xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายเลือดแก๊งข้าราชการถ้าผิดรัฐบาลต้องกล้าฟัน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาษิตจีนที่ว่า “คิดจะบินสูง ต้องมีลมใต้ปีก”
นักการเมือง และข้าราชการประจำ ผู้หวังพานพบความสำเร็จทั้งเกียรติประวัติ หน้าที่การงาน ทรัพย์สินเงินทอง ต้องยึดเป็นคตินี้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
ผู้จะไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต จะต้องมีพรรคพวก เพื่อนพ้อง เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อเกื้อหนุนกันเสมือนลมใต้ปีก

แต่ต้องยอมรับสภาพหาก“เลือกฝั่งผิด”

โดยเฉพาะ“ข้าราชการ”ที่เติบโตได้ดิบได้ดีจนไปถึงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร เพราะเดินข้ามเส้นแบ่งของคำว่า “ข้าราชการผู้วางตัวเป็นกลาง”
ข้าราชการผู้นั้นก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เช่นกันว่า ยามเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว อำนาจเปลี่ยนมือ เขาก็ต้องยอมรับสภาพ
“ปลด-ปรับ-เปลี่ยน” แบบย้ายล้างบาง จนทำให้หลุดจากตำแหน่งแบบไม่ทันตั้งตัว
ปรากฏการณ์ “เด้งฟ้าผ่า-ปลดจากเก้าอี้” จึงย่อมเกิดขึ้น
ดังนั้นกรณีเด้งฟ้าผ่า พีรพล ไตรทศาวิทย์ จากเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมิใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย
เมื่อเส้นทางของพีรพลที่เติบโตแบบก้าวกระโดดพรวดๆในชีวิตนักปกครอง ถูกมองว่าได้แรงหนุนจากซีกการเมืองในขั้วอำนาจ ไทยรักไทย-พลังประชาชน จึงย่อมทำให้ต้องยอมรับสัจธรรม เมื่อประชาธิปัตย์ ขึ้นมาครองอำนาจ มีหรือจะปล่อยให้เก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย อันทรงอำนาจเป็นคนของ
“ศัตรูการเมือง”
แล้วไฉนจึงต้องรอช้า การปลดพีรพล จึงมิใช่เรื่องผิดความคาดหมายใดๆ เพราะการเมือง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่ามันเป็นเรื่องแบบ
ที ฮู ที อิท-ทีใครทีมัน!
แต่สิ่งที่เรา-ทีมข่าวการเมือง… ขอเตือนรัฐบาลและเสนาบดีทุกกระทรวงที่กำลังคิดจะวางแผนปรับเปลี่ยน โยกย้าย ข้าราชการ–ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ-บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ต้องพึงสังวรณ์ไว้ก็คือ
ต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล-ความเป็นธรรมในการพิจารณา
อย่าได้ใช้โอกาสนี้ กลั่นแกล้ง รังแกข้าราชการประจำที่ตั้งใจทำงาน และอย่าได้แม้แต่จะคิดนำพวกพ้องคนของตัวเองมาไว้ในตำแหน่งแทน เพื่อหวังจะใช้เป็นกลไกในการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีผู้เสนอแต่งตั้ง
เพราะมิฉะนั้น รัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะเข้าไปสะสาง-ชำระล้างความไม่ถูกต้องในวงการราชการที่ฝังรากไว้ตั้งแต่สมัยระบอบทักษิณ
เพราะหากข้าราชการหรือหน่วยงานราชการแห่งไหนที่มีการบริหารงาน หรือปกครองโดยผิดหลักคุณธรรม สร้างความเสียหายต่อระบบราช เช่น การนำคนของตัวเองหรือเพื่อนร่วมรุ่น คนสนิทคนไว้ใจไปสร้างฐานอำนาจไว้ในหน่วยราชการ และให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวบิดเบือนอำนาจ ใช้กฎหมายที่ตัวเองถือครองอยู่ เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้มีพระคุณ
แต่ขณะเดียวกัน ก็กลั่นแกล้งทำลายฝ่ายตรงข้าม ด้วยวิธีการสกปรก หรือเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
ซึ่งเห็นได้จากกรณีการสร้าง”รัฐตำรวจ” ขึ้นในหลายหน่วยงานในยุคระบอบทักษิณ เช่น หน่วยงานที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่าง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ “ดีเอสไอ”
อันเห็นได้ชัดว่า“ดีเอสไอ” ในยุครัฐบาลไทยรักไทย-พลังประชาชน ได้ทำให้หน่วยงานแห่งนี้กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” จนสังคมไม่เชื่อถือ และเสียดายวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กรดีเอสไอจากเดิมที่หวังว่าจะให้มาเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุล “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” และสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ต้องการความรวดเร็ว ความเชี่ยวชาญของฝ่ายปฏิบัติงาน
แต่ปรากฏว่า ดีเอสไอ เวลานี้ในสายตาสังคมภายนอก ถูกขนานนามให้เป็น “กรมตำรวจการเมือง”ไปเสียแล้ว
หากรัฐบาลและบุคคลผู้มีอำนาจตัดสินใจ ทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษ และ พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเห็นถึงปัญหาข้อนี้ดี
สังคมก็ต้องการให้ถอนรากถอนโคน ทำลายล้างรัฐตำรวจในดีเอสไอ
และตรวจสอบเงื่อนงำความไม่โปร่งใสต่างๆ ที่ดีเอสไอทำไว้ก่อนหน้านี้หลายต่อหลายเรื่อง อาทิ กรณีการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซี เอสเสทฯ
หรือการเตะถ่วงไม่เร่งรัดในคดีสำคัญๆ อย่างคดีการหายตัวไปของ สมชาย นีละไพจิตร บนความสงสัยของสังคมว่า สาเหตุที่ล่าช้า หรือจะเป็นเพราะรูปคดีเกี่ยวพันกับนายตำรวจใหญ่ ทั้งที่เกษียณแล้ว และยังรับราชการอยู่ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเก่าของผู้บริหารระดับสูงหลายคนในดีเอสไอ อย่างเช่น
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ
ตลอดจนหลายต่อหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า การใช้อำนาจดีเอสไอ มิได้เป็นไปตามเจตนาที่แท้จริงของการตั้งหน่วยงานแห่งนี้ เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาหลายต่อหลายปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกและมิควรชักช้าที่จะต้อง
“ผ่าตัดใหญ่ดีเอสไอ”โดยเร็วที่สุด
โดยมิใช่แค่การ ”เปลี่ยนหัว” เพียงเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อสร้างองค์กรดีเอสไอให้กลับมาเป็นที่เชื่อถือของสังคม และเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรม อันเป็นที่พึ่งที่หวังได้ของสังคม
นอกจากประเด็นที่เรา-ทีมข่าวการเมือง สนับสนุนให้รัฐบาลกล้าตัดสินใจใช้ความเด็ดขาดในการเด็ดหัวบิ๊กข้าราชการเพื่อทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว
เราเห็นด้วยว่า บางองค์กรหากผู้นำมีข้อเคลือบแคลงแบบ “ก้ำกึ่งในข้อกฎหมายกับหลักการบริหาร” ก็ควรที่รัฐบาล รัฐมนตรีต้องกล้าตัดสินใจเพื่อสร้างบรรทัดฐานการบริหาราชการที่ดี
อย่างกรณีของ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง
ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร มีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีการแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปี 2545
แถมก่อนหน้านี้ยังถูกยื่นฟ้องต่อศาลฏีกาฯ เป็นจำเลยในคดีทุจริตการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ตัว 3 ตัว ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกาตอนนี้
กรณีถูกป.ป.ช. เอาผิดด้วยข้อหาฉกรรจ์เช่นนี้ แม้กระบวนการในข้อกฎหมายยังไม่สิ้นสุดต่อสถานะของศุภรัตน์
ทว่า กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ต้องตัดสินใจว่า จะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการของกระทรวงการคลังหรือไม่ เมื่อศุภรัตน์ ที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดรุนแรงเช่นนี้
หรือว่า กรณ์ จะเล่นยื้อแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็อาจจะกอดคอตายไปกับศุภรัตน์ ก็ได้ใครจะไปรู้
เมื่อสำรวจดู “กลุ่มเสี่ยง”ในวงการข้าราชการตอนนี้แล้ว ก็พบว่ายังมีอีกหลายคน ที่ถูกมองว่าใกล้ชิดขั้วอำนาจเก่า หรือขึ้นมาได้เพราะการเมืองล้วนๆ เช่น
เผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ที่ร่วมทำคลอดสถานีเอ็นบีทีมากับมือ ในยุคที่ จักรภพ เพ็ญแข คุมกรมประชาสัมพันธ์ และดันเผชิญมาเป็นอธิบดี เสียบแทน ปราโมช รัฐวินิจ ที่ถูกย้ายในวันซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับถึงประเทศไทยวันแรกหลังจากหายไปตั้งแต่ 19 ก.ย.49
ต้องถามดังๆไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จะกล้าใช้อำนาจ เด็ดปีกหนึ่งในแก๊งข้าราชการในระบอบทักษิณ คนนี้หรือไม่
ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีการล้างบางข้าราชการในหน่วยงานเกิดขึ้นบ้างต่อจากนี้
เราขอบอกว่าหากรัฐบาล-รัฐมนตรี ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร มีเหตุผล และยึดหลักความเหมาะสม เป็นธรรม ที่อธิบายต่อข้าราชการในหน่วยงานและสังคมได้
หากเป็นการปรับเปลี่ยนที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น กลไกการทำงานของราชการดีขึ้นจากเดิม ปัญหาหมักหมมต่างๆเช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน ถูกแก้ไข
ก็มิควรรอช้าที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยน เพราะหากไม่ทำนั่นสิ จะถือว่า รัฐบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
กำลังโหลดความคิดเห็น