม่เบื่อหน่ายต่อภารกิจที่มีขีดจำกัดด้วยงบประมาณ มีความเป็นอยู่ บริหารจัดการแบบพอเพียง พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันเอง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย