xs
xsm
sm
md
lg

ตกลงใครปิดสนามบินกันแน่หือ..นายเสรีรัตน์?!?

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

ข้อเขียนของคุณสุเทพ อัตถากร เรื่อง “ยึดสนามบินไทย-ฝรั่งวัฒนธรรมการเมืองที่ต่างกัน” เมื่อวันขึ้นปีใหม่ในนิตยสารเส้นทางไทยถือเป็นข้อสังเกตอันดีที่มีต่อประเด็นการกล่าวหา “พันธมิตรฯ ปิดสนามบินฯ” อันนำไปสู่มติที่บอร์ดการบินไทยจะฟ้องเรียกค่าเสียหายแกนนำพันธมิตรฯ ราว 2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และยังไม่รวมถึงความพยายามของตำรวจที่จะรวบรวมหลักฐานเอาผิดแกนนำพันธมิตรฯ ในข้อหาฉกาจฉกรรจ์ เช่น ก่อการร้าย บุกยึดระบบขนส่งมวลชนของประเทศ

คุณสุเทพ อัตถากรได้ตั้งข้อสังเกตย้อนกลับไปในเหตุการณ์เมื่อ 25 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากทำเนียบรัฐบาลมุ่งหน้าไปยังสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เพื่อกดดันให้นายกฯ สมชายลาออกจากตำแหน่ง แต่การชุมนุมกินพื้นที่ เฉพาะบริเวณที่เป็นทางรถวิ่งจอดรับ-ส่งผู้โดยสารด้านนอกเท่านั้น มิได้เข้าไปยึดหรือเกี่ยวข้องภายในตัวอาคารสนามบินแต่อย่างใดเลย และตลอดคืนวันนั้นจนกระทั่งถึงเวลา 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เครื่องบินเที่ยวบินต่างๆ ยังคงสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เรียกได้ว่า เจ้าหน้าที่การท่าฯ นอกจากจะยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงที่ควรแจ้งข่าวไปยังผู้โดยสารอื่นๆ และหน่วยงานต่างๆ แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของการท่าฯ ก็มิได้กระทำ กลับอ้างว่าผู้โดยสารต้องเสียเวลา หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องเสียเวลาเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าจะปิดสนามบิน

ความจริงแล้วเมื่อผู้ชุมนุมมานั่งชุมนุมอยู่ข้างนอก ปราศรัยและร้องเพลงกันมาหลายชั่วโมงตลอดคืน เครื่องบินขึ้นลงได้เป็นปกติตลอดคืนจนถึงช่วงสายของวันรุ่งขึ้น จึงมีคำถามแรกที่ควรถูกถามด้วยความสงสัยก็คือ ผู้ว่าการท่าอากาศยานฯ สั่งปิดท่าอากาศยานฯ นั้นในเวลาต่อมา ชอบด้วยเหตุด้วยผลโดยสุจริตใจหรือไม่ หรือด้วยมีเหตุจูงใจประการอื่น

ประการนี้ดิฉันขอหยิบยกหลักฐานการรายงานข่าวของสำนักข่าวโทรทัศน์และทางเว็บไซต์หลายสำนัก อาทิ INN ที่ออกมาระบุเมื่อเวลา 21.50 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายนว่า

“นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เป็นผู้ประกาศ ปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนขาออกระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราวแล้ว พร้อมประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าช่วยดูแล ส่วนขาเข้ายังยังเปิดให้บริการตามปกติ ผู้โดยสารสามารถเข้ามาภายในประเทศได้ …”

ชี้ให้เห็นว่า 1. ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้มีอำนาจตัดสินใจสั่งปิดสนามบินคือนายเสรีรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. เป็นการประกาศปิดสนามบินผ่านสื่อมวลชน 3. เป็นการประกาศปิดเฉพาะขาออกระหว่างประเทศ แต่ขาเข้ายังให้บริการแสดงว่านายเสรีรัตน์ใช้วิจารณญาณเฉพาะตัว ในการเลือกที่จะปิดเพียงบางส่วน มิใช่ลักษณะของการหยุดให้บริการของสนามบินทั้งหมด ทันทีที่มีผู้ชุมนุมมารวมตัวอยู่ด้านนอก

คำถามที่จะมีต่อมาก็คือว่า แล้วนายเสรีรัตน์ใช้ระเบียบข้อไหนเป็นเครื่องชี้วัดการตัดสินใจในการสั่งปิดสนามบิน เมื่อตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิมีการแบ่งพื้นที่การดูแลออกเป็น พื้นที่นอก-ในอาคารผู้โดยสาร จุดตรวจค้นก่อนขึ้นอากาศยาน (อ้างอิงจากในเว็บไซต์ ทอท.) เช่นเดียวกับสนามบินทั่วไปที่จะกันพื้นที่ออกเป็น 2 โซนใหญ่ๆ คือ โซนสำหรับเครื่องบินขึ้น-ลง ซึ่งรวมถึงหอบังคับการบิน อันอาจเรียกว่าเป็นส่วนที่ต้องมีความปลอดภัยสูงสุด กับพื้นที่รอบนอกสำหรับการสัญจรสำหรับยานยนต์รับส่งผู้โดยสาร

และในเมื่อภาพที่ปรากฏผ่านสื่อฯ ทั่วไปชี้ให้เห็นว่า ผู้ชุมนุมในวันนั้นมีการรวมตัวอย่างสงบที่ด้านนอกอาคารโดยมีผู้นำการชุมนุม (ในเวลานั้น คือ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ) ที่คอยควบคุมฝูงชนได้เป็นอย่างดี จนไม่มีผลในอันจะขัดขวางการขึ้นลงของเครื่องบิน คำถามคือ คุณเสรีรัตน์ .. คุณสั่งปิดสนามบินทำไม

ในทางกลับกันต้องยอมรับว่าสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้ถูกใช้เป็นสมรภูมิของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมครั้งแรก แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ตุลาคม ปีเดียวกัน กลุ่มคนขับแท็กซี่กว่า 300 คนได้บุกปิดทางเข้า-ออก พร้อมขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานฯ ในจุดเดียวกับที่มีการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ แทนที่คุณเสรีรัตน์จะใช้มาตรการเดียวกับที่ใช้กับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่กลับใช้วิธีการเจรจาโดยยอมอ่อนข้อให้ กลุ่มคนขับแท็กซี่ดังกล่าว คิดอัตราค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายตามที่มีการเรียกร้อง แสดงว่าสองเหตุการณ์ที่ว่านี้ มีการเลือกปฏิบัติใช่หรือไม่

ในบทความของคุณสุเทพ อัตถากรยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่การท่าอากาศยานฯ จำเป็นต้องสั่งปิดสนามบินตามที่อ้าง แต่ทำไมกลับไม่มีการปฏิบัติตามหลักสากลการบิน ที่ตามปกติ ในปฏิบัติการของท่าอากาศยานฯ ต่างๆ ทั่วโลก จักต้องมีการเตรียมสนามบินสำรองเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินทันที อย่างในเมืองไทยก็มีสนามบินอู่ตะเภา สนามบินโคราช สนามบินขอนแก่น สนามบินอุดรฯ และสนามบินเชียงใหม่ในทันที เพื่อรองรับเที่ยวบินที่ตกค้าง

สำหรับประเด็นนี้ มีรายงานอ้างอิงระบุว่า ในวินาทีฉุกเฉินทางการท่าฯ ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการประกาศผ่านเสียงตามสายหยุดให้บริการการบิน และขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกสนามบิน โดยอ้างว่าเกิดความวุ่นวายขึ้นภายในสนามบินสุวรรณภูมิ การปิดให้บริการโดยไม่มีมาตรการรองรับดังกล่าว ทำให้มีผู้โดยสารที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ตกค้างทันทีราว 1 หมื่นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯ จนแกนนำพันธมิตรฯ ต้องประสานขอความช่วยเหลือเรื่องนี้จากพล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน อดีตประธาน คมช.ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันออกกลางเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

รายงานข่าวอ้างด้วยว่า 29 พฤศจิกายน 2551 นายเสรีรัตน์ได้ตัดสินใจซ้ำสองที่จะให้มีคำสั่งปิดสนามบินสุวรรณภูมิต่อเนื่องอีก 48 ชั่วโมง จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ส่งหนังสือถึงนายเสรีรัตน์โดยยืนยันว่า ตามที่พันธมิตรฯ ได้มาชุมนุมอยู่ที่บริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ และด้านหน้าของสนามบินดอนเมืองนั้น พันธมิตรฯ ขอชี้แจงว่า มิได้เข้าไปชุมนุมในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของเครื่องบินทั้งในส่วนของลานบิน หลุมจอด หอบังคับการบิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขึ้นหรือลงเครื่องบินของสนามบินทั้ง 2 แห่ง

ความผิดพลาดในการทำหน้าที่ของนายเสรีรัตน์ ยังถูกย้ำด้วยรายงานข่าวในเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2551

“..เมื่อมีการอ้างแหล่งข่าว ในคณะกรรมการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือที่ประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ได้ตั้งข้อสังเกตการณ์คำสั่งปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของนายเสรีรัตน์ ว่า ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอน และระเบียบปฏิบัติ ซึ่งการสั่งปิดสนามบินเป็นเรื่องใหญ่ และก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะการออกประกาศผ่านสื่อมวลชนก่อนที่จะมีการแจ้งให้กับสายการบิน และผู้ประกอบการทราบก่อน ทำให้เกิดความสับสน มีหลายเที่ยวผ่านออกไปโดยไม่ได้ผ่านการตรวจค้น นอกจากนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมิได้ออกประกาศแจ้ง NOTAM หรือ ผู้ปฏิบัติการทางอากาศไปยังสายการบินต่างๆ ว่าจะมีการปิดการใช้อาคารผู้โดยสาร”

รายงานระบุว่า นายเสรีรัตน์ได้แสดงความรับผิดชอบต่อบอร์ด ทอท.โดยอ้างว่า หากเห็นว่าตนทำงานบกพร่องก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการ ผอ.ท่าอากาศยานฯ เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ตนได้เป็นผู้ตัดสินใจสั่งปิดสนามบินจริง และยอมรับต่อผลที่จะเกิดขึ้น และแม้ว่าบอร์ดการท่าฯ จะเห็นว่าจำเป็นต้องให้นายเสรีรัตน์อยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า นายเสรีรัตน์จะปฏิเสธการชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจปิดสนามบินของนายเสรีรัตน์ได้พ้น

ดังนั้น ในกรณี ที่ ทอท. มีการประเมินความเสียหายจากการปิดสนามบินออกมาวันละ 60 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-4 ธ.ค. รวมมูลค่ากว่า 540 ล้านบาท ไม่รวมค่าเสียหายจากการเสียโอกาสและด้านอื่นๆ รวมถึงการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินคิดเป็นกว่า 20,000 ล้านบาท

ผู้ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบตัวจริง จึงควรเป็นตัวผู้ออกคำสั่งให้มีการปิดสนามบินใช่หรือไม่ ซ้ำควรจะให้มีการสอบวินัยเพิ่มว่าการตัดสินใจปิดสนามบินดังกล่าว เป็นความพยายาม “หมกเม็ด” จงใจทำให้ผิดพลาด หรือเพราะขาดความรู้ความชำนาญในการแก้ปัญหาจนไม่สามารถแก้ปัญหาเพื่อลดหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่คุณสุเทพ อัตถากร สรุปว่า เป็นเรื่องน่าละอายที่สุด คือ ความพยายามโยนบาปทั้งหมดไปให้ผู้ชุมนุมแต่ฝ่ายเดียว

ข่าวแท็กซี่ป่วนสุวรรณภูมิ

บทความ ยึดสนามบินไทย ฝรั่งวัฒนธรรมการเมืองที่ต่างกัน โดย สุเทพ อัตถากร
กำลังโหลดความคิดเห็น