xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์หั่นเป้าดัชนีหุ้นปี52เหลือ547จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - สมาคมนักวิเคราะห์ เผยนักวิเคราะห์ปรับลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยปี 52 เหลือ 547 จุด จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 671 จุด หรือลดลงกว่า 124 จุด และจีดีพีโตแค่ 0.7% จากเดิม 4.0% เหตุวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวบวกกับปัญหาการเมืองในประเทศ พร้อมทั้งส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนทรุด อัตราการว่างเงินเพิ่ม แม้เชื่อมั่นเสถียรภาพรัฐบาลชุดปัจจุบันหลังเปลี่ยนขั้วการเมือง พร้อมแนะรัฐบาลชุดใหม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้บริโภค โดยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ผ่านนโยบายการเงินการคลัง
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ทำการสำรวจนักวิเคราะห์ (SAA Survey) ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ถึงสอบถามถึงแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นไทย อัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน ในปี 2552 หลังจากได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ปัญหาทางการเมือง รวมถึงเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบต่อภาคการส่งออกท่องเที่ยว โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แสดงความเห็นจำนวน 18 แห่ง
จากการสำรวจครั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจปีหน้าเฉลี่ยเหลือ 0.7% ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.51 ที่เฉลี่ย 4% โดยมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ระดับสูงสุดที่ 2.5% และต่ำสุดที่ติดลบ 4% และประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปีหน้าเฉลี่ยที่ 547 จุด ลดลงจากครั้งก่อนเฉลี่ยที่ระดับ 671 จุด โดยดัชนีสูงสุดเฉลี่ยที่ระดับ 590 จุด และต่ำสุดเฉลี่ยที่ 364 จุด
โดยการสำรวจ มี บล.ฟินันซ่า คาดดัชนีปีหน้าสูงสุดอยู่ที่ 650 จุด ขณะที่บล.ทรีนีตี้ มองว่าดัชนีต่ำสุดปีหน้าจะอยู่ที่ 267 จุด ซึ่งต่ำกว่าคาดเฉลี่ย เนื่องจาก บล.ทรีนีตี้ กังวลในเรื่องปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ตรึงตัวและกังวลในเรื่องหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคอุตสาหกรรม และการว่างงานที่จะมากขึ้น และคาดอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ติดลบ9.6% จีดีพีโต 0.4%
“นักเคราะห์มองว่าไตรมาส1/52 ดัชนีน่าจะปรับลดลงต่ำสุดคิดเป็น 42% และคาดว่าจะต่ำสุดในไตรมาส 2 /52 คิดเป็น 38% และต่ำสุดในไตรมาส 3 /52 คิดเป็น 12% ส่วนต่ำสุดในไตรมาส 4 /52คิดเป็น 4%”
นายสมบัติ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปีหน้าจะมีกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ติดลบ 4.9% จากการสำรวจครั้งก่อนที่คาดว่าอยู่ที่ 2.3% เนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าที่มีการถดถอยของเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยที่ติดลบ และอัตราการว่างงานที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
สำหรับอัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น ในปี 2552 คาดว่ามีเพียงกลุ่มโรงแรมที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นและเป็นบวก เฉลี่ยคิดเป็น 10% กลุ่มสื่อสาร เติบโตติดลบน้อยสุด คิดเป็น -0.3% และกลุ่มที่มี EPS หดตัวมากสุด คือ กลุ่มเดินเรือ คิดเป็น 16.7% ส่วนปี 2551 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กลุ่มธนาคารมีอัตราการเติบโตสูงสุด เฉลี่ยที่ 306.7% กลุ่มอาหาร 41.4% กลุ่มเดินเรือ 21.9% กลุ่มสื่อสาร 21.5%และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 16.7%
ขณะเดียวกันได้ประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี 1 วัน) เฉลี่ยที่ระดับ 1.58% ลดลงจากค่าเฉลี่ยครั้งก่อนอยู่ที่ระดับ 3% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 34.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ 1.5% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มองอยู่ที่ 3.1% เม้จะมีผู้ประเมินไว้สูงสุดที่ 2.6% และต่ำสุดที่ 0.5%
นายสมบัติ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่นักวิเคราะห์ประเมินในปี 2552 ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ คิดเป็น 78% ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ คิดเป็น 61% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น การเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน คิดเป็น 56% อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง คิดเป็น 33% และปัจจัยทางการเมืองซึ่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และมีแนวโน้มดีขึ้น คิดเป็น 28%
ขณะที่ปัจจัยลบคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ประสบปัญหาวิกฤตซึ่งอาจถดถอยมากกว่าที่คาด คิดเป็น 83% สถานการณ์ทางการเมืองและเสถียรภาพรัฐบาล คิดเป็น 61% และปัจจัยจากรายได้การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ลดลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่อัตราการเติบโตมีแนวโน้มลดลงหรือติดลบ ส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโตลดลง คิดเป็น 50% ประกอบกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและกำลังซื้อในภาคครัวเรือนลดลง คิดเป็น 33%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันหลังเปลี่ยนขั้วการเมืองคิดเป็น 3.06 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 เพิ่มขึ้นจากการก่อนเปลี่ยนขั้วการเมืองที่ได้คะแนน 1.33 คะแนน ซึ่งมองว่าปัญหาที่ภาครัฐต้องจับตาและเตรียมรองรับมากสุด คือ ปัญหาการว่างงานและรายได้ที่ลดลงจากการชะลอตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว คิดเป็น 56%ส่วนปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในไทยและเสรษฐกิจของโลก ส่งผลต่อเนื่องให้สภาพคล่องทางการเงินตึงตัว คิดเป็น 28% และปัญหาทางการเมือง คิดเป็น 22%
พร้อมกันนี้ นักวิเคราะห์ได้เสนอข้อแนะนำต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และตลาดทุน คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้บริโภค โดยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ผ่านนโยบายการเงินการคลัง เช่น ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เร่งโครงการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ ดูแลให้มีสภาพคล่องทางการเงินและการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจรายย่อย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ คิดเป็น 83% การกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ คิดเป็น 17% และมาตรการด้านสังคม เช่น การดูแลสวัสดิการผู้ว่างงาน คิดเป็น 17%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แนะนำนักลงทุน ซึ่งในส่วนของนักลงทุนระยะยาว ให้ทยอยซื้อสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดมั่นคง ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวน้อย สามารถจ่ายเงินปันผลได้ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ซึ่งควรศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นให้รอบคอบก่อนการลงทุน ซึ่งหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนตรงกัน ได้แก่ ADVANC, BANPU, KBANK, PTT และ SCB
กำลังโหลดความคิดเห็น