xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.หั่นดอกเบี้ยเงินกู้0.25%คลังลดหย่อนซื้อบ้าน3แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ธอส.กัดฟันลดดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.25% กดMRRเหลือเพียง 6.75% มีผล 24 ม.ค.นี้ ขณะที่เงินฝากไม่น้อยหน้าถูกกด 0.5% มีผลตั้งแต่จันทร์นี้ ข่าวดี! ผู้กู้ซื้อบ้านยุคมาร์ค คลังชงมาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาเข้า ครม. 20 ม.ค.นี้ ให้สิทธิเอาเงินต้นจากการชำระเงินกู้ มาคำนวณลดหย่อนภาษีเพิ่มจากเดิมให้สิทธิเฉพาะดอกเบี้ย กำหนดเพดาน 2-3 แสนบาทต่อราย ชั่วคราว 2 ปี หวังเอาใจผู้ซื้อและผู้ขายบ้าน

ในที่สุดธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ได้ตัดสินใจประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการคลังของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1.15 แสนล้านบาท ใน 18 โครงการ รวมถึงการเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารของรัฐในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ธอส.เป็นผู้นำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จึงได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.25% โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จากเดิม 7.00% เหลือ 6.75% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวพิเศษของ ธอส.เท่ากับ MRR - 2.00% ในปีที่ 1 ถึง 3 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR - 0.50 ตลอดอายุสัญญากู้ (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.75%) จากการที่ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องที่อยู่
อาศัยให้แก่ลูกค้าธนาคารได้อีกทางด้วย ภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.52 เป็นต้นไป

ในฟากของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและตั๋วสัญญาใช้เงินทุกประเภทลงอีก 0.50% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75 % อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50% ส่วนเงินฝากประจำสินเคหะปรับลดลงเหลือ 1.75% (ฝากครบ 24 งวด ธนาคารบวกดอกเบี้ยโบนัสเพิ่มให้อีก 1.00%) ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 7 วัน และ 14 วัน เหลือ 1.00% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 1 เดือน และ 2 เดือน ลดลงเหลือ 1.50% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75% ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50%

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษจากเดิม 2.25% เป็น 1.75% ต่อปี ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2552 เป็นต้นไป

***คลังจูงใจคนซื้อบ้านสุดๆ
***ดึงเงินต้นเคลมภาษีอีกต่อ

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า ในการประชุมครม.วันอังคารที่ 20 ม.ค.นี้ กระทรวงคลังจะเสนอมาตรการภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อครม. โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเดิม ที่สามารถนำดอกเบี้ยซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ก็จะขยายให้นำเงินต้น (ส่วนที่ชำระเงินกู้) มานับรวมในการหักลดหย่อนภาษีได้ด้วยโดยอาจอยู่ที่ 2-3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.

"มาตรการภาษีดูแลอภาคสังหาริมทรัพย์นั้น กระทรวงการคลังจะเสนอเข้า ครม.แน่นอนวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยที่เสนอไปนั้นจะให้สิทธิประโยชน์ผู้ที่ซื้อบ้านภายใน 2 ปีสามารถนำเงินต้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่จะมีการจำกัดเพดานเงินต้นไว้เช่น 2 หรือ 3 แสนบาท ซึ่งหากซื้อปีแรกจะได้สิทธิเต็มจำนวน แต่ถ้าซื้อปีที่ 2 จะได้สิทธิเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ไม่ได้จำกัดราคาบ้านและให้สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังจากที่มติ ครม.ออกมาแล้วจะได้รับสิทธิหมดทุกคน" นายสมชัยกล่าวและว่า การให้ประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 2 ปีเท่านั้น โดยมองว่าทุกคนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันและเป็ฯการกระตุ้นให้เกิดการซื้อบ้านเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้หักลดหย่อนภาษีนั้น สศค.ประเมินว่ากรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้หลักพันล้านบาทนั้น ซึ่งหากเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับถือว่าคุ้มค่า ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา

นอกจากมาตรการภาษีกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีมาตรการภาษีที่ช่วยเหลือธุกิจท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อีกครั้ง หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอเข้าครม.พร้อมกัน โดยหลักการของมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจะครอบคลุมทั้งเรื่องภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee), ค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมถึงการใช้งบประมาณเพื่อการอุดหนุนให้ต้นทุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยถูกลง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวไทย และช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวในการอสังหาฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีกับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านใหม่ ที่นอกจากจะนำภาระทั้งดอกเบี้ยแล้วยังนำเงินต้นมาหักลดหย่อนภาษีได้อีก ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ น่าจะเป็นผลดีต่อคนซื้อ ขณะเดียวกัน อาจจะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีมากจนเกินไป ซึ่งต่างจากแนวคิดเดิมที่จะเพิ่มการนำภาระดอกเบี้ยมาหักลดหย่อนเป็น 2 แสนบาท

"คนซื้อบ้านจัดสรรน่าจะชอบ แต่กระนั้น ต้องเข้าใจว่า ในช่วงแรกซึ่งก็หลายปี การผ่อนบ้านส่วนใหญ่ จะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยมากๆ เงินต้นที่ถูกหักออกจะไม่เยอะ เช่น คนที่คิดจะซื้อบ้านเดี่ยว 2 ล้านบาท โดยหักเงินดาวน์ออกไป 10-15% แล้วแต่โครงการกำหนด(ยังไม่คิดส่วนลด) ก็น่าจะผ่อนกับธนาคารประมาณ 11,000-12,000 บาท

ในนี้จะถูกคิดเป็นดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท เงินต้น3,000-4,000 บาท ดังนั้น เมื่อนำดอกเบี้ยมาคูณ 12 เดือน ก็จะประมาณ 96,000 บาท ก็อยู่ในข่ายนำดอกเบี้ยมาหักลดหย่อนได้ ส่วนในฟากของเงินต้นตกประมาณ 36,000-48,000 บาท ก็น่าจะเติมเงินให้แก่คนซื้อบ้าน ดังนั้น ผู้ที่ซื้อบ้านระดับราคาสูงขึ้น ก็ได้รับประโยชน์สูงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องดูว่า ครม.จะขีดเพดานเงินต้นที่เท่าไหร่" แหล่งข่าวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น