มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งชี้มูลความผิดร้ายแรงกับข้าราชระดับสูง 4-5 ราย อันประกอบด้วย คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ในฐานะอดีตเลขาธิการ ก.พ. สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง สมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ทำผิดขณะเป็นอธิบดีกรมสรรพากร รวมทั้งข้าราชการระดับบิ๊กในสำนักงาน ก.พ.อีกสองคน
สรุปแบบรวบรัดก็คือ ข้าราชการดังกล่าวร่วมกันทำผิดในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการระดับซี 9 ของกรมสรรพากร (รองอธิบดี) ซึ่งมีทั้งจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แก้ไขมติครม.เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และบางคนนอกจากผิดวินัยร้ายแรงแล้ว ยังมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ด้วย ต้องถูกลงโทษทางอาญาตาม มาตรา 157
อาจต้องติดคุกติดตะราง ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ เหมือนได้รับโทษประหาร
หลายคนรู้สึกช็อกไม่น้อยที่ข้าราชการระดับสูง ไต่เต้ามาจนถึงระดับปลัดกระทรวง ระดับอธิบดี แต่กลับต้องมาพบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาอีกมุมหนึ่งต้องมองย้อนกลับไปขณะที่คนเหล่านี้กำลังกระทำความผิดมาประกอบกันไปด้วย ว่ามีมูลเหตุจูงใจอะไรถึงกล้าตัดสินใจกระทำลงไปแบบนั้น
เป็นเพราะมีความมั่นใจในอำนาจหนุนหลังหรือไม่ หรือคิดไปไกลว่า อำนาจที่อยู่ค้ำฟ้า
ถ้าแกะรอยก็จะเห็นร่องรอยความแนบแน่น มีความเชื่อมโยงเกื้อหนุนกันมากับฝ่ายการเมืองตลอดเวลา
บางคนหากไม่พูดให้เกินเลยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเติบโตมาถึงจุดสูงสุดหรือก้าวกระโดดขึ้นมาก็มาจากการรับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างสุดลิ่ม
แล้วถ้าไล่เรียงรายชื่อก็จะพบว่ามีความแนบแน่นอยู่กับ “ระบอบทักษิณ” ล้วนเป็นมือเป็นไม้ในกรมสรรพากร เกี่ยวพันกับเรื่องระบบภาษี จนสร้างรอยด่างในกระทรวงการคลังยุคนั้น
หลายคนอาจโต้แย้งว่าการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะต้องทำตามแรงบีบของฝ่ายการเมือง ที่ในยุคนั้นถือว่า เป็นช่วงที่ “ระบอบทักษิณ” กำลังมีอำนาจเหลือล้น เป็นใครก็ไม่มีทางขัดขืนได้ เพราะต้องเสี่ยงต่อการถูกปลด ถูกกลั่นแกล้งต่างๆนานา มีบทเรียนให้เห็นมาหลายราย
แต่ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งถ้าพิจารณาในแง่ของศักดิ์ศรีของความเป็น “ข้าราชการ” กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจอธรรม ไม่ยอมลู่ไปกับกระแสการเมือง แม้จะถูกแรงกดดัน ก็ย่อมมีช่องทางในการทวงถามความยุติธรรมอย่างแน่นอน
เหมือนกับกรณีดังกล่าวที่มีข้าราชการในกรมสรรพากรคนหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องมิชอบ ร้องศาลปกครองจนมีคำพิพากษาให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่งตั้งใหม่ แล้วนำไปสู่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ตามมาในที่สุด
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนอีกว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังเริ่มทำงานอย่างได้ผล และเริ่มสะสางความไม่ชอบมาพากล ความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างสมเอาไว้ในบ้านเมืองมานานกว่า 6-7 ปี
และนี่คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย เพราะยังมีอีกหลายคดีที่กำลังรอปัดเป่าคลี่คลายในอีกไม่นาน
ขณะเดียวกันหากพิจารณาในมุมของรัฐบาลในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มักอ้างในเรื่องหลักการ ก็ถือเป็นทางสะดวก ฉวยจังหวะในการสลาย “เครือข่ายอำนาจเก่า” ลงไปเรื่อยๆ แล้วจัดระเบียบใหม่ อาศัยกระบวนการยุติธรรมนำทาง โดยไม่มีข้อครหามากนัก
เห็นได้ชัดว่าไม่มีท่าทีปกป้อง ยึดถือระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาอีก
ที่สำคัญเมื่อตัวเองกุมอำนาจรัฐก็สามารถอำนวยความสะดวกให้คดีที่ยังค้างคาเดินไปข้างหน้ารวดเร็ว ไม่ต้องสะดุดเหมือนที่ผ่านมา ได้กำไรสองต่อ
แต่สำหรับข้าราชการทั่วไปแล้วถือว่าการชี้มูลความผิดระดับบิ๊กดังกล่าว เป็นอุทาหรณ์สอนใจ และน่าจะทำให้การรับใช้อำนาจการเมืองโดยมิชอบมีแนวโน้มเบาบางลงไป
ขณะเดียวกันยังเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นอีกว่าหลักการในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์จะทำได้อย่างที่ประกาศเอาไว้ได้แค่ไหน
อีกไม่นานก็คงเห็นชัดเจน !!