xs
xsm
sm
md
lg

ทนายยกสิทธิตาม รธน.เตรียมยื่นคัดค้าน ศาลแพ่งสั่งพันธมิตรฯ พ้นสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวสั่ง 13 แกนนำแนวร่วมพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุมออกจาก “สุวรรณภูมิ” ทันที หลัง ทอท.ขอไต่สวนฉุกเฉินฟ้องขับไล่ที่-เรียกค่าเสียหายกว่า 360 ล้านบาท ด้านทนายกู้ชาติเตรียมยื่นคัดค้านพรุ่งนี้ ระบุเป็นสิทธิตาม รธน.ยกกรณี"ทำเนียบรัฐบาล"เปรียบเทียบ ยันพันธมิตรฯ ไมได้ปิดสนามบิน แต่การท่าฯ ประกาศปิดเอง

วันนี้ (26 พ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวม 13 คน เป็นจำเลย เรื่องละเมิดและขับไล่ สืบเนื่องจากกรณีที่จำเลยทั้ง 13 ในฐานะหัวหน้ากลุ่มพันธมิตรฯ นำกลุ่มมวลชนบุกรุกเข้ามาทำการประท้วงรัฐบาลอยู่ในบริเวณท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยขอให้บังคับจำเลยทั้ง 13 ออกจากบริเวณท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ และจัดทำบริเวณท่าอากาศยานฯ ให้สามารถใช้สอย และใช้ประโยชน์และอยู่ในความควบคุมดูและครอบครองของโจทก์ในสภาพเดิม พร้อมให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 245,790,794.42 บาท และค่าเสียหายรายวันอีก 122,844,913 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง นอกจากนี้ โจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี โดยให้พวกจำเลยออกจากสนามบินสุวรรณภูมิทันที

ทั้งนี้ ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาและมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน โดยศาลออกนั่งบัลลังก์ห้องพิจารณาคดี 310 เพื่อไต่สวนพยานที่โจทก์ขอนำสืบเพียงปากเดียว คือ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเบิกความสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. เวลา 14.00 น.ได้มีกลุ่มบุคคลใช้รถบัส และรถยนต์บุกเข้ามาปิดการจราจรบริเวณทางยกระดับเข้าอาคารผู้โดยสารขาเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นเมื่อมีประชาชนมาสมทบกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ฝ่าแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และใช้กำลังผลักดันบุกเข้าไปทางประตู 2 ของอาคารผู้โดยสารขาออก พร้อมกับส่งเสียงอื้ออึงและใช้เครื่องมือส่งเสียงดังรบกวนผู้โดยสารและเดินกระจายไปทั่วอาคารทำให้ผู้โดยสารหวาดกลัวบางรายถึงขั้นวิ่งหลบหนีออกจากตัวอาคาร เมื่อพยานประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และฝ่ายการเมืองแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่ในตัวอาคารจะทำให้การบริการมีปัญหาอาจเกิดอันตรายกับผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการ จึงประกาศหยุดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารขาออก ในเวลา 21.00 น.ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ในตัวอาคารผู้โดยสารขาออกกว่า 3,000 คน ต่อมา เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 พ.ย.พยานได้มอบให้ผู้แทนเข้าเจรจาแต่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ยื่นข้อเสนอให้ปิดสนามบินสุวรรณภูมิแบบเต็มรูปแบบมิฉะนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พยานจึงต้องประกาศปิดการบริการสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเต็มรูปแบบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการปิดท่าอากาศยานในครั้งนี้ส่งผลกระทบให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเข้าเข้าออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ 1.1 แสนคนต่อวัน เที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกไม่สามารถขึ้นลงได้ 700 เที่ยวต่อวัน ผู้โดยสารตกค้างกว่า 3,000 คน และโจทก์ต้องสุญเสียรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งในการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าอยู่ในความกำกับดูแลของพวกจำเลย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากอาคารท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิโดยทันทีเพื่อให้โจทก์ได้ประกอบกิจการต่อไป

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยทั้ง13ใช้วิธีการประท้วง ขับไล่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยชักนำมวลชนเข้าร่วมชุมนุมที่เป็นการปิดกั้นท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิทั้งภายในและนอกอาคาร เป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง และมาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติอีกว่าการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางจะทำไม่ได้เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์ แม้จำเลยทั้ง 13 และกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ จะมีเสรีภาพในการชุมนุมแต่ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง และจะต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทางตามที่กล่าวมา รวมทั้งสิทธิของโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแลท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถอำนวยการให้บริการแก่ประชาชนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินได้ และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเดินทางไปมาได้ตามปกติ

กรณีมีเหตุฉุกเฉินจึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษามาใช้บังคับ จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 13 ออกไป และนำกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมออกจากบริเวณท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้พนักงาน ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการได้ตามปกติในทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ศาลอ่านคำสั่งแล้วได้ส่งหมายแจ้งให้จำเลยทั้ง 13 คน ประกอบด้วย 1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3.นายพิภพ ธงไชย 4.นายสุริยใส กตะศิลา 5.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 6.นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ 7.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 8.นายอมร อมรรัตนานนท์ 9.นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง 10.นายสำราญ รอดเพชร 11.นายศิริชัย ไม้งาม 12.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ 13.นายเทิดภูมิ ใจดี ปฏิบัติตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามกฎหมายฝ่ายจำเลยยังมีสิทธิยื่นคำคัดค้านต่อศาลแพ่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ รวมทั้งยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หากศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เหมือนเช่นกรณีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียื่นฟ้องขับไล่พันธมิตรฯ

ด้าน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) ทีมทนายความของพันธมิตรฯ จะยื่นคัดค้านคำสั่งศาลแพ่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพันธมิตรฯ สามารถที่จะจัดการชุมนุมได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายแพ่งต้องไม่ใหญ่ไปกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จะคล้ายกับกรณีพันธมิตรฯ เข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งแม้จะถูกศาลแพ่งสั่งให้ออกจากพื้นที่ แต่เมื่อพันธมิตรฯ ยื่นอุทธรณ์ทางศาลก็รับอุทธรณ์

นอกจากนี้ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ยังไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของท่าอากาศยาน เพราะโดยความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ของการท่าฯ รวมถึงผู้โดยสารยังสามารถเข้าออกสนามบินได้ เพราะพันธมิตณฯ ชุมนุมอยู่เฉพาะด้านนอก ไม่ได้เข้าไปชุมนุมด้านใน แต่การท่าอากาศยานฯ กลับประกาศปผิดสนามบินสุวรรณภูมิเสียเอง เหมือนกับเป็นการละทิ้งงาน ไม่มาดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

กำลังโหลดความคิดเห็น