xs
xsm
sm
md
lg

ดักฟังโทรศัพท์!สัญญาณเด้งบิ๊กดีเอสไอ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"การแยกกระทรวงยุติธรรมออกจากศาล ตนได้เสนอด้วยตัวเอง รวมทั้งการเสนอตั้งดีเอสไอ เมื่อปี 2535 สมัยนายกฯ นายชวน หลีกภัย และนายไสว พัฒโน เป็นประธานปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หลังเกิดอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์ เพื่อถ่วงดุลอำนาจของตำรวจ ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายยังไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ตั้งดีเอสไอ วันนี้คนเสนอกฎหมายและคนใช้จะเป็นคนเดียวกัน ดีเอสไอจะไม่ใช่ตำรวจ 2 และยังไม่ย้ายอธิบดีดีเอสไอ ต้องให้โอกาส การทำงานต้องไม่มองว่าเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ให้ดูพฤติการณ์ความผิด พยานหลักฐาน อธิบดีดีเอสไอ ต้องยึดหลักนี้ เขียนหลักปฎิบัติให้ชัดเจน ไม่ให้มีการแทรกแซง ถ้าปล่อยให้ดีเอสไอ เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 จะทำให้มีอำนาจไปใช้กับประชาชนถึง 2 เท่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ต้องสำนึกและมีคุณธรรมในการค้านอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

นั่นคือคำพูดของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้พูดถึง ดีเอสไอ ในโอกาสเดินทางเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551

ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2552 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการทาบทาม นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าไม่ทราบว่าข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาจากที่ไหน แต่ยอมรับว่าได้โทรศัพท์ทาบทามนายนาม ยิ้มแย้ม มาเป็นคณะทำงาน ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี

“ผมอยากบอกว่า นี่เป็นเพียงความพยายามของผมที่จะทดสอบว่าการสื่อสารทางโทรศัพท์ของผม และผมเชื่อว่ามีการฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์ของผม แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนดักฟัง สิ่งนี้เป็นการทดสอบของผม และเผอิญเรื่องที่ผมพูดคงเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เลยนำไปโยงกัน ผมทดลองการดักฟังโทรศัพท์มาตั้งแต่ผมรับตำแหน่ง ที่ผ่านมามันคงไม่ประทับใจแต่เรื่องนี้ประทับใจเลยปล่อยออกมา”

โดยที่ รมว.ยุติธรรม ระบุว่า ใครอยากฟังก็ทำไป และคงไม่ต้องสืบอะไรมาก เพราะรู้กันอยู่ว่ามันมีกี่แห่งที่มีอุปกรณ์เครื่องมือแบบนี้และสามารถดักฟังได้

ถัดมาเพียง 1 วัน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงกับนั่งไม่ติด ได้ออกมาปฎิเสธว่า แม้ดีเอสไอจะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีเครื่องมือในการดักฟังทางโทรศัพท์ แต่ดีเอสไอมีระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการใช้งาน พร้อมแจงขั้นตอนวิธีการใช้เครื่องละเอียดหยิบ พร้อมยืนยันว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมาไม่มีการใช้เครื่องมือดักฟังอย่างแน่นอน

“ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 1 ปี ยืนยันว่าไม่มีการใช้เครื่องมือไปดักฟังใคร ที่ผ่านมาเครื่องมือจะถูกใช้ในเรื่องความมั่นคงทางภาคใต้ และคดีเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ส่วนคดีทั่วไปดีเอสไอ จะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ปกติดีเอสไอจะไม่นำเรื่องเครื่องดักฟังมาพูดกับสื่อมวลชนเพราะเป็นความลับในงานสืบสวนสอบสวน ผมเคยเป็นตำรวจมาก่อนรู้บทเรียนในการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างดี หลายคดีแม้มีความตั้งใจให้งานสำเร็จ แต่ไม่ควรเลือกใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ตั้งแต่รับตำแหน่งก็พยามยามให้ความสำคัญกับการรวบรวมพยานหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมาย”

จากปมดักฟังโทรศัพท์...จะนำไปสู่การโยกย้ายใน ดีเอสไอ หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในห้วง 1 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างผลงานอะไรไว้บ้าง ทำคดีความเพื่อประโยชน์ของชาติ หรือ ประโยชน์ของใคร ถือว่า ผลงานในอดีต จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า เขาคือคนของใคร และเมื่อย้อนกับไปตรวจการบ้านดีเอสไอ ถือว่า มีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง....

เริ่มจากคดีจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของ กทม.ซึ่งข้อตกลงสัญญาซื้อขายทำกันในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. และผู้รับผิดชอบสำนวนคดีคือ "พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย" ซึ่งเป็น ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษในขณะนั้น ได้มีการเชิญ"นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน"เข้าให้ปากคำและรับทราบข้อกล่าวหาความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในครั้งนั้น นายอภิรักษ์ ให้ปากคำถึงเรื่องดังกล่าวว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดการจัดซื้อ อีกทั้งยังนำเรื่องหารือกับพรรค ปชป. แต่หลังจากนั้น นายอภิรักษ์ ให้ความเห็นว่าไม่มีอำนาจในการดำเนินการ และเป็นอำนาจของ"นายโภคิน พลกุล" อดีตรมว.มหาดไทย และเปิดเผยว่าจำเป็นต้องเร่งรัดให้เปิดแอล/ซี และแก้ไข แอล/ซีแก่บริษัท สไตเออร์ ทำให้ข้อตกลงสมัยนายสมัคร มีผลผูกพัน และเมื่อดีเอสไอ สรุปสำนวนว่านายอภิรักษ์ มีมูลความผิดส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)และปปช.เองก็ชี้มูลความผิดกับนายอภิรักษ์ ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงโดยให้เหตุผลว่านายอภิรักษ์ทราบข้อเท็จจริงว่ามีข้อบกพร่อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับอ้างว่า ไม่มีอำนาจในการดำเนินการ

คดีการขายสินทรัพย์โดยมิชอบของ กองทุนปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่เรื่องเกิดขึ้นในสมัยที่"นายชวน หลีกภัย" เป็นนายกรัฐมนตรี ปชป.เป็นรัฐบาล ซึ่งคดีนี้ดีเอสไอ สรุปสำนวนส่งฟ้อง "นายอมเรศ ศิลาอ่อน" อดีตประธานคณะกรรมการ ปรส., นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการ ปรส.กับพวกรวม 7 ราย ในความผิดฐานร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือให้บริษัท เลแมนบราเดอร์ โฮลดิ้ง อิงค์ ชนะการประมูลโดยไม่ต้องทำสัญญาประมูลสินเชื่อ จากนั้น ปรส.กลับไปทำสัญญาให้กับกองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เข้าประมูลตามกฎหมาย แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษี โดยกองทุนดังกล่าวเป็นของบริษัท เลแมนบราเดอร์ฯ ซึ่งเท่ากับว่าการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อช่วยเหลือให้บริษัท เลแมนบราเดอร์ฯ ไม่ต้องมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

นอกจากนี้ดีเอสไอยังส่งสำนวนชี้มูลความผิด"นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมนตรี เจนวิทย์การ รักษาการเลขาธิการ ปรส.ขณะนั้น รวมถึงคณะกรรมการ ปรส.ให้กับ ปปช.แม้คดีนี้บริษัทเลแมนบราเดอร์ ฯ ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทที่ดีเอสไอ ส่งฟ้องฐานสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะล้มละลายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ดีเอสไอ ยังจัดประชุมลูกหนี้ของคดีนี้อยู่ ขึ้นอยู่กับว่า ปปช.จะชี้มูลและดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนคดีที่คนจากขั้วอำนาจเก่าโดยเฉพาะ"นายใหญ่และนายหญิง"มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสแสท จำกัด (มหาชน)นั้นเห็นได้ชัดเจนว่าการทำสำนวนคดีนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็วแม้การทำสำนวนจะอยู่ในช่วงที่ พ.ต.อ.ทวี เป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งในครั้งนั้นดีเอสไอ มีความเห็นสั่งฟ้องทั้งนายใหญ่และนายหญิงพร้อมเครือญาติ แต่เมื่อสำนวนถึงมืออัยการ ก็มีการให้สั่งให้ดีเอสไอ กลับมาสอบปากคำพยานเพิ่มถึง 6 ปากและขอเอกสารจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในส่วนของเอกสารดีเอสไอ ยอมรับว่าล่าช้าเพราะต้องขอให้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นตัวประสานขอ แต่ในที่สุดคดีนี้อัยการก็สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดด้วยเหตุผลผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์แสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดสาระสำคัญการถือครองซื้อขายหุ้น และไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องรายงานการซื้อขายหุ้นต่อ ก.ล.ต.เพราะมอบหมายให้กองทุนทำหน้าที่ให้ ซึ่งเมื่ออัยการมีความเห็นไม่ฟ้อง ดีเอสไอ สามารถมีความเห็นแย้งได้ แต่กลับเป็นว่าดีเอสไอ เองก็มีความเห็นพ้องไปกับอัยการโดยไม่ได้บอกกถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงความเห็นที่ชัดเจน

ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ยังมีกรณีเงินสินบนอุโมงระบายน้ำของ กทม.ซึ่งสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นออกข่าวจ่ายสินบนให้"นายสมัคร สุนทรเวช" สมัยเป็นผู้ว่าฯกทม.ในโครงการก่อสร้างอุโมงท่อระบายน้ำ แต่คดีนี้ดูจะเงียบไปเพราะเป็นคดีที่ดีเอสไอ เพียงแค่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามแต่ไม่ได้เป็นการสืบสวนสอบสวน ที่แม้จะเป็นคดีฮั้วประมูลแต่คดีเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษมีผลบังคับใช้ แต่จนถึงทุกวันนี้เรื่องก็เงียบหายไปพร้อมกับการหลุดพ้นตำแหน่งนายกฯของนายสมัคร

อีกคดีที่ดูเหมือนเป็นคดีทั่วไปไม่น่าจะมีอะไร คือคดี"การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะ"ตามโรงเรียนต่างๆ เพราะก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินสนับสนุนให้กับทางโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนอยู่แล้วแต่การจงใจเจาะจงไปที่โรงเรียนโยธินบูรณะ อาจเป็นการตีกระทบชิ่ง"คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณอยุธยา" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากจะดูในเบื้องลึกแล้ว ผอ.โรงเรียนโยธินบูรณะคนก่อนที่กำลังถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้มีความใกล้ชิดกับคุณหญิงกษมานั้นเอง

ส่วนนับจากนี้ไป "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" จะสามารถครองเก้าอี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่อไปได้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป
 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
กำลังโหลดความคิดเห็น