xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตพลังงาน-โลกร้อนแก้ไม่ได้ชั่วข้ามคืน แต่ลดได้ด้วยพฤติกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ. ดร.จำนง สรพิพัฒน์
เจจีซี - ปัญหาวิกฤตน้ำมัน เกิดจากความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลที่มากเกิน เกิดภาวะโลกร้อนสืบเนื่องตามมา นักวิจัย JGSEE ระบุ ไม่อาจแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน ต้องค่อยเป็นค่อยไป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

พลังงานฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ มีการนำมาใช้ในด้านต่างๆ ทั้งภาคการขนส่ง และการเกษตร ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีความขาดแคลนอยู่ในขั้นวิกฤต จากสถิติของกระทรวงพลังงาน ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่มีความสำคัญต่อภาคการขนส่ง เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านลิตร ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าในด้านใดก็ตาม จะมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไดไนโตรเจนออกไซด์ ออกมาด้วยทุกครั้งไป ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนตามมา

ในงาน 10 ปี JGSEE กับการแก้ไขปัญหาพลังงาน-สิ่งแวดล้อม โดย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงมีการเสวนา เรื่อง วิกฤตพลังงานและภาวะโลกร้อน ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาดังกล่าว และเตรียมตัวรับมือกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะยังคงมีอยู่ไปอย่างต่อเนื่อง

ผศ. ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน JGSEE กล่าวถึงสาเหตุของวิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นว่า วิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สามแล้ว โดยครั้งแรกนั้นเกิดใน พ.ศ. 2516 หลังสงครามอาหรับและอิสราเอล ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2523 ช่วงปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองช่วงนั้นกำลังการผลิตน้ำมันของผู้ผลิตมีเพียงพอ แต่ไม่ยอมผลิตเพื่อส่งออก เรียกว่าเป็น supply site crisis ทำให้เกิดวิกฤตขึ้น

ส่วนครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ในช่วงหลังสงครามสหรัฐอเมริกากับอิรักครั้งที่ 2 ซึ่งความต้องการน้ำมันมีเพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนและอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันเท่ากับประชากรหนึ่งในสามของโลก มีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ 10 เปอร์เซ็นต์ และ 8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ขณะเดียวกันระหว่าง พ.ศ. 2533-2543 เป็นช่วงสิบปีที่ราคาน้ำมันถูกมาก หนึ่งลิตรไม่ถึงยี่สิบบาท ทำให้บริษัทน้ำมันต่างๆ ไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขุดเจาะน้ำมัน เมื่อความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช้าๆ ทำให้การผลิตน้ำมันไม่ทันต่อความต้องการใช้ของประชากรโลก เพราะกว่าที่จะพบบ่อน้ำมัน และพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นน้ำมันเพื่อให้ใช้ได้นั้น บ่อหนึ่งก็ใช้เวลารวมแล้วประมาณสิบปี

ความต้องการใช้น้ำมันจึงมีมากเกินขีดความสามารถของการผลิต บรรดาผู้ค้าน้ำมันจึงหันมาขุดเจาะน้ำมันกันอย่างมาก

เมื่อมีการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ จึงเกิดคำถามว่า แล้วปัจจุบันน้ำมันที่อยู่ใต้พื้นพิภพนี้ใกล้จะหมดหรือยัง เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโลกเรากำลังจะเข้าสู่วิกฤตหมดน้ำมันใช้

ผศ.ดร.จำนง กล่าวว่า มีความเชื่ออยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกเชื่อว่า เรามาถึงจุดนั้นแล้ว หรืออย่างช้าอีกไม่เกินสี่ปี ส่วนอีกกลุ่มเชื่อว่า ยังไม่ถึง เรายังมีโอกาสขุดพบน้ำมันอีก เพราะยังไม่มีการเจาะในทะเลลึก ที่อยู่ลึกลงไป 20-30 กิโลเมตร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าพลังงานฟอสซิลหมด ระบบเศรษฐกิจของโลกก็คงย่ำแย่ เพราะเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็น เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานพลังงานฟอสซิลทั้งหมด เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องกินข้าวเป็นอาหาร หากเปรียบมนุษย์เป็นระบบเศรษฐกิจของโลก แล้วเปรียบพลังงานเป็นเหมือนข้าวของระบบ ถ้าไม่มีข้าว มนุษย์ก็ตาย

นอกจากปัญหาน้ำมันที่ทั่วโลกกำลังประสบ ยังคงมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ ภาวะโลกร้อน ที่กล่าวถึงกันมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ รศ. ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม JGSEE กล่าวว่า สาเหตุของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเพราะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเกินกว่าปกติ จนเกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตัวการที่สำคัญคือ คาร์บอนไดออกไซด์

โดยระหว่าง พ.ศ. 2293-2548 เป็นช่วงสองร้อยปีที่เรานำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ พบว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจาก 280 ppm เป็น 379 ppm ซึ่งหากเพิ่มขึ้น 450 ppm จะเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่มนุษย์จะทนได้ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งสามตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไดไนโตรเจนออกไซด์นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย หรือหมายถึงมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่อาจหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกได้เพียงชั่วข้ามคืน เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาที่ได้รับการสะสมมานาน เพราะพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2546 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยของประเทศไทยมีค่าเพิ่มขึ้น อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และร้อนขึ้นเรื่อยๆ

อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ นี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกแน่นอน และที่น่าสนใจคือ บริเวณขั้วโลกใต้ เพราะว่าก้อนน้ำแข็งเกิดขึ้นเหนือแผ่นดิน หากน้ำแข็งละลายก็จะมีผลกระทบกับโครงสร้างแผ่นดินข้างล่าง ทำให้เกิดโพรงใต้ดินมากขึ้น ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นช่วงนี้นั้น อาจเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ก็เป็นได้

รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เราทุกคนจะหยุดหายใจวันนี้ อุณหภูมิของโลกก็คงไม่ได้เย็นขึ้นแต่อย่างใด ถ้าหากเราต้องการรักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกไม่ให้มากเกินไปกว่านี้ เราต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ถึงจะทำให้โลกในอนาคตไม่มีก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ซึ่งเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้คือ ต้องลดประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50-85 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยใน พ.ศ. 2543

และเมื่อกล่าวถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ทุกประเทศต้องการให้เติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในแง่ของทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ก็คือการสร้างผลผลิตและบริการให้เติบโต ซึ่งทุกปีที่ผ่านมา การสร้างผลผลิตและบริการให้เติบโตเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการใช้ทรัพยากรของโลกทั้งสิ้น ทั้งไม้และพลังงาน และโชคไม่ดีที่ว่า เทคโนโลยีที่เราพัฒนากันมาตลอด 200 ปี เป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเราจะแก้ปัญหาชั่วข้ามคืนไม่ได้

ในเมื่อเราไม่อาจช่วยโลกได้เพียงชั่วข้ามคืน แล้วเราจะรับมือกับภาวะวิกฤตน้ำมันและภาวะโลกร้อนนี้อย่างไร ซึ่ง ผศ.ดร.จำนง กล่าวว่า การจะช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น สิ่งที่เราจะช่วยกันได้คือ เราต้องลดที่ปลายทาง อันได้แก่ บ้านเรือน และอุตสาหกรรมต่างๆ เรื่องการประหยัดพลังงานนั้นนับว่ามีความสำคัญมากกว่าการจัดหาพลังงาน

แต่ประเทศเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ โดยมองไปที่การหาแหล่งพลังงานใหม่แทน ทั้งที่ต้นทุนมากกว่า ที่จริงแล้ว เราควรลดการใช้พลังงานจนกระทั่งทำได้เต็มศักยภาพก่อน แล้วเราค่อยไปหาแหล่งใหม่ จึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

แต่ตอนนี้เราเหมือนคนเป็นโรคพยาธิ มีพยาธิในท้องมาก กินข้าวไม่ถึงชั่วโมงก็หิวแล้ว แต่ไม่ยอมถ่ายพยาธิ กลับหาข้าวให้กินอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาของเรา ยิ่งช่วงปัญหาวิกฤตน้ำมันแพงเช่นนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือในภาคการขนส่ง ซึ่งถ้าเราจัดการตรงนี้ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ

อีกการช่วยเหลือหนึ่งคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร อุปกรณ์ และการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น พลังงานลม แสงแดด น้ำ เป็นต้น

เรื่องของการจัดการพลังงานให้ได้ดีนั้นมีอยู่สามประเด็น คือ ปรับพฤติกรรมของเรา เช่น เมืองร้อนอย่างเมืองไทย ไม่ต้องใส่สูทไปทำงานก็ได้ เพราะเมื่อใส่สูทก็จะร้อน ทำให้ต้องไปปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศอีก เลือกเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เมื่อต้องเปลี่ยนของเก่า

"อย่างเช่น เมื่อต้องเปลี่ยนหลอดไฟ ก็สามารถเลือกเป็นแบบหลอดผอมได้ ส่วนประเด็นสุดท้ายจะเน้นที่ผู้ประกอบการ คือ เปลี่ยนกระบวนการของการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น วิเคราะห์การผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สร้างบ้านที่เย็นสบายได้โดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งถ้าเรามีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการก็จะช่วยได้" ผศ. ดร.จำนง กล่าวเสริม

การพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อความเจริญของมนุษย์ที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรต่างๆ ของโลกอย่างมากมายเหลือเกิน จนโลกแทบจะทนไม่ไหวแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง คืนสิ่งดีๆให้กลับสู่โลกบ้าง อย่างน้อยก็จะส่งผลต่อโลกในระยะยาว เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง

(เรื่องและภาพจาก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE))
รศ. ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร
กำลังโหลดความคิดเห็น