xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย0.75%เอกชนเฮ-นายแบงก์ยังลังเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศเศรษฐกิจไทยเริ่มคึกคัก แบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% หลังเห็นปีนี้แนวโน้มจีดีพีโตต่ำกว่าคาด เหตุเศรษฐกิจโลกถดถอยกว่าที่คาดไว้ ห่วงแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังใช้เวลานาน เผยวันศุกร์หน้าปรับลดจีดีพีต่ำกว่า 2.5% ภาคอุตสาหกรรม-อสังหาฯ เฮ! หวังลดดอกเบี้ยผนวกรัฐบาลอัดงบกลางปีแสนกว่าล้านช่วยลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค-กระตุ้นสินเชื่อ-เสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ ขณะที่นายแบงก์โอด กนง.ลดดอกเบี้ยรุนแรง อาจยังไม่ปล่อยกู้หรือปรับลดดอกเบี้ยตามทันที เหตุผวาหนี้เสีย

น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (14 ม.ค.) ว่า ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) 0.75% หรือจาก 2.75% มาอยู่ที่ระดับ 2.00%ต่อปี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำสุด แต่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.48
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ต่างกับการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.51 ซึ่งครั้งนั้น กนง.ลดดอกเบี้ย 1% เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การส่งออกไทยชะลอตัวมาก ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง ด้านอุปสงค์ภาคเอกชนยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งจากความเชื่อมั่นที่เปราะบาง แม้ขณะนี้สถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ แต่แรงกระตุ้นจากภาคการคลังอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไทยอยู่มาก ทำให้ กนง.มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้เรายังมีกระสุนเหลืออีกเยอะ เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน 2% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเพียงมาตรการเสริมนโยบายการคลังให้เอื้อในการประคองเศรษฐกิจได้และยังคงให้นโยบายการเงินเป็นพระเอกอยู่ในปีนี้ ทำให้เราเบามือได้บ้าง และสร้างความมั่นใจในการส่งสัญญาณว่าเราจะดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้นการใช้นโยบายการเงินและการคลังควรใช้ประกอบกันตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทยด้วย"

มั่นใจแบงก์พาณิชย์ลดตาม

น.ส.ดวงมณีกล่าวว่ามั่นใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในระบบอีกระยะหนึ่งจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สถาบันการเงินรับเงินฝากจากประชาชน จึงต้องประเมินความความเสี่ยงในแง่ของต้นทุนและโอกาสในการบริหารเงินให้รอบคอบ ส่วนทิศทางการออมเงินในอนาคตนั้นในปัจจุบันมีการลงทุนที่หลากหลายไม่เฉพาะการฝากเงินเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงล่าสุดในเดือนธ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 3.02% จึงขึ้นอยู่กับรายได้ ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับของแต่ละบุคคลมากกว่า
สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อยู่ที่ระดับ 0.5-2.5% เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา อาจต้องมีการปรับใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรงกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีผลต่อภาคการส่งออกไทยให้ชะลอตัวอย่างมาก แม้นโยบายการคลังจะชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐช่วยเศรษฐกิจและทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในระดับดังกล่าวอาจต่ำกว่านี้ จึงต้องมีการปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 52 ใหม่ รวมถึงข้อสมมติฐานตัวชี้เศรษฐกิจด้านต่างๆ ในวันที่ 23 ม.ค.นี้
ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า นโยบายการคลังมีความชัดเจนมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ซึ่ง กนง.มองว่าภาครัฐจะสามารถดำเนินการได้ตามปฏิทินของงบประมาณที่วางไว้ โดยคาดว่างบประมาณกลางปี 1.15 แสนล้านบาทจะมีการเบิกจ่ายได้ 100% ส่วนงบประมาณปี 2552 จะมีอัตราการเบิกจ่ายได้ตามที่รัฐบาลประเมิน คือ 94% ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นต่างๆของภาครัฐที่ออกมาในช่วงนี้จะเห็นผลในช่วงประมาณปลายเดือนมี.ค-เม.ย.นี้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 52 มีความเสี่ยงที่บางเดือนอาจติดลบบ้าง เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง แต่ไม่ได้ติดลบทุกเดือนหรือไตรมาสต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกน้อยลงด้วย
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวเสริมว่า ความรุนแรงของเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปด้วย จีดีพีจึงมีโอกาสต่ำกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่ 0.5-2.5% แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบ หวังว่าการมีนโยบายการเงินการคลังที่ชัดเจนก็จะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการใช้เงินงบประมาณกลางปี
"เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่มีสาเหตุมาจากการมีอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะติดลบในบางไตรมาส" นางอัจนากล่าว

ภาคผู้ประกอบการเฮ!

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวถึงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ว่า เป็นเรื่องที่ดี สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยตลาดโลก เนื่องจากภาพรวมดอกเบี้ยในตลาดโลกไม่สูง อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลดต้นทุนลงได้ อย่างไรก็ตาม ธปท.คงต้องติดตามว่าการใช้นโยบายการเงินหลังจากนี้จะสามารถกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน
"การที่รัฐบาลอัดฉีดงบกลางปีงบประมาณ 52 อีกกว่า 115,000 ล้านบาท ประกอบกับ กนง.ลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ น่าจะเป็นการเสริมสภาพคล่องภาพรวมธุรกิจและลดภาระค่าครองชีพ ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเริ่มมีความหวัง แต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะต้องมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว" นายประมนต์กล่าว

อสังหาฯ หวังกู้ซื้อบ้านฉลุย

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จะส่งผลดีต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้(ลูกหนี้) แม้ว่าจะมีรายได้เท่าเดิม ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลดีที่จะเกิดต่อตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์โดยตรงนั้น ต้องรอระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากในภาวะเช่นนี้ ในด้านซื้อขายนั้น ผู้บริโภคจะยังไม่ตัดสินใจซื้อในทันที แม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ตาม
ทั้งนี้ ในระยะสั้นนั้นผลดีจะส่งตรงถึงกลุ่มธุรกิจโดยรวมมากกว่า เนื่องจากเป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯและธุรกิจต่างๆ ยังมีการลงทุนและดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาการว่างงาน จากการปิดกิจการของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตลาดอสังหาฯนั้นจะได้รับผลดีต่อเนื่องหลังจากที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต
"การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. นั้นจะช่วยให้ตลาดที่ช็อกอยู่ในขณะนี้ กลับมาขยายตัว ไม่หยุดการซื้อขาย เหมือนช่วงที่ได้รับปัจจัยลบจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงแรก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมากน้อยเท่าใด เพราะก่อนหน้านั้นที่ กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยลง1% ธนาคารพาณิชย์ ลดดอกเบี้ยMLRลงเพียง0.5% เท่านั้น"
อุปนายสมาคมฯ กล่าวว่า เรื่องของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านงบประมาณของรัฐบาล จะมีมากน้อยเท่าใด เพราะก่อนหน้านี้ ธปท.ออกมาชี้แจงว่า เงินในระบบมีอยู่สูงมาก ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในคราวนี้ จะส่งผลให้สถาบันการเงิน ทั้งในส่วนธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ จะหันมาแข่งขั้นกันปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

นายแบงก์ชี้ กนง.ลดรุนแรง

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคม ธนาคารไทย เปิดเผยมติ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% ว่า เป็นการปรับลดในอัตราที่รุนแรงพอสมควรและเชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้บ้าง แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้นก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป โดยการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องมีเครื่องมืออื่นๆมาช่วยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาคเอกชนแล้วมองว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทางรัฐบาลและ ธปท.มีการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงหวังว่าเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ไปคงจะดีขึ้น
สำหรับธนาคารพาณิชย์หลังจากที่ทางการได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วจะมีการปรับลดทันทีหรือไม่นั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าจะมีนโยบายอย่างไร เนื่องจากแต่ละธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าพิจารณาในฝั่งของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว มองว่าคงจะไม่ปรับลดลงทันที เพราะต้องรอให้ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็คงจะมีการปรับลดลง แต่จะเร็วเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับตั้นทุนการเงินของแต่ละธนาคารเช่นกัน
ด้านนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT กล่าวว่า ธนาคารฯ เองได้ประเมินไว้แล้วว่ากรอบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 0.50-0.75% แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงเป็นตัวเลขที่เซอร์ไพรส์ต่อตลาดโดยรวมพอสควร เพราะก่อนหน้านี้ตลาดได้คาดการณ์ว่าจะปรับลดเพียง 0.50% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ คงจะเป็นการช่วยกระตุ้นและบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจได้บ้าง เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในระยะสั้นนั้นคงจะยาก เพราะนักลงทุนไม่มีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ส่วนธนาคารพาณิชย์ จะมีการปรับลดลงทันทีหรือไม่นั้น คงจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ธนาคารว่าจะกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยอย่างไร แต่มองว่าน่าจะปรับลดเร็วกว่าสภาวะปกติ เนื่องจากยอดการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคารในปัจจุบันมีจำนวนลดลง ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารมากขึ้น จึงต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ในขณะเดียวกัน ก็คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายในปี 2552 ทั้งปีนี้น่าจะลดต่อไปอีก โดยมองว่าสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยน่าจะอยู่ที่ 1-1.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าแถลงการณ์หลังการประชุม กนง.สะท้อนความกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นและคลายความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อลงอย่างชัดเจน และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงหนุน หลังจากที่ กนง.ทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายรวมแล้ว ก็ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น อาจจะยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจไทย พร้อมๆ กับภัยคุกคามจากเงินฝืดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552
"ประเด็นแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอดังกล่าว จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ในระยะถัดไป" ศูนย์วิจัยระบุ

ชี้แบงก์ห่วงNPLอาจไม่รีบลดตาม

ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะเริ่มพลิกกลับมามีอัตราที่ติดลบตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจโน้มลงสู่กรอบด้านต่ำของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ได้ผ่อนคลายลงอย่างมากนั้น จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไปเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลไกการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ ธปท.ยังคงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน อาจไม่ถูกปรับลดลงมากเท่ากับขนาดการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นผลจากประเด็นด้านความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนในการตั้งสำรองหากสินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย
ประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตาในระยะถัดไปเช่นเดียวกัน ก็คือ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ตลอดจนแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะหดตัวโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งก็คงจะทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย พร้อมๆ ไปกับการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินเพื่อบรรเทาความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น