xs
xsm
sm
md
lg

ดุลยภาพทางการกีฬา / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

การที่ภาคธุรกิจเริ่มเข้ามาสนับสนุนวงการกีฬาทั่วโลกตั้งแต่ยุคปี 70 ทำให้กีฬาชนิดต่างๆมีสีสัน มีความคึกคักขึ้นเรื่อยมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่เกี่ยวข้องพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กระจายสู่ผู้คนจำนวนมาก มาถึงปัจจุบัน เรากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไป นั่นคือ เราต้องทวงถามหาดุลยภาพทางการกีฬาจากองค์กรที่ควบคุม ดูแลกีฬาชนิดต่างๆในระดับนานาชาติอย่างจริงจังแล้ว เพราะที่ผ่านมานั้น มันไม่ได้เกิดความยุติธรรมเลย ชาติมหาอำนาจทางการกีฬาเท่านั้นที่ตักตวงเอาผลประโยชน์เนื้อๆ คงทิ้งให้ชาติด้อยพัฒนาทางการกีฬาเป็นผู้ชมที่ไม่มีปากมีเสียงอยู่ร่ำไป

ผมขอยกตัวอย่างเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงลอนดอน มีประชากรกว่า 3 ล้านคน หลายคนเรียก แมนเชสเตอร์ ว่า เป็นเมืองหลวงแห่งภาคเหนือ จากประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆทำให้เราได้ทราบว่า หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เมืองนี้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีอุตสาหกรรมเหล็กและเสื้อผ้า โดยเฉพาะ ครองความเป็นจ้าวแห่งเท็กซ์ทายล์ ( Textile ) มีโรงงานทอผ้ามากมาย กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเสื้อผ้าของโลก จนได้รับฉายาว่า คอทโทโนโพลิส ( Cottonopolis ) แต่ในยุคปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล่านี้เจ๊งไปหมดแล้ว แมนเชสเตอร์ต้องหันมาเอาดีทางดนตรี กีฬา การศึกษา และธุรกิจ มีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องดังๆ มีมหาวิทยาลัยเลื่องชื่อขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น University of Manchester ที่มีนักศึกษาปีๆหนึ่ง 7 หมื่นกว่าคน และที่สำคัญ มีสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ 2 สโมสรคือ แมนเชสเตอร์ ยูนายเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมืองแมนเชสเตอร์ในปัจจุบันอยู่ได้ด้วยสิ่งเหล่านี้

ในปี 1962 โครงการทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า Cambridge Growth Project ได้ให้กำเนิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า Social Accounting Matrix ( SAM ) หรือ ตัวคูณทวี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการคำนวณหาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อเราใส่เม็ดเงินลงไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แล้วเกิดการบริโภคต่อเนื่อง อย่างเช่นในกรณีของการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวคนหนึ่งใช้จ่ายเงินเป็นค่าโรงแรม ค่าอาหาร ทางร้านอาหารก็ย่อมมีรายได้ และต้องซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาปรุงอาหาร นั่นหมายความว่า บรรดาห้างร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ขายสินค้าอย่างน้อยก็เนื้อ หมู ไก่ ไข่ ผัก พลอยมีรายได้ไปกับเขาด้วย เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่อยู่ต้นทางยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงปลายทางคือ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ด้วย ดังนั้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น เขาใช้ทฤษฎี SAM เป็นตัวคูณทวี ทำให้เราตระหนักว่า เงินเพียง 1 บาทที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายนั้น ไม่ได้มีค่าต่อประเทศนั้นๆเพียงแค่บาทเดียว แต่มันเป็นหลายเท่าตัว อย่างน้อยก็มากกว่า 1 บาทแน่นอน ทั้งนี้ ธุรกิจใดจะต้องคูณกี่เท่าตัวย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้นสามารถทำให้เกิดการบริโภคต่อเนื่องได้มากมายขนาดไหนนั่นเอง

ในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจกีฬานั้น ท่านผู้อ่านคงจะเดาได้ว่า ผลประโยชน์ที่เกิดจากสโมสรฟุตบอลทั้ง 2 แห่งในเมืองนี้เป็นจำนวนเงินมหาศาลเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นค่าบัตรเข้าชมการแข่งขัน การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่างๆ ตลอดจนลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโทรทัศน์ ฯลฯ เพราะเมื่อเม็ดเงินจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามา ก็เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้คนมากมายหลายชีวิต เงินแพร่สะพัด การท่องเที่ยวของประเทศนั้นก็ยังเจริญเติบโตในอัตราสูง นี่เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการพัฒนาทางการกีฬาระดับสูง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้ยิน เซ็พพ์ บลัทเทอร์ ( Sepp Blatter ) ประธานฟีฟาออกมาเอ็ดตะโรเกี่ยวกับเรื่องการเรียงหน้าเข้าเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษโดยบรรดานายทุนต่างชาติ โดยตอนนี้หนักข้อเข้าไปอีก เซ็พพ์ กำลังพยายามเข้าไปขออำนาจถึงสภายุโรป ( European Union ) ให้ออกมาดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อสกัดกั้นอย่างสุดฤทธิ์ หมอนี่บอกว่าพวกมหาเศรษฐีเหล่านั้นเข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลง่ายๆราวกับการซื้อเสื้อฟุตบอลเอามาสวมใส่เล่นตัวหนึ่ง ซึ่งความจริงพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีความชื่นชอบ ผูกพันในกีฬาฟุตบอลเลยแม้แต่น้อย บางคนผ่าไปคลั่งไคล้การแข่งม้าซะด้วยซ้ำ อย่างในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศบ้านเกิดของ เซ็พพ์ ยังมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อนักธุรกิจจะเข้าซื้อกิจการใด ก็ต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่า ตนเองมีความรู้ ความเข้าใจ มีความเกี่ยวพันกับกิจการนั้นๆจริงๆ ไม่ใช่ซื้อแล้วเอาไปบริหารแบบไม่รู้เรื่อง บริหารแบบตามใจตนเอง เพราะซื้อมาไว้เป็นของเล่นประดับบารมีเฉยๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านไปแล้วว่า บรรดามหาเศรษฐีที่เข้าซื้อกิจการสโมสรกีฬาต่างๆเหล่านั้น พวกเขาก็ย่อมหวังที่จะทำกำไรจากธุรกิจดังกล่าวเป็นธรรมดา นอกจากนั้น ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างโครงข่ายสโมสรพันธมิตรในประเทศของพวกเขา ซึ่งเป็นการพัฒนาวงการกีฬาในประเทศของตนเองที่มาตรฐานต่ำให้ทัดเทียมกับประเทศที่มีนักกีฬาระดับโลก การสร้างดุลยภาพทางการกีฬาให้เกิดกับทั่วโลกคงไปขัดผลประโยชน์อย่างแรง ทำให้ เซ็พพ์ บลัทเทอร์ กับ มีเชล ปลาตินี ไม่สบอารมณ์และหาทางสกัดกั้นครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น