xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน:ความเป็นมาของภาวะเงินฝืด(Deflation)จากอดีตถึงปัจจุบัน(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัปดาห์ก่อนหน้านั้นผมได้เขียนถึงภาวะเงินฝืด และสรุปว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเงินฝืดจนทำให้เศรษฐกิจถดถอยมีน้อยมาก ในสัปดาห์นี้ ผมจะขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของภาวะเงินฝืดหรือ Deflation ว่าเคยมีประเทศใดเจอปัญหานี้บ้าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่าในแต่ละครั้ง Deflation เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจาก Deflation จะเป็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่จะมีการกล่าวถึงและถกเถียงกันอย่างมากในปีนี้ ผมจึงอยากให้หลายๆ ท่านได้ทราบข้อมูลในอดีต เพื่อประกอบการวิเคราะห์ปัญหาปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต อีกทั้งเพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้อย่างไม่กังวลและตื่นตระหนกมากเกินไป ผมยังยืนยันในที่นี้อีกครั้งว่า มีโอกาสต่ำมากที่ประเทศไทยจะเกิดภาวะ Deflation จนนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจโดยรวม

ที่จริงแล้วสภาวะการลดลงของระดับราคาโดยรวมเป็นสถานการณ์ค่อนข้างปกติในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 (1801-1900) ถึงประมาณปี 1960 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิตขยายตัวเร็วกว่าอุปสงค์ ราคาจึงปรับลดลงหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ พบว่าการเกิด Deflation ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ในช่วงเวลานั้นๆ

ผมขอแบ่งระยะเวลาของการเกิด Deflation เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกระหว่างปี 1800-1960 และช่วงหลัง คือตั้งแต่ปี 1960 ถึงปัจจุบัน ซึ่งลักษณะของ Deflation จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก บทความฉบับนี้ผมขอเขียนถึงลักษณะของการลดลงของระดับราคาสินค้าในช่วงแรกก่อน

Deflation ในยุคแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1820 ขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวตามปกติ ระดับราคาที่ลดลงเกิดจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในทวีปยุโรปในปี 1837 โดยมีสาเหตุ มาจากปัญหาการเพาะปลูกตกต่ำในอังกฤษและยุโรป ธนาคารกลางในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ จึงต้องถอนทองคำที่ใช้เป็นเงินสำรองมาใช้แก้ไขปัญหา ทำให้ปริมาณเงินลดลงและส่งผลต่อเนื่องทำให้ระบบสถาบันการเงินมีปัญหาหนัก ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลาง (The Second Bank of the United States ในเวลา นั้น หรือ Federal Reserve ในปัจจุบัน) ปัญหาทั้งหมดนำไปสู่วิกฤตการเงิน และตามด้วยปัญหา Deflation ที่ค่อนข้างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจถดถอยในปี 1839 และฟื้นตัวในปี 1845

Deflation ในยุคต่อมาเกิดในช่วง 1873-96 เนื่องจากมีการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรถไฟในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและประสิทธิภาพการผลิตขยายตัวอย่างมาก ในระยะแรก ระดับราคา ลดลงขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศในโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเริ่มแสดงตัวขึ้นเมื่อประเทศอาร์เจนตินาในขณะนั้นมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดวิกฤตธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ไปทั่วโลก จนกลายเป็นการแตกตื่นถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ในปี 1893 ต่อมาปัญหาได้ลุกลามและขยายตัวไปยุโรปและออสเตรเลีย และในที่สุดก็กลายเป็นการถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง

ปัญหา Deflation และเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1919-21 ซึ่งเป็นช่วงภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากผลของสงครามโลกทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ระดับราคาสินค้าจึงเพิ่มขึ้นมาก เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศในขณะนั้นจึงใช้นโยบายการเงินและการคลังที่รัดตัว ส่งผลให้อุปสงค์หดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกหดตัวและระดับราคาลดลงตามมา โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 28 สหราชอาณาจักรหดตัวร้อยละ 20 เยอรมนีหดตัวร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม การถดถอยของเศรษฐกิจในขณะนั้นเกิดเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาเศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 1921 และต่อเนื่องไปถึงปี 1929

นับจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 1921 เกือบทุกประเทศในโลกต่างมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น (ยกเว้น สหราชอาณาจักรที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย) ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ ตู้เย็น โทรศัพท์ และวิทยุ นำไปสู่ยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรม ประกอบกับเริ่มมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการไหลของเงินทุนจากสหรัฐฯ ไปยุโรป และละตินอเมริกา การเติบโตของ เศรษฐกิจจึงกระจายตัวออกไป ในช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมเกือบทุกประเทศในโลกมีอัตราเงินเฟ้อติดลบจากการขยายตัวของอุปทาน แม้ว่าในระยะหลังธนาคารกลางได้ปล่อยให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นมากจนอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าการเติบโตของอุปทาน ผลคือเศรษฐกิจขยายตัวขณะที่ระดับราคาลดลง

ช่วง The Great Depression หรือมหาวิกฤติเศรษฐกิจระหว่างปี 1929-1949 ซึ่งเป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจบันทึกไว้ว่า เศรษฐกิจของโลกและประเทศอุตสาหกรรมประสบปัญหาเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สาเหตุของวิกฤตเป็นผลิตผลของการเฟื่องฟูในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประกอบกับมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากจนเกิดสภาวะฟองสบู่

ในช่วงท้ายของยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองระหว่างปี 1921-29 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ใช้มาตรการการเงินที่รัดตัวเพื่อชะลอความร้อนแรงที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1926 นโยบายการเงินที่รัดตัวส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1929 การหดตัวของอุปสงค์ขณะที่มีอุปทานจำนวนมาก นำไปสู่การลดลงของราคาสินค้าและการถดถอยของเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดการแตกตื่นถอนเงินจากธนาคารและลุกลามเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ทุกประเทศต่างก็พยายามนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ จนทำให้การค้าระหว่างประเทศทรุดตัวลงจนเกือบ ล่มสลาย ทำให้วิกฤตรุนแรงยิ่งขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ซ้ำเติมปัญหาคือการนำระบบอัตราแลก เปลี่ยนคงที่โดยผูกไว้กับราคาทองคำ (ระบบ Gold Standard) มาใช้ ทำให้ธนาคารกลาง ของแต่ละประเทศไม่สามารถใช้นโยบายการเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผลคือเศรษฐกิจถดถอยยืดเยื้อและรุนแรง โดยเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำของโลกหดตัวอย่างรุนแรง และการว่างงานพุ่งขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 ในปี 1933 วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เข้าสู่จุดต่ำสุดในปี 1933 และเริ่มฟื้นตัวหลังจากนั้น เมื่อหลายประเทศออกจากระบบมาตรฐานทองคำ และใช้มาตรการการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในขณะนั้นยังไม่พ้นวิบากกรรม ในปี 1937-39 สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงและระดับราคาสินค้าลดลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 18 อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 20 และระดับราคาลดลงร้อยละ 5 สาเหตุมาจากนโยบายการเงินที่รัดตัวมาก โดย Fed เพิ่มอัตราเงินสำรองตามกฎหมาย เท่าตัวในปี 1936 ขณะที่รัฐบาลสมัยประธานาธิบดี Roosevelt พยายามลดการใช้จ่ายภาครัฐ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ระดับต่ำสุดในไตรมาส 2 ของปี 1939 และเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างเปราะบาง แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นานสหรัฐฯ ก็เข้าสู่ภาวะถดถอยและเกิดปัญหา Deflation อีกครั้งในช่วงปี 1948-49 โดยเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีต่อมา

ภายหลังปี 1949 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ก็ไม่เคยเผชิญปัญหา Deflation และการถดถอยที่รุนแรงอีก แม้ว่ามีภาวะระดับราคาลดลงบ้างแต่ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 โดยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเผชิญกับปัญหาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ในปี 1973 (พ.ศ.2516)

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อ่านคงจะได้เห็นภาพว่า Deflation เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป และการที่มี Deflation หรือระดับราคาลดลงอย่าง ต่อเนื่องก็ไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เช่นในช่วงปี 1873-96 และ 1921-29 การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาจากปัจจัยอื่น เช่น การแตกของฟองสบู่ในปี 1929 ฉะนั้น การลดลงของระดับราคาสินค้าหรือ Deflation โดยตัวเองไม่ได้สร้างปัญหาที่รุนแรงถ้าไม่มีปัญหาอื่นเพิ่มเติม ขณะที่การถดถอยของเศรษฐกิจจะสร้างปัญหารุนแรงมากเมื่อเกิดปัญหาการตื่นตระหนกถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์และการล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ยืดหยุ่นเช่นระบบ Gold Standard ซึ่งทำให้ใช้นโยบายการเงินแก้ไขปัญหาไม่ได้ การใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจถดถอย และการกีดกันการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤตรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ฉบับหน้า ผมจะพูดถึง Deflation ในเศรษฐกิจยุคใหม่ซึ่งจะทำให้เห็นภาพว่า เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต จะมีความแตกต่างกันทั้งความถี่ของการเกิดปัญหาและความรุนแรง ของปัญหาที่เกิดขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น