xs
xsm
sm
md
lg

GDPไตรมาส3:สัญญาณชะลอตัวศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทเชิงนโยบายของทางการในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่หนักหน่วงในครั้งนี้”

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ได้จัดทำบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ โดยเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลตัวเลขGDP ไตรมาส3/2551 ที่ได้มีการประกาศออกมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เมื่อเร็วๆนี้ และถือว่าเป็นเรื่องที่นักลงทุนหลักทรัพย์อย่างพวกเราไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3/51 เติบโต 3.96 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) หรือเติบโต 0.58% จากไตรมาสที่ผ่านมา (qoq) หากปรับผลของฤดูกาลออก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดนับแต่ไตรมาส 1/48 อัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงนี้ไม่ได้เกินความคาดหมายแต่อย่างใดและตัวเลขดังกล่าวจะแย่กว่านี้หากไม่นับรวมคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลัง ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงลางร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แท้จริงแล้วตลาดหุ้นไทยได้มองล่วงหน้าไปยังอนาคตและได้สะท้อนการปรับประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2551 และปี 2552 ลงแล้วด้วย เราเองได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2551และปี 2552 ลงเหลือ 4.5% และ 3.5% ตามลำดับ และตัวเลข GDP ไตรมาส 3/51 ที่เพิ่งประกาศออกมานั้นก็บ่งชี้ว่าประมาณการดังกล่าวยังคงมีความเป็นไปได้สูง


ตัวเลข GDP จะแย่กว่านี้

การบริโภคในประเทศหลังปรับด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแล้ว ขยายตัว 2.64% yoy ในไตรมาส 3/51 ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวลง 2.89% และการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 0.64% การส่งออกสุทธิไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในไตรมาสนี้ โดยการส่งออกสุทธิเติบโตเพียง 0.27% yoy จากราคาฐานปี 2531 ในทางตรงกันข้ามเกิดการเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังสุทธิครั้งใหญ่จากติดลบ 8 พันล้านบาท ( ณ ราคาฐานปี 2531) ในไตรมาส 3/50 เป็นบวก 2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/51 ถือเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญที่สุด หากพิจารณาในรูปของราคาปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังปรับตัวขึ้นจากระดับติดลบ 1.8 หมื่นล้านบาทเป็นบวก 6.5 หมื่นล้านบาท

สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการลดจำนวนสินค้าคงคลังในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นและเพิ่มจำนวนสินค้าคงคลังในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงในไตรมาส 3/51 อย่างไรก็ตามหากเราตัดรายการการเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังออก GDP ในไตรมาสนี้จะโตเพียง 1.23% yoy เท่านั้น

ภาคเกษตรกรรมช่วยหนุนเศรษฐกิจ

อัตราการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 36% ของ GDP ณ ราคาปัจจุบัน เติบโตชะลอตัวลงเหลือเพียง 6.06% yoy หากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว สิ่งนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวลงต่อเนื่อง รวมถึงภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงมากเช่นกัน ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้รับแรงหนุนหลักจากภาคเกษตรกรรม (10.58% ของ GDP) ซึ่งเติบโตกว่า 9.94% yoy เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นช่วยผลักดันให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น

สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นๆนั้นต่างชะลอตัวลงทั้งสิ้น โดยกิจกรรมก่อสร้างปรับตัวลง 4.46%, การศึกษาหดตัวลง 3.33%, สาธารณสุขและสวัสดิการสังคมปรับตัวลง 2.60% และภาคการบริหารราชการและการป้องกันประเทศติดลบ 2.94%

การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างหนัก

ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551 และ 2552 ลงเหลือ 4.50% และ 3.50% ตามลำดับ โดยตัวเลขเหล่านี้ยังคงมีความเหมาะสมสำหรับมุมมองของเราในตอนนี้ หาก GDP เติบโตในอัตรา 5.97% ในไตรมาส 1/51, 5.28% ในไตรมาส 2/51 และ 3.96% ในไตรมาส 3/51, อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/51 เพียง 2.90% ก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทั้งปีในปี 2551 ออกมาที่ระดับคาดการณ์ที่ 4.50% แล้ว ซึ่งไม่เชื่อว่านี่เป็นมุมมองที่อนุรักษ์นิยมเกินไป เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

อีกทั้งปัญหาการเมืองในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่กำลังบั่นทอนการบริโภคในประเทศ รวมถึงส่งผลให้การใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ต้องล่าช้าออกไปด้วย

โดยประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5% ในปีหน้านั้นตกอยู่ในช่วงกลางของกรอบประมาณการปีหน้าของสภาพัฒน์ฯที่ระดับ 3-4% สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจคือ สภาพัฒน์ฯได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายเงินงบประมาณในโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงเพื่อเตรียมรับมือกับการปลดพนักงานและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาย่ำแย่เช่นนี้น่าจะเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งหน้าในวันที่ 3 ธันวาคม

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาด โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไปนี้ จึงคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปีนี้อาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงมากขึ้น โดยอาจต่ำกว่าร้อยละ 3.0

นอกจากนี้ การที่สภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 เป็นร้อยละ 4.5 จากประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5.2-5.7 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้รวมถึงความไม่สงบภายในประเทศในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริการมากกว่าที่คาดไว้ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0

ดังนั้นประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราขยายตัวของปี 2551 ทั้งปี อาจมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับที่ สศช. คาดไว้ ส่วนการรับรู้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสต่อ ๆ ไป ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจจะยิ่งเผชิญการชะลอตัวที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีก

โดยอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกปีหน้าอาจจะลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตามองในไตรมาสถัด ๆ ไป คือผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกที่ผ่านลงสู่การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและจะกระทบการส่งออกของไทย ซึ่งผลกระทบจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น

สุดท้ายจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีค่ากลางในกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่ อัตราการขยายตัวในกรณีเลวร้ายจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5

“นับเป็นความท้าทายในเชิงนโยบาย ที่สำคัญคือ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และระบบการเงินยังค่อนข้างแข็งแรง ขณะที่รัฐบาลและธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีช่องทางและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ แตกต่างจากในช่วงปี 2540 ที่ทางการแทบไม่มีมาตรการออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทเชิงนโยบายของทางการในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่หนักหน่วงในครั้งนี้”

กำลังโหลดความคิดเห็น