xs
xsm
sm
md
lg

"ธุรกิจขยะ" สร้างรายได้จากของทิ้งให้ครัวเรือนปีละ 3 พัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายรณรงค์การคัดแยกขยะที่นำมาจัดแสดงในงาน ซึ่งชี้ชวนให้ทุกคนเห็นว่าขยะที่แท้แล้วก็คือทรัพยากรอย่างหนึ่ง ที่ไม่ไร้ค่าอย่างที่ใครคิด อย่างขยะพลาสติกที่มีค่าถึง กก.ละ 11 บาท และคอมพิวเตอร์เก่าก็ยังมีค่าถึง กก.ละ 8 บาท
คนวงในระบุเราเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะ จากเดิมคุยกันว่าจะจำกัด เผาหรือฝังกลบขยะอย่างไร ขยับสู่การเสวนาหาทางสร้างธุรกิจ เผยข้อมูลขยะจากครัวเรือนสร้างรายได้ปีละเกือบ 3 พันบาท

ชี้ภาคธุรกิจไทยตื่นตัวกับการรีไซเคิลขยะมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากของเสียให้มากที่สุด แนะคนไทยควรเห็นความสำคัญของขยะ ชี้ 95% ของขยะเหมือนทองคำ สร้างเม็ดเงินได้วันละ 8 บาท ระบุยุคนี้คือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมรีไซเคิล ต่อไปขยะจะขาดตลาด


"ขยะไม่ไร้ค่า" คงเป็นคำกล่าวที่ยากจะปฏิเสธในยุคที่การรีไซเคิลก้าวหน้าขึ้น ซึ่งล่าสุดผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้ร่วมในงานของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดเสวนา "การเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ไปสู่ธุรกิจด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.51 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการรีไซเคิลขยะในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้สอบถามนายบุญศักดิ์ สถิตมั่นในธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทแก้วกรุงไทย จำกัด ซึ่งระบุว่า ธุรกิจและอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะของไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีแล้วระดับหนึ่ง ทำให้มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย พร้อมเท้าความว่า กระแสการรีไซเคิลขยะในไทยเริ่มต้นตั้งแต่กรณีคนถีบซาเล้งขโมยซากโคบอลต์ 60 เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จุดกระแสให้สังคมหันมาให้ความสำคัญที่จะจัดการขยะมากขึ้น

"อย่างไรก็ดี กระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการนำกลับมาใช้ใหม่ก็จูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการเองก็พยายามใช้ประโยชน์จากของเสียในภาคการผลิตให้เหลือทิ้งน้อยที่สุดด้วย" นายบุญศักดิ์กล่าว

ธุรกิจการรีไซเคิลขยะที่สำคัญของไทยคือ การคัดแยกขยะเพื่อเป็นวัตถุดิบนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเดิมมีรากฐานที่แข็งแกร่งจากระบบผู้ค้าของเก่าซึ่งใช้แรงงานคนคัดแยกขยะ ทว่าก็มีการเปิดรับเครื่องจักรทดแทนมากขึ้น เช่น การคัดแยกขยะเศษแก้วได้มีการใช้เครื่องพ่นลมแยกขยะน้ำหนักเบาออกจากเศษแก้ว แม่เหล็กดูดเศษโลหะออก ฯลฯ กระนั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังไม่เข้มข้นนักเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่รัฐจะเข้าจัดการด้วยตัวเองหรือการออกสัมปทานแก่เอกชนเข้าจัดการ

ส่วนเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในความสนใจอย่างการเปลี่ยนเศษชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงเหลว หรือแม้แต่การผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสียนั้น กรรมการผู้จัดการบริษัทแก้วกรุงไทย จำกัด มองว่า ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นสำหรับประเทศไทย เป็นการเปิดตัวให้สังคมรับรู้ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะไปรอดได้หรือไม่ และยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก

ขณะที่การรีไซเคิลขยะในครัวเรือนก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ ผู้จัดทำคู่มือการคัดแยกขยะประจำบ้านโดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ชี้ว่า ประชาชนทุกคนสามารถช่วยรีไซเคิลขยะในชีวิตประจำวันได้ โดยการเห็นว่าการแยกขยะเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำเหมือนกับกิจวัตรประจำวันอื่นๆ ซึ่งจะทำให้แทบจะไม่เกิดของเสียในครัวเรือนเลย แถมยังทำให้เกิดรายได้จากการขายขยะ

ทั้งนี้เพราะประมาณ 95% ของขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นขยะที่นำกลับมาสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้ใหม่ได้ มีค่าเปรียบกับทองคำ อาทิ เศษแก้ว กระดาษ และโลหะ คิดเป็นมูลค่าประมาณวันละ 8 บาทต่อคน โดยจะต้องมีการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแก่ประชาชนตั้งแต่วัยเรียน ซึ่งยังจะนำไปบอกต่อแก่สมาชิกในครอบครัวได้รู้ตามด้วย ที่ในที่สุดแล้ว ขยะจะเป็นที่ต้องการและขาดตลาดในที่สุด

"จากการที่ผมดูสถานการณ์ขยะมากกว่า 30 ปี ผมมองว่ายุคเรานี้คือเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสหากรรมการรีไซเคิลครั้งใหญ่ ปี 2551 นี้คือยุคที่เริ่มเกิดประกายดังกล่าวมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจ จากแต่ก่อนวงเสวนาจะเป็นการแนะนำว่าเราจะจัดการทำลายขยะอย่างไร เราจะเผาทำลายหรือฝังกลบอย่างไร แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเราจะสร้างธุรกิจจากขยะได้อย่างไร"ดร.สมไทยกล่าว

ส่วนนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งมี อบต.ในสังกัดกว่า 8,000 แห่งเพื่อนำองค์ความรู้ด้านการนำขยะกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีสู่การปฏิบัติจริงและอธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ในที่สุด
นายบุญศักดิ์ สถิตมั่นในธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทแก้วกรุงไทย จำกัด
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์
วุฒิพงศ์ ฉายแสง
กำลังโหลดความคิดเห็น