xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติมาอีกแล้ว !

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“ปฏิวัติ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติเอาไว้ที่หน้า 648 มีความหมายว่า การหมุนกลับ, การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล; การเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารบ้านเมือง เช่น ปฏิวัติการปกครอง

การปฏิวัติของประเทศไทยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกลุ่มนายทหารและพลเรือนคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ส่วนอีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนกันก็คือ “รัฐประหาร” ซึ่งในพจนานุกรมฉบับเดียวกันก็ได้บัญญัติเอาไว้ที่หน้า 941 มีความหมายว่า การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน หรือภาษากฎหมายก็มีความหมายว่า การใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยโดยส่วนใหญ่แล้ว การปฏิวัติมักจะมาควบคู่กับการรัฐประหารอย่างชนิดที่เรียกว่าแยกกันไม่ออก เพราะการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในหลายๆครั้งมักจะต้องใช้กำลังในการยึดอำนาจพร้อมกันไปเสมอ

ประเทศไทยมีการปฏิวัติและการรัฐประหารทั้งหมด 14 ครั้ง แบ่งเป็นการปฏิวัติและรัฐประหารเพื่อแย่งชิงอำนาจในการปกครองประเทศ 8 ครั้ง เป็นการปฏิวัติตัวเองเพื่อที่จะใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จจำนวน 3 ครั้ง เป็นการลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเพราะถูกกดดันภายหลังการใช้กำลังทหารสังหารหมู่ประชาชนจำนวน 2 ครั้ง และเป็นการใช้คณะทหารบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกภายใน 24 ชั่วโมง 1 ครั้ง

ผลแห่งการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ดี ก็มักจะต้องตามมาด้วยการมีรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองฉบับต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เป็นฉบับที่ 18 แล้ว

รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับก็เป็นผลพวงภายหลังจากการปฏิวัติ-รัฐประหารทั้งสิ้น จะแตกต่างก็ตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นมีความก้าวหน้ามากที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางตรงกับรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดการให้มีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และนับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยจำนวนคะแนนถึง 14 ล้านเสียง

เป็น 14 ล้านเสียงที่ชนะพรรคพลังประชาชน และเหล่าคนรักทักษิณ ที่รณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ฝ่ายเดียวอย่างชัดเจน

เป็น 14 ล้านเสียงที่มากกว่าพรรคพลังประชาชนที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรด้วยจำนวนประชาชนที่มีเสียงสนับสนุน 12 ล้านเสียง

ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่พรรคพลังประชาชนและไม่เคยรณรงค์หาเสียงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีจำนวนเสียงรวมกันถึง 19 ล้านเสียง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และทรงพระราชดำริที่ไม่เคยปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเล่มใดมาก่อนว่า:

“สมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน”

และทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมปรากฏในราชกิจจานุเบกษาในการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้อีกว่า:

“ขอปวงชนชาวไทย จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย...”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จากที่ต้องการแก้ไขเพียงบางมาตรา 237 เพื่อคดียุบพรรค และมาตรา 309 เพื่อหนีคดีทุจริตของตัวเองและพวกพ้อง เมื่อถูกประชาชนจับได้ไล่ทันก็เลยต้องมาทำเป็นเฉไฉว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

พอเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะใช้เวลานาน ก็เลยต้องหักดิบมาเป็นว่าจะหยิบรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งฉบับ มาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อการแก้ไขให้ได้อย่างรวดเร็วอีก

นี่คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้มาจากการพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชนใช่หรือไม่?

นี่คือการฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยไม่แยแสประชาชนที่ลงประชามติถึง 14 ล้านเสียง แก้กฎหมายเพื่อตัวเองและพวกพ้องได้พ้นจากการพิพากษาของศาล ใช่หรือไม่?


ถ้านักการเมืองฝ่ายบริหาร จับมือกับฝ่ายนิติบัญญัติที่ฉ้อฉลเพียงไม่กี่ร้อยคนสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและมาจากการลงประชามติของมหาชน เพื่อทำให้ตัวเองและพวกพ้องถูกตัดตอนพ้นผิดจากคดีความต่างๆได้สำเร็จ ก็ย่อมเท่ากับว่าประเทศไทยได้ถูก ”ปฏิวัติเงียบ” ไปเรียบร้อยแล้ว

เป็นการ “ปฏิวัติเงียบ” โดยการสถาปนาอำนาจการปกครองในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ว่าฝ่ายใดหรือสถาบันใดเป็นอุปสรรคขวากหนามของฝ่ายการเมือง ก็จะถูกจำกัดและกำจัดออกไปด้วยเผด็จการในรัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายโดยไม่สนใจแม้กระทั่งเสียงประชามติของมหาชน

เป็นความต่อเนื่องที่เริ่มแทรกซึมมาก่อนหน้านี้ในการปฏิวัติเงียบด้วยการกระชับอำนาจ บีบบังคับ กลั่นแกล้ง และโยกย้าย ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต และปูนบำเหน็จให้ข้าราชการที่เป็นพวกพ้องเพื่อไปกลั่นแกล้งทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและข่มขู่คุกคามองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

เป็นความพยายามในการปฏิวัติเงียบที่อำพรางไปด้วยการระดมมวลชนครั้งใหญ่ ผ่านแนวร่วมในการทำบุญ 99 วัดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้อนรับด้วยข้าราชการอย่างอุ่นหนาฝาคั่งยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีคนใด ควบคู่ไปกับการรบด้วยสื่อของรัฐที่โฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง อันเป็นการสร้างกระแสการเมืองกดดันในฝ่ายอำนาจตุลาการอย่างชัดเจน ใช่หรือไม่?

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังก้าวเดินไปสู่ห้วงเวลาสุดท้ายแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่มีเดิมพันสูงยิ่งนัก และการปฏิวัติครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝั่ง ทั้งจากฝ่ายระบอบทักษิณ กับ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามอำเภอใจสำเร็จ ก็ต้องถือว่าระบอบทักษิณได้ปฏิวัติอำนาจตุลาการได้เป็นผลสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จระบอบทักษิณก็อาจจะต้องถูกปฏิวัติโดยอำนาจตุลาการในท้ายที่สุด

เอาเข้าจริงก็น่าจะเชื่อได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของระบอบทักษิณ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับตัวเองและพวกพ้องไม่น่าที่จะทำได้สำเร็จได้โดยง่าย ถ้าไม่เนิ่นนานล่าช้า ก็ต้องติดอุปสรรคในเรื่องข้อกฎหมาย ติดปัญหาการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล หรือมิเช่นนั้นก็ต้องถูกต่อต้านจากประชาชนอย่างมหาศาล

ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือมีอันต้องยืดเยื้อต่อไป ก็จะถูกปัญหารุมเร้าด้วยคดียุบพรรค คดีทุจริต ที่จะยังคงเดินหน้าต่อไป แถมด้วยปัญหาการเข้าชื่อของประชาชนจำนวน 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองทั้งๆที่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์อีกด้วย

เมื่อถึงขั้นตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะมีอยู่เพียง 3 ทางเลือก

ทางเลือกแรก เดินเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลแต่โดยดี หากได้ชัยชนะก็จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หากพ่ายแพ้ก็จะกลายเป็นนักโทษ

ทางเลือกที่สองหากไม่มั่นใจว่าจะชนะคดีความได้ ก็อาจจะต้องถ่วงเวลาในทุกวิถีทาง เดินหน้าล็อบบี้ทุกรูปแบบ

หากไม่สำเร็จ ก็อาจจะต้องเดินทางหนีไปต่างประเทศจนกว่าจะได้อำนาจได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง

ถ้าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว และถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงไม่มั่นใจในคดีความของตัวเองต่อไป การได้อำนาจในการปกครองประเทศกลับคืนมาด้วยวิธีปกติของเหล่านอมินีและพวกพ้อง ย่อมไม่สามารถหยุดยั้งคดีความทั้งหมดที่อยู่ชั้นการพิจารณาของศาลได้

แล้วการได้อำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีอื่นที่จะทำให้หยุดยั้งคดีความที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลได้ จะมีอะไรบ้างที่นอกเหนือไปจากการปฏิวัติ?

ถ้านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ยังคงจับมือกันอย่างแน่นหนาไม่ให้เหล่าทหารก่อการปฏิวัติ- รัฐประหารขึ้นมาอีก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะล้มกระดานและเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศเพื่อล้มล้างคดีตัวเองได้อย่างไร?

ทางเลือกที่สาม มวลชนจากการเดินสายทำบุญ 99 วัด ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเวลานี้จึงเป็นที่น่าจับตาในเดิมพันครั้งสำคัญของประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าระบอบทักษิณทำได้สำเร็จก็จะเป็นการปฏิวัติประเทศครั้งสำคัญ

แต่ถ้าหากการปฏิวัติ หรือ การรัฐประหารที่กล่าวมาข้างต้นไม่สำเร็จแล้ว บางทีเราต้องมาเรียนรู้อีกคำหนึ่งในทางกฎหมายที่เรียกว่า “กบฏ” เพื่อที่จะได้เตือนให้ทราบโดยทั่วกันก่อนว่า

ตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดที่ 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ในมาตรา 133 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า:

มาตรา 133 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่ง ส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำการความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น