xs
xsm
sm
md
lg

ผวาส่งออกหั่นจีดีพีต่ำ2%ธปท.อุ้มแบงก์"ถ่างสเปรด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติหั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 0-2% เหตุรายได้การส่งออกน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ การบริโภคการลงทุนในประเทศแผ่ว แม้ภาครัฐใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายลง แต่ยังใจชื้นยังไม่ถึงขั้นภาวะถอดถอย ย้ำการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจไทย ประเมินกรณีเลวร้ายสุดคือหากเศรษฐกิจโลกติดลบ 1% ทำให้อัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการส่งออกไทยติดลบถึง 5.5% รองผู้ว่าฯ ธปท.ค้านรัฐแจกเงิน 2 พันต่อหัว พร้อมอุ้มแบงก์ถ่างสเปรด

น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2552 ใหม่ที่ระดับ 0-2% จากการประมาณการเมื่อครั้งประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ 0.5-2.5% ขณะที่การประเมินอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ 3.8-5% และคาดว่าปี 53 จะขยายตัว 2-4% โดยเกิดจากแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ชะลอตัวค่อนข้าง แม้ในเบื้องต้นประเมินว่าทั้งปี 51 ขยายตัว 3.6% นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ทำให้การส่งออกไทยลดลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังบริโภคและการลงทุนด้วย แม้ธปท.และภาครัฐได้ผ่อนคลายนโยบายลง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ
“ธปท.เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมั่นใจว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้จะโตกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะติดลบ ซึ่งธปท.ได้นิยามเศรษฐกิจถดถอย คือ จีดีพีเมื่อเทียบไตรมาสก่อนติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยอมรับว่าถ้าเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนจีดีพีมีโอกาสติดลบได้ 2 ไตรมาส คือ ไตรมาสแรกของปีนี้และไตรมาส4 ของปีก่อน เพราะมีแรงส่งและแรงรับที่ส่งผลเศรษฐกิจมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประเมินว่าในปีนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัว 0.9% จากเดิม 4.1% และจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีหรือต้นปี 53 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัว 3% โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย แต่ถ้าประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวได้ช้าจนเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้เกิดกรณีเลวร้าย ซึ่งธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวติดลบ 1% ซึ่งเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวลดลง 3.1% ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยต่ำกว่า 5.5% ขณะที่ด้านปริมาณส่งออกติดลบ 7.8% ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะถูกกำหนดด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับ 0% ก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก คือ 5.5% แต่ก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ ถ้าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่คาด ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินในภูมิภาคลดลง แม้จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ไม่มากนัก รวมถึงปัญหาเสถียรภาพรัฐบาลอาจกระทบต่อความสามารถในการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 52
ขณะเดียวกัน ธปท.คาดว่าในปีนี้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยการลงทุนขยายตัวติดลบ 2-0% จากเดิม 5-6% ส่วนบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.5-2.5% จากเดิม 3.5-4.5% ซึ่งภาคเอกชนมีกิจกรรมน้อยลง เนื่องจากรายได้การส่งออกของประเทศลดลงตามภาวภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องอยู่
ส่วนภาครัฐมีอัตราการอุปโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่เท่ากัน คือ 13-15% จากเดิมที่คาดว่าการลงทุนขยายตัว 4.5-5.5% และการอุปโภค 7-8% โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกขยายตัวติดลบ 8.5% ถึงติดลบ 5.5% จากเดิม 7-10% ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวติดลบถึง 10% ถึงติดลบ 7% จากเดิม 8-11% ด้านดุลการค้าเกินดุล 500-3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม ที่คาดว่าจะขาดดุล 1,000 ล้านเหรียญ จนถึงเกินดุล 2,000 ล้านเหรียญ ดุลบัญชีเดินสะพัดสมดุลถึงเกินดุล 3,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับประมาณการณ์เดิม
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5-1.5% จากเดิม 2-3% ปีหน้า 1-2% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.5-0.5% และปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.5-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปี 45 เหรียญต่อบาร์เรล จากที่เคยประเมินไว้ 95 เหรียญต่อบาร์เรล ในกรณีทั่วไป และกรณีเลวร้ายทั้งปีนี้เฉลี่ย 61 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนในปีหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 75 เหรียญต่อบาร์เรล
ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้แล้ว ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งบางแห่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจทำให้รายได้ลดลง แต่เมื่อประกาศลดแล้วจะผลดีให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้อยู่ในระดับสูงนั้น ธปท.คงไม่สามารถบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงมาได้ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในหลายด้าน

"อัจนา" ค้านแจกเงิน 2 พันต่อหัว

วานนี้ (23 ม.ค.) ที่กระทรวงการคลังได้จัดการสัมมนา “ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์ ฟัง คิด ทำ” ครังที่ 2 หัวข้อ “ถกแผนเศรษฐกิจยกหนึ่ง คิดไปถึงแผนสอง โดยเป็นการระดมความคิดเห็นของนักวิชาการสำนักต่างๆ ต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศใช้ไปรวมทั้งการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่สองของรัฐบาล
โดยนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาโดยรวมแล้วถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ที่ไม่ชอบโดยส่วนตัวคือนโยบายที่เสนอโดยนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังคือการแจกเงิน 2 พันบาทให้แก่ผู้ที่เงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะเพียง 1-2 เดือนเท่านั้นโดยคาดหวังว่าจะเป็นการแจกเงินครั้งสุดท้าย

อุ้มแบงก์ลดสเปรดมีความเสี่ยง

ในขณะที่ความคิดเห็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่กระทรวงการคลังต้องการให้ปรับลดลงนั้น เห็นว่าแทนที่กระทรวงการคลังกับธนาคารพาณิชย์จะมาทะเลาะกันเรื่องสเปรดเพราะถึงทะเลาะกันก็คงจะไปไม่ถึงไหน อยากให้หันมาดูสภาพความเป็นจริงว่าในปัจจุบันแม้ต้นทุนทางการเงินจะต่ำแต่ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อก็สูงขึ้นเช่นกันวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการค้ำประกันสินเชื่อโอนผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
“ทางเดียวที่น่าจะแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้คือการค้ำประกันสินเชื่อซึ่งก็ยอมรับกันว่า บสย.ก็มีข้อจำกัดในการค้ำประกันแต่ถ้ารัฐบาลเพิ่มทุนให้ก็คงไม่สร้างภาระต้นทุนให้กับรัฐบาลมากนักโดยแยกเป็นบัญชีค้ำประกันสินเชื่อโครงการเพื่อสังคม (PSA) ใช้เงิน1.2 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันลงจาก 1.75% ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยวงเงินค้ำประกันของ บสย. 1 แสนล้านบาทจะสามารถทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ถึง 3 แสนล้านบาท” นางอัจนากล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่ามาตรการที่ประกาศออกไปในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะแก้ปัญที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะกว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศในเอเชียสร้างกระบวนการผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองประเทศตะวันตก แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาไม่สามารถรองรับจุดนี้ได้แล้วต้องหันมาพึ่งพากันเองเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประเทศในภูมิภาค
“รัฐบาลตระหนักดีกว่ามาตรการที่ออกมานั้นแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นปัญหาที่ลึกจึงต้องรู้ปัญหาก่อน โดยต้องประเมินผลของมาตรการที่ออกไปก่อน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆด้วยซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าปีนี้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การทำงบปี 53 ซึ่งน่าจะจัดสรรงบมาใชได้ตรงเป้าหมายมากขึ้นแยอมรับว่าคงต้องจัดทำงบขาดดุลต่อเนื่องแม้ว่าขณะนี้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ในระดับสูงแต่ก็ยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ 50%ของจีดีพีแห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องทบทวนใหม่” นายกรณ์ กล่าว

นักวิชาการเสนอทำแผนระยะยาว

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องการเห็นรัฐบาลมองถึงแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวควบคู่กันไปด้วยโดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มักประสบปัญหาความโปร่งใส หากรัฐบาลสามารถแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ค้างอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาซึ่งในขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเร่งพิจารณา ขณะเดียวกันต้องการให้มีการออกกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีความโปร่งใสและความยั่งยืนทางวินัยการเงินการคลังจากแนวโน้มที่รัฐบาลแต่ละชุดใช้นโยบายประชานิยม
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจก็อก 2 ในระยะสั้นๆ ต้องการให้สนับสนุนกำลังซื้อในประเทศควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการพร้อมกันคือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งทักษะของแรงงาน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่นักลงทุนต่างลงความเห็นว่าต้นทุนในการดำเนินการจากสาธารณูปโภคพื้นฐานยังสูงเกินไป งเป็นเรื่องที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องใช้โครงการขนาดใหญ่เสมอไป
นายณรงค์ เพชรประเสริฐ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันการจัดตั้งธนาคารลูกจ้างโดยนำเงินจากกองทุนประกันสังคม 10% ไปฝากกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรับผลตอบแทน โดยเงิน 5หมื่นล้านบาทรวมทั้งผลตอบแทนมาปล่อยกู้ให้กับสมาชิก 9.7 ล้านคน กู้ได้ไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ดอกเบี้ย 7% ผ่อนชำระ 3 ปี ปีแรกปลอดดอกเบี้ย โดยเปิดบัญชีเงินออมกับธนาคารลูกจ้าง 10% ซึ่งหากครบกำหนดแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็นำเงินออมทรัพย์มาชำระแทนหรือหากชำระครบก็แปลงเป็นหุ้นธนาคารได้อีก 4 พันล้านบาท
นางผาสุก พงศ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสร้างหนี้ภาครัฐในภาวะวิกฤตที่ปัจจุบันอยู่ที่ 37% ของจีดีพีให้ขึ้นมาที่ระดับ 50-60% ของจีดีพีถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเอกชนไม่กล้าลงทุนรัฐบาลต้องมีบทบาทนำ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเอกชนก็จะกล้าลงทุนตามทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบรัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลลดความกลัวเรื่องการก่อหนี้และหันมากู้ในประเทศจะเป็นทางออกที่ดีในระยะนี้
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ร้ายแรงกว่าที่หลายๆ ฝ่ายประเมินและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงิน เนื่องจากในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าตราสารทางการเงินที่มีมูลค่ากว่า 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะครบกำหนดการชำระเงินการลงทุนจะหดหาย ตลารตราสารทางการเงินจะเกิดความผันผวนขึ้นอีกครั้ง ผู้ที่ทำนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องหามาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นางมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องการเห็นนโยบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใช้กลไกทางการตลาดมากขึ้นและลดการแจกเงินหรือสิ่งของให้แก่ประชาชนลง เนื่องจากต้นทุนในการรับของแจกเหล่านั้นสูงเมื่อเทียบกับของที่ได้ และพยายามให้ผลประโยชน์กระจายไปสู่ประชาชนมากขึ้น เช่น นโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็จัดทัศนศึกษาสำหรับนักเรียน เพราะนอกจากมีเงินหมุนเวียนในหมู่ผู้ประกอบการแล้วผู้ค้ารายย่อยตามสถานที่ท่องเที่ยก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งน่าจะได้ผลดีมากกว่าการเพิ่มวงเงินหักภาษีจากการสัมมนาเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น